สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิธีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (1)

วิธีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (1)

โดย :

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ช่วงเวลานับจากนี้ไป เป็นช่วงเวลาของการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี

ซึ่งมีกำหนดเวลา 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี  โดยเฉพาะสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรอบระยะเวลาบัญชีตรง กับปีปฏิทิน วันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการด้วยกระดาษ จะตรงกับวันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม 2558 เนื่องจากตรงกับวันหยุดราชการ จึงเลือนเป็นวันอังคารที่ 2 มิถุนายน 2558 แต่สำหรับท่านที่ยื่นแบบและชำระภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต จะได้รับสิทธิพิเศษให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีออกไปอีก 8 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน 2558 เนื่องจากตรงกับวันหยุดราชการ จึงเลื่อนเป็นวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน 2558 จึงขอนำวิธีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลมาเป็นประเด็นปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้ครับ 

ปุจฉา กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล มีวิธีการเสียภาษีกี่วิธีอะไรบ้าง

วิสัชนา การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลมี 4 วิธี ดังนี้คือ

1. การเสียภาษีโดยถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย
2. การเสียภาษีโดยยื่นรายการประเมินตนเอง (Self-assessment)
3. การเสียภาษีโดยเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บ (Authoritative Assessment)
4. การเสียภาษีเงินได้แทนให้โดยโรงงานยาสูบ

ปุจฉา การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายมีบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากรอย่างไร

วิสัชนา การเสียภาษีโดยถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย มีหลักเกณฑ์ทั่วไปตามประมวลรัษฎากร ดังนี้

1. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย แบ่งเป็น

(1) การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นผู้หักภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ของเงินได้ ในทุกคราวที่จ่ายเงินได้
(2) การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติให้ ผู้จ่ายเงินได้ค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นผู้หักภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ของราคาขาย ในขณะที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
(3) การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 144 (พ.ศ.2522) และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 ซึ่งบัญญัติให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งผู้จ่ายเงินได้ที่ไม่มีหน้าที่ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ และมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร เป็นผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย
(4) การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติให้ ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2)(3)(4)(5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยเป็นผู้หักภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ ณ ที่จ่าย ถือเป็นการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยเสร็จเด็ดขาด ผู้มีเงินได้ไม่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากรอีกจำนวนภาษีเงินได้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย จึงไม่ถือเป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษีตามประมวลรัษฎากร ดังเช่นกรณีอื่นๆ

2. การนำส่งและการยื่นรายการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 52 มาตรา 53 และมาตรา 59 แห่งประมวลรัษฎากร โดยอนุโลม

3. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายถือเป็นส่วนหนึ่งของเงินได้ และถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 69 ทวิ มาตรา 69 ตรี และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร

4. ความรับผิดในจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ของผู้จ่ายเงินได้และผู้มีเงินได้ในฐานะลูกหนี้ร่วม ตามมาตรา 54 แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมทั้งเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร และระวางโทษปรับทางอาญาตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร

5. การขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ ตามมาตรา 27 ตรี และมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในทางภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการออกหนังสือรับรองการ หักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงมักดำเนินการตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62) ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิธีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (1)

view