จากประชาชาติธุรกิจ
เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกสูงถึง 70% ของจีดีพี ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าใน 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556 และ 2557) กลับติดลบต่อเนื่องในระดับ -0.2% และ -0.3% รวมถึง 6 เดือนแรกของปี 2558 กระทรวงพาณิชย์รายงานล่าสุดระบุว่า -4.84% ตอกย้ำสถานการณ์เชิงลบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2558 ยิ่งขึ้น
แม้ส่งออกหดตัวต่อเนื่องจะมีสาเหตุทั้งจากปัญหาด้านโครงสร้างการผลิตสินค้า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัว และความสามารถในการแข่งขันด้านราคาหรืออัตราแลกเปลี่ยน แต่ทุกครั้งที่ส่งออกมีปัญหา เสียงเรียกร้องจากภาคธุรกิจให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาดูแลค่าบาท ผ่านการลดดอกเบี้ยนโยบายก็มักจะดังขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เหตุจาก ธปท.มีอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดูแลนโยบายการเงิน และนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ธปท. ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ดำเนินนโยบายการเงิน และปัจจุบันปรับเป็น Flexible Inflation Targeting หรือกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อยืดหยุ่นก็ตาม
ดังนั้น การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงยึดโยงกับอัตราเงินเฟ้อตามกรอบที่วางไว้มากกว่าความเคลื่อนไหวของค่าเงิน
15 ปีที่ผ่านที่ผ่านมา มีข้อเสนอจากนักเศรษฐศาสตร์อีกฟากแนะนำให้ ธปท. พิจารณาใช้กรอบอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Targeting) ดำเนินนโยบายการเงิน เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงกับการส่งออกและความเคลื่อนไหวของราคา สินค้าไทยขึ้นลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกดังนั้นในเวลาที่ภาคส่งออกมีน้ำหนัก มากถึง 70% ของจีดีพี การให้น้ำหนักกับการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนจึงมีผลต่อแนวนโยบายการเงินของไทย เพิ่มขึ้น
ขณะที่ในแง่หน่วยงานผู้ดูแลนโยบายการเงิน แหล่งข่าวจาก ธปท. ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา ธปท.เคยมีการศึกษาเรื่องการทำนโยบายการเงินตามแนวทางของสิงคโปร์ หรือการใช้กรอบอัตราแลกเปลี่ยนดูแลเงินเฟ้อและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งแนวทางนี้ ธปท.ได้ศึกษาและติดตามดูเป็นระยะ ๆ ว่าจะเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ แต่อีกด้านก็ต้องเข้าใจว่า การใช้นโยบายกรอบอัตราแลกเปลี่ยนกับประเทศไทย จะมีข้อจำกัดบางด้าน เช่น พื้นฐานเศรษฐกิจไทยกับสิงคโปร์ที่แตกต่างกัน โดยสิงคโปร์มีการค้าขายมาก การใช้กรอบอัตราแลกเปลี่ยนจึงเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม เขาชี้ประเด็นว่า หากจะปรับใช้นโยบายการเงินแบบกรอบอัตราแลกเปลี่ยนนำนั้น จำเป็นต้องดูหลายด้าน เช่น ขนาดของเศรษฐกิจกับสัดส่วนการส่งออก ซึ่งเวลานี้ส่งออกไทยไม่ได้เติบโตมาก ส่วนจีดีพีก็ไม่ได้ขยายตัวมาก อีกด้านคือดูความเสี่ยง เพราะการใช้อัตราแลกเปลี่ยนย่อมมีความเสี่ยงเรื่องเก็งกำไรค่าเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยยังหวาดผวากลัวซ้ำรอยปี 2540 ซึ่งวิกฤตอย่างนี้สิงคโปร์ยังไม่เคยมี รวมถึงประเด็นเศรษฐกิจการเมืองซึ่งสิงคโปร์ใช้นโยบายการเงินดูแลเงินเฟ้อเป็นหลัก ส่วนการเติบโตเป็นรอง ส่วนประเทศไทยดูการเติบโตก่อน เงินเฟ้อรอง
"เครื่องมือเดียวกัน ถ้านำไปใช้ด้วยวัตถุประสงค์ต่างกัน อาจเป็นความเสี่ยงทั้งต่อเสถียรภาพการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้" แหล่งข่าวกล่าว
ส่วนมุมมองของ "อุสรา วิไลพิชญ์" นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ไทย กล่าวว่า หากไทยจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินก็น่าห่วงเพราะจะมีความเสี่ยงในเรื่องต้นทุน ความสามารถควบคุมสถานการณ์ หากผู้เล่นในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเดาทางออกว่าไทยสนใจหรือให้ความสำคัญกับอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น
ดัง นั้น แนวทางที่ดีที่สุดสำหรับเศรษฐกิจไทยน่าจะเป็นการปล่อยให้เงินบาทเคลื่อนไหว ตามปัจจัยพื้นฐาน ตามกลไกตลาด อย่าทำให้เราเป็นจุดเด่น เพราะอนาคตหากเงินบาทอ่อนค่ามากขึ้นก็น่าจะเกิดจากมีการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มขึ้นเพื่อมารองรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานซึ่งบาทก็จะอ่อนเองโดยไม่ ต้องไปกระตุ้น
"การลดดอกเบี้ยใน 2 ครั้งล่าสุดเป็นสัญญาณทำให้เงินบาทอ่อนค่าไปมากกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว เพราะถ้ามีเหตุการณ์ปกติ ไม่มีทางที่เงินบาทจะหลุดไปถึง 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง เงินบาทไม่น่าจะอ่อนเร็วมาก ดังนั้นหากไม่ปล่อยให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดก็อาจมีคนเข้ามาใช้จังหวะนี้เก็งกำไรเงินบาทได้" อุสรากล่าว
พร้อมกับประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่การประชุม กนง.วันที่ 5 ส.ค.นี้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีกครั้งจากปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% โดยตลาดก็ตีความไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ธปท.จะดำเนินนโยบายการเงิน
แบบผ่อนปรนมากขึ้น
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน