สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หุ้นเพิ่มทุน IPO, PP และ RO (ตอนที่ 2)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ พินิจ พิเคราะห์ โดย กิติชัย เตชะงามเลิศ

ฉบับที่แล้วผมพูดถึงเรื่องหุ้น IPO กันไปแล้ว คราวนี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่องหุ้น PP (Private Placement) และหุ้น RO (Right Offering) กันครับ จริง ๆ แล้วหุ้นที่บริษัทจดทะเบียนขายหุ้นเพิ่มทุนในลักษณะ PP มีมานานแล้ว แต่มาฮือฮากันมาก ๆ ก็ในช่วงหลัง ๆ นี้ เพราะว่ามีการขายหุ้น PP ให้แก่ผู้ถือหุ้นใหม่ในลักษณะเฉพาะเจาะจงในราคาที่ต่ำกว่าราคาในตลาดเป็นอย่างมาก

จนผมเองก็รู้สึกว่าน่าเกลียดเกินไป สมมุติว่าหุ้นบริษัทหนึ่งราคาตลาดอยู่ที่ 9-10 บาท วันร้ายคืนร้ายประกาศขายหุ้น PP ให้แก่กลุ่มบุคคลในวงจำกัด ราคาหุ้นละ 0.50 บาท อย่างนี้ก็วงแตกสิครับ นักลงทุนรายย่อยที่โชคร้ายถือหุ้นบริษัทนี้อยู่ก็ "หงายเก๋ง" เลย ราคาก็ตกระเนระนาดเป็นแน่ อาจจะลงไปเหลือ 2-3 บาทเลยทีเดียว จากสถิติในปี 2557 พบว่ามีจำนวน 27 บริษัท ที่มีการขายพีพีถึง 49 ครั้ง และมี 13 บริษัทที่เพิ่มทุนเกิน 1 ครั้ง โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 73% ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯเริ่มให้ความสนใจในเรื่องนี้พอสมควร เห็นจากการที่ทำ PUBLIC HEARING เพื่อส่งให้ ก.ล.ต.พิจารณาตัดสิน บจ.

ผมมีความเห็นอยากเสนอว่า บริษัทที่จะออก PP ให้ราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด (โดยใช้ราคาถัวเฉลี่ยย้อนหลัง 1-3 เดือน) เกินกว่า 10% ขึ้นไป บริษัทเหล่านี้ต้องแจ้งเหตุผลและตัวเลขผลประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจากการที่กลุ่มผู้ได้รับสิทธิ์จองซื้อหุ้นPP เข้ามาถือหุ้น ต่อผู้ถือหุ้นตลาดหลักทรัพย์ฯและ ก.ล.ต.

การขายหุ้น PP ให้กับนักลงทุนกลุ่มนี้ และจะต้องมีการว่าจ้างที่ปรึกษาการเงินอิสระให้ความเห็นเกี่ยวกับการเพิ่มทุนครั้งนั้น รวมทั้งกรรมการอิสระทุกท่านต้องส่งความคิดเห็นของตนให้กับผู้ถือหุ้นตลาดหลักทรัพย์ฯและ ก.ล.ต. เพราะว่าชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นกรรมการอิสระ ดังนั้นควรจะให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์สูงสุดกับบริษัท มิใช่กลุ่มผู้ถือหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กรรมการอิสระเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนรายย่อยอยู่แล้ว

ดังนั้นควรจะทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด และควรจะมี Silent Period ในกรณีแบบนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการเทขายทำกำไรหลังจากที่หุ้น PP เหล่านี้เข้าเป็นหุ้นจดทะเบียนในตลาด ซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่นักลงทุนรายย่อยได้เป็นอย่างมาก รวมถึงการกำหนดสัดส่วนของหุ้น PP ว่าไม่ควรจะเกิน 10% ของทุนจดทะเบียนก่อนเพิ่มทุน มิฉะนั้นนอกจาก Dilution Effect ที่จะเกิดขึ้นหลังราคาหุ้น PP ที่ตั้งไว้ราคาต่ำกว่าราคาตลาดมาก ๆ ก็จะกลายเป็นหอกคอยทิ่มแทงนักลงทุนรายย่อยอย่างแสนสาหัส โดยผมขอสรุปไว้เป็นข้อ ๆ ดังนี้ คือ

1.หุ้น PP ที่ออก ถ้าราคาต่ำกว่าราคาตลาดไม่เกิน 10% ขึ้นไป สามารถออกขายได้ไม่เกิน 30% ของทุนจดทะเบียน แต่ถ้าราคาต่ำกว่าราคาตลาดเกิน 10% ขึ้นไป จะไม่สามารถออกขายเกิน 10% ของทุนจดทะเบียนก่อนเพิ่มทุน

2.การออกหุ้น PP ทุกครั้ง ที่มีการขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมากกว่า 10% กรรมการอิสระทุกท่านต้องส่งความเห็นไปยังผู้ถือหุ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. รวมทั้งบริษัทต้องว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมาวิเคราะห์และส่งความเห็นให้กับผู้ถือหุ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต.ล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ก่อนที่จะมีการขาย PP ครั้งนั้น ๆ

3.ผู้บริหารของบริษัทที่จะขาย PP ที่ราคาต่ำกว่าราคาตลาดมากกว่า 10% จะต้องชี้แจงเหตุผลและตัวเลขผลประโยชน์ซึ่งบริษัทคาดว่าจะได้รับ จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเฉพาะเจาะจงที่จะได้รับการจัดสรรหุ้น PP ครั้งนั้น ๆ

4.กำหนด Silent Period ดังนี้ กรณีที่ 1.ราคาหุ้น PP ต่ำกว่าราคาตลาดน้อยกว่า 10% ไม่มี Silent Period กรณีที่ 2.ราคาหุ้น PP ต่ำกว่าราคาตลาดมากกว่า 10% แต่ไม่เกิน 30% ให้มี Silent Period ไม่ต่ำกว่า 3 เดือน กรณีที่ 3.ราคาหุ้น PP ต่ำกว่าราคาตลาดมากกว่า 30% แต่ไม่เกิน 50% ให้มี Silent Period ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และกรณีที่ 4.ราคาหุ้น PP ต่ำกว่าราคาตลาดมากกว่า 50% ขึ้นไป ให้มี Silent ไม่ต่ำกว่า 12 เดือน

เพราะว่าถ้ากลุ่มผู้ถือหุ้นเฉพาะเจาะจงที่ได้รับการจัดสรร PP ในราคาต่ำ ๆ นั่นหมายถึง บริษัทมองแล้วว่าผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่นี้ น่าจะยังประโยชน์ให้กับบริษัทได้เป็นอย่างดี ก็จะส่งผลให้กับบริษัทได้มีกำไรมากขึ้น ราคาหุ้นก็จะสูงขึ้นตามผลประกอบการที่ดีขึ้น กลุ่มผู้จองหุ้น PP ก็จะขายได้กำไรดีขึ้นในระยะยาวไปด้วย อย่างนี้สิถึงจะเป็น Win Win Win ถึงได้ประโยชน์ทั้งบริษัท กลุ่มผู้จองหุ้น PP และผู้ถือหุ้นรายย่อย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หุ้นเพิ่มทุน IPO  PP และ RO (ตอนที่ 2)

view