จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ โพสต์ทูเดย์
พฤติกรรมการก้มหน้าก้มตาอยู่กับสมาร์ทโฟนไม่สนใจคนรอบข้างกำลังกลายเป็น “ความปกติ” ของสังคมโลกบนท้องถนนหรือบนระบบขนส่งสาธารณะไปแล้วในวันนี้ ผู้ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนทั่วโลกกำลังสร้างกฎใหม่ขึ้นบนทางเดินเท้า จนกลายเป็นเรื่องคุ้นชินไป
แต่ทว่าในอีกด้านหนึ่ง ก็เริ่มเกิดเสียงถึงความเป็นห่วงต่อขอบเขตของการใช้สมาร์ทโฟนในหลายๆ สถานที่ และหลายๆ โอกาสที่ผู้ใช้ควรจะคำนึงถึงคนรอบข้างบ้าง ไม่ว่าจะเป็นบนโต๊ะอาหาร หรือในโบสถ์
จากผลสำรวจล่าสุดของศูนย์วิจัยพิว พบว่า ชาวอเมริกัน 77% รู้สึกว่าเป็นเรื่องโอเค ยอมรับได้ ถ้าคุณจะเดินไปด้วยมองสมาร์ทโฟนไปด้วย และอีก 3 ใน 4 ก็บอกว่าไม่เป็นไรถ้าจะใช้ก้มหน้าก้มตาอยู่กับสมาร์ทโฟนขณะเดินทางอยู่บนรถเมล์ หรือรถไฟใต้ดิน หรือขณะเข้าคิวซื้อของ
แต่ทว่า มีถึง 88% บอกว่า ยอมรับไม่ได้ และเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง ถ้าจะใช้สมาร์ทโฟนบนโต๊ะอาหาร ในที่ประชุม ในโรงหนัง หรือในสถานที่ทางศาสนา
แต่กระนั้น ในความเป็นจริงก็ใช่ว่าคนที่ตอบแบบสอบถามจะทำได้อย่างที่บอก เพราะว่ามีถึง 89% ที่ยอมรับว่ายังคงติดโทรศัพท์งอมแงมขณะที่เข้าร่วมงานทางสังคม โดย 61% ยอมรับว่ากำลังส่งข้อความหรืออีเมล 58% กำลังถ่ายภาพหรือวิดีโอ 52% รับโทรศัพท์ และอีก 25% กำลังท่องอินเทอร์เน็ตอยู่
ในขณะนี้คำว่า “มารยาท” กำลังกลายมาเป็นปัญหาท้าทายสำหรับชาวโลกมากขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่ติดสมาร์ทโฟนอย่างรุนแรงและตลอดเวลา
“พวกเขามักจะสแตนบายอยู่กับสมาร์ทโฟน และหลายครั้งก็จะให้ความสนใจไปกับสมาร์ทโฟนแม้ว่าจะกำลังสนทนากับผู้อื่นหรือกำลังมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่ก็ตามที เรามาถึงจุดที่ข้อมูลต่างๆ สามารถมาถึงตัวเราได้กับโทรศัพท์มือถือแล้ว”ลี เรนนี ผู้อำนวยการด้านอินเทอร์เน็ตรีเสิร์ชของพิวกล่าว
ประเด็นเหล่านี้กำลังกลายเป็นผลกระทบทางสังคมที่คนค่อนข้างรุนแรงทีเดียว ไม่ใช่เป็นปัญหาเล็กๆ เพราะว่าพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนกำลังส่งผลกระทบต่อปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ และกำลังกระทบต่อลักษณะของสาธารณชนเข้าแล้ว
ที่สำคัญนั้น หลายพฤติกรรมในอดีตที่คนเคยบอกว่าเป็นเรื่อง “ไร้มารยาท และหยาบคาย” กับการใช้โทรศัพท์ระหว่างการเข้าร่วมสังคมนั้น แต่ในวันนี้เรื่องไร้มารยาทเหล่านั้นกำลังกลับกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ไปในสังคมทั่วไปเสียแล้ว
จากผลสำรวจยังพบด้วยว่า ผู้ใช้โทรศัพท์ 2 ใน 3 นั้นบ่อยครั้งที่ใช้โทรศัพท์เพื่อหาข้อมูลว่าจะทำอะไรดี หรือจะไปถึงจุดหมายได้อย่างไร และอีก 70% กำลังมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นผ่านทางสมาร์ทโฟน แทนที่จะคุยกับคนรอบข้าง
และที่หนักไปกว่านั้นก็คือ 23% ของผู้ใช้บอกว่า ใช้สมาร์ทโฟนเพราะไม่อยากจะคุยกับคนอื่นๆ และคนรอบข้างเสียด้วย!
โดยกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมไม่แคร์คนรอบข้างมากที่สุดก็คือคนที่มีอายุระหว่าง 18-29 ปี โดย 90% ของคนกลุ่มนี้ บอกว่าใช้โทรศัพท์บนระบบขนส่งสาธารณะเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ขณะที่กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 65 ปีขึ้นไปมีเพียง 54% เท่านั้นที่ยอมรับ และกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 18-29 ปี เป็นกลุ่มที่ใช้โทรศัพท์มือถือในที่สาธารณะมากที่สุด
เรนนี ชี้ว่า กระนั้นก็ตาม ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ทุกระดับอายุก็มักจะมีทิศทางของพฤติกรรมคล้ายๆ กันว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับการใช้สมาร์ทโฟนในที่สาธารณะก็ตาม ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยอมรับกันอยู่แล้ว แต่ควรจะใช้แบบเงียบๆ มากกว่า
และการเดินไป ก้มหน้าก้มตากับสมาร์ทโฟนโดยไม่สนใจโลกก็จะกลายเป็นเรื่องเคยชินไปด้วยในที่สุด...!
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน