สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อย่าเก็บภาษีแค่เชิงสัญลักษณ์

อย่าเก็บภาษีแค่เชิงสัญลักษณ์
โดย : สุพรรณี พุฒิพิสุทธิ์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




หยุดพักยก ลดกระแสต้านไปชั่วคราว แต่ไม่ได้หมายความว่า จะตอกฝาโลงปิดตาย สำหรับแนวคิดการจัดเก็บภาษี

ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ล่าสุด กระแสข่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปภาษีกระทรวงการคลังที่มี สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จะนัดประชุมในช่วงสัปดาห์หน้า เพื่อเคาะร่างกฎหมายดังกล่าวเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ

กระแสคัดค้านช่วงก่อนหน้านี้ นำมาสู่การปรับปรุงแก้ไข ให้ตรงใจชาวประชามากสุด แม้หน่วยงานผู้ร่างกฎหมายนี้ จะยืนยันว่า การปรับแก้แนวทาง จะไม่เสียหลักของการจัดเก็บแน่นอน แต่ก็ยังเป็นประเด็นที่น่ากังวลว่า ร่างกฎหมายที่จะสรุปออกมานี้ จะเข้าข่าย “ท่าดี ทีเหลว” เหมือนกันกับ ร่างภาษีมรดก ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้ หรือไม่

วัตถุประสงค์หลักของการจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็น และ สร้างรายได้ ทั้งสองร่างนี้ จะเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สิน หรือ บนความมั่งคั่งของผู้มีทรัพย์สินแต่อย่าลืมว่า ผู้ที่มีหน้าที่อนุมัติกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ คือ ผู้ที่มีความมั่งคั่งทางทรัพย์สินกันทั้งสิ้น

ในอดีต เมื่อปี 2476 รัฐบาลเคยจัดเก็บภาษีมรดก แต่ยกเลิกไป เพราะเห็นว่า ยุ่งยาก มีความพยายามหลายยุคสมัยของรัฐบาลที่จะผลักดันให้นำกฎหมายนี้มาปัดฝุ่นใหม่ แต่ไม่สำเร็จ กระทั่งรัฐบาลชุดนี้สามารถผลักดันได้ โดยกฎหมายอยู่ระหว่างรอการประกาศใช้ แต่อัตราและแนวทางจัดเก็บที่ออกมานั้น เป็นไปในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าช่วยสร้างรายได้และเป็นธรรม เรียกได้ว่า ไม่ตั้งใจจะเก็บ ทำให้มุมมองที่ดีต่อท่าทีที่แข็งขันของรัฐบาลในเรื่องดังกล่าวน้อยลง

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายภาษีมรดกเดิมที่กระทรวงการคลังส่งเข้าสู่สภานิติบัญญัติ(สนช.)กำหนดอัตราการจัดเก็บเดียวที่ 10%มูลค่ามรดกที่เข้าข่ายเสียภาษี คือ มูลค่าส่วนที่เกินกว่า 50 ล้านบาท แต่สนช.อนุมัติให้เก็บในอัตรา 5%สำหรับผู้สืบสันดานโดยตรง และ อัตรา 10%หากไม่ใช่ผู้สืบสันดาน ส่วนมูลค่ามรดกที่เข้าข่ายเสียภาษี คือ มูลค่าส่วนที่เกินกว่า 100 ล้านบาท หมายความว่าหากสามารถแบ่งมรดกในมูลค่าที่น้อยกว่ามูลค่าที่กฎหมายกำหนด ก็ไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษี

เหตุที่สนช.ปรับเปลี่ยนทั้งอัตราและมูลค่า เพราะหวั่นจะกระทบต่อผู้ที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว และเชื่อว่า คนที่มีมูลค่ามรดกเกินกว่า 100 ล้านบาท คือ คนที่มีความมั่งคั่งแล้ว แต่ในมุมของรายได้รัฐนั้น การจัดเก็บภาษีมรดกในอัตราดังกล่าว จะถือได้ว่า เป็นแหล่งรายได้ของรัฐที่ควรจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญ กลับมีความสำคัญน้อยมาก โดยจะมีสัดส่วนต่ำกว่า 0.01 ของรายได้ภาษีทั้งหมดของประเทศ

สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ได้มีความพยายามผลักดันแต่ไม่สำเร็จมาหลายยุคสมัยของรัฐบาลเช่นกัน ครั้งนี้ มาลุ้นกันว่า ในรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มนี้ จะผลักดันได้สำเร็จหรือไม่ ระยะแรก เห็นการออกตัวแรงว่า จะเก็บภาษีในอัตราเท่านั้นเท่านี้มีทรัพย์อะไรอยู่ในข่าย และ ได้รับยกเว้นบ้าง แต่เมื่อเกิดกระแสคัดค้าน รัฐบาลกลัวเสียรังวัด ไม่กล้าเดินหน้าเต็มสูบ ประกาศหยุดพักการพิจารณาร่างกฎหมายไปเสียดื้อๆ

กระแสข่าวว่า กระทรวงการคลังจะใช้รูปแบบการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในลักษณะเดียวกันกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ผู้มีทรัพย์สินที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายกำหนด เข้าข่ายเป็นผู้เสียภาษีนี้ เหมือนกันกับ ผู้มีเงินได้ทุกคน ต้องเข้าข่ายเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเก็บแบบอัตราก้าวหน้า หมายความว่า ใครที่มีมูลค่าทรัพย์สินน้อยก็จะเสียภาษีน้อยกว่าผู้ที่มีมูลค่าทรัพย์สินมาก ส่วนรายการยกเว้นนั้น ผู้ร่างกฎหมายบอกว่า จะมีรายการยกเว้นให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดกระแสคัดค้านว่า เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะจากกลุ่มที่ไม่ได้รับการยกเว้น

และเพื่อให้ร่างภาษีดังกล่าวไม่มีกระแสคัดค้านและมีผลบังคับใช้ มีรายงานว่า กระทรวงการคลังหรือรัฐบาลอาจเลือกแนวทาง การจัดเก็บในอัตราต่ำสุด เพื่อให้ทุกคนมีความสามารถที่จะเสียภาษีได้ หากเป็นเช่นนั้นจริง เท่ากับรัฐบาลเสียรังวัดสำ หรับเป้าหมายที่จะทำให้ภาษีดังกล่าว ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้แก่สังคม



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อย่าเก็บภาษี แค่เชิงสัญลักษณ์

view