จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ พินิจ พิเคราะห์ โดย กิติชัย เตชะงามเลิศ
บทความที่แล้ว ผมได้พูดถึงเรื่อง IPO และ PP ไปแล้ว คราวนี้เรามาคุยกันต่อในเรื่อง RO หรือ Right Offering ซึ่งก็คือ การที่บริษัทจดทะเบียนออกหุ้นใหม่เพิ่มทุน หรือขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม ในกรณีที่บริษัทต้องการใช้เงินในช่วงระยะ 2-3 เดือน การระดมทุนโดยวิธี RO ก็เป็นวิธีที่นิยมทำกัน
แต่กรณีที่บริษัทมีโครงการจะใช้เงินอีก 2-5 ปีข้างหน้า การออกเป็น Warrant(วอร์แรนต์) เพื่อรองรับโครงการในอนาคตดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่เหมาะสม เนื่องจากบริษัทยังไม่จำเป็นต้องใช้เงินทันที การไปรบกวนผู้ถือหุ้นบ่อย ๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะกระทำ โดยวอร์แรนต์ที่ออกจะมีการกำหนดอายุ ราคาที่แปลงสภาพโดยส่วนใหญ่ "วอร์แรนต์" จะมีอายุ 2-5 ปี วอร์แรนต์บางตัวอาจจะแปลงสภาพได้ปีละ 4 ครั้ง บางตัวอาจจะปีละ 2 ครั้งเป็นต้น การที่มีสิทธิ์แปลงสภาพได้บ่อย ทำให้ผู้ถือวอร์แรนต์มีโอกาสเลือกว่าจะถือเป็นวอร์แรนต์ หรือจะแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ โดยดูจากภาวะราคาตลาดของตัววอร์แรนต์เอง และราคาหุ้นสามัญซึ่งนักลงทุนหลายรายจะเรียกว่าหุ้นแม่ ว่าวอร์แรนต์นั้น ๆ "In The Money" หรือ "Out Of The Money"
ผู้อ่านบางท่านอาจจะไม่คุ้นเคยกับศัพท์ 2 คำนี้ ผมขออนุญาตขยายความให้ฟัง ดังนี้ครับ
1) In The Money คือ ภาวะที่วอร์แรนต์ตัวนั้น ๆ เมื่อนำไปบวกกับราคาแปลงสภาพ โดยคำนึงถึงสัดส่วนที่ต้องใช้ในการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญแล้ว ต้นทุนถูกกว่าราคาตลาด เช่น วอร์แรนต์บางตัวอาจจะ 1 วอร์แรนต์ สามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้ 2 หุ้น ที่ราคาหุ้นละ 5 บาท หรือเขียนได้ดังนี้ 1W : 2C @ 5 บาท (W คือ Warrant และ C คือ Common Stock หรือหุ้นสามัญนั่นเอง) ถ้าราคาวอร์แรนต์อยู่ที่ราคา 2 บาท และราคาหุ้นสามัญอยู่ที่ราคา 6.50 บาท
เรามาคำนวณต้นทุนของการแปลงสภาพครั้งนี้กันครับ สมมติว่า นาย ก ซื้อวอร์แรนต์มา 100 หน่วย ต้นทุนหน่วยละ 2 บาท และต้องการแปลงสภาพทั้งหมดเป็นหุ้นสามัญ ต้นทุนทั้งหมดจะเท่ากับ (2 บาท x 100 หน่วย) + (100 หน่วย x 2 หุ้น x 5 บาท) รวมเท่ากับ 1,200 บาท ได้เป็นหุ้นสามัญ 200 หุ้น ดังนั้นหุ้นสามัญที่ได้จากการแปลงสภาพจะมีต้นทุนตกหุ้นละ 6 บาท ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่ 6.50 บาทต่อหุ้น และราคาวอร์แรนต์ตัวนี้ที่ 2 บาท ถือว่า In The Money นักลงทุนสามารถซื้อวอร์แรนต์แล้วทำการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้ หรือนักลงทุนที่มีหุ้นสามัญอยู่ ก็อาจจะตัดสินใจขายหุ้นสามัญที่ถืออยู่ แล้วนำเงินมาซื้อวอร์แรนต์แล้วนำไปแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญแทน ก็จะได้กำไร 100 บาทจากการทำเช่นนี้ ซึ่งเรียกว่าการทำ Arbitrage
อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงเรื่องการจ่ายเงินปันผล ซึ่งปกติถ้าเป็นการจ่ายปันผล ราคาหุ้นสามัญอาจจะลดลงหลังตลาดขึ้นเครื่องหมาย XD (ไม่มีสิทธิ์รับเงินปันผล) แล้วถ้าช่วงที่แปลงสภาพเป็นช่วงที่ใกล้ XD หุ้นสามัญที่ได้จากการแปลงสภาพเข้าตลาดหลัง XD ก็จะทำให้ราคาหุ้นลดลง ดังนั้นช่วงที่จะแปลงสภาพ อาจจะต้องดูประวัติย้อนหลังของบริษัทดังกล่าว ว่ามีพฤติกรรมการจ่ายปันผลช่วงเดือนไหนของทุกปี และ Payout Ratio และ Dividend Yield ส่วนใหญ่จะอยู่ที่อัตราเท่าไหร่ เพื่อที่นักลงทุนจะได้คาดการณ์จำนวนเงินปันผลที่บริษัทจะจ่ายโดยคำนึงถึง Ratio 2 ตัวข้างต้นดังกล่าว และกำไรต่อหุ้นของบริษัทที่คาดว่าจะทำได้
2) Out Of The Money คือภาวะที่วอร์แรนต์ตัวนั้น ๆ เมื่อนำไปบวกกับราคาแปลงสภาพและคำนวณตามสัดส่วนที่ต้องใช้ในการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญแล้ว มีต้นทุนสูงกว่าราคาตลาดของหุ้นสามัญตัวนั้น ๆ แต่มีหลาย ๆ ครั้งที่นักลงทุนจะพบว่า วอร์แรนต์นับสิบ ๆ ตัวที่ Out Of The Money แต่ก็ยังมีคนซื้อ สาเหตุส่วนหนึ่งอาจจะเป็นการเก็งกำไร โดยเฉพาะวอร์แรนต์ที่มีราคาต่ำ แต่ต้องใช้เงินแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญในจำนวนเงินที่มาก ทำให้นักลงทุนบางกลุ่มเลือกที่จะซื้อวอร์แรนต์ เพื่อเก็บเงินสดไว้ลงทุนในบริษัทอื่น ดังนั้นการคำนึงถึงมูลค่าของเวลา โดยเฉพาะวอร์แรนต์ที่มีอายุเหลืออยู่ยิ่งนาน โอกาสที่จะมี Out Of The Money จะยิ่งสูง โดยเฉพาะนักลงทุนหลายท่านก็อาจจะอาศัย Black-Scholes Model ช่วยประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยส่วนตัวผมมักจะนิยมลงทุนใน Warrant ที่ In The Money มากกว่า
ในช่วงที่ผ่านมา มีการปรับคาดการณ์เติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) และยอดส่งออกจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชนลดลง ผลประกอบการงวดครึ่งปี"58 ที่กำลังจะประกาศออกมาซึ่งอาจจะแย่กว่าที่คาดการณ์กันไว้ บวกกับข่าวร้ายทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 88% ภาวะแล้งขาดน้ำ
ถึงแม้ปัจจุบันรายได้จากภาคเกษตรไม่ได้มีสัดส่วนที่สูงมากเหมือนสมัยก่อน แต่ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีจำนวนมาก การจับจ่ายใช้สอยในประเทศย่อมต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วย นี่ยังไม่นับรวมการส่งผลให้ภาวะหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นอีก และการเลื่อนโครงการรถไฟฟ้า 4 เส้นทางไปปีหน้า คงทำให้นักวิเคราะห์ Downgrade กำไรของบริษัทจดทะเบียนลงอีก แล้ว "เก็บเงิน" ใส่กระเป๋ากันไว้ก่อนนะครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน