สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ชี้ปรับ 3 ด้านรับ บริบทใหม่ศก.โลก-ไทย

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ" ชี้ปรับ 3 ด้านรับ "บริบทใหม่ศก.โลก-ไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการประจำปี ธปท. พ.ศ. 2558 ระหว่างวันที่ 17-18 ก.ย. ในหัวข้อ "เศรษฐกิจไทยกับบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ”ว่า ในปีที่ผ่านบริบทเศรษฐกิจการเงินโลกและเศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน หรือกล่าวว่าเป็น "New Normal" หรือ "บรรทัดฐานใหม่" ที่จะกระทบต่อไทยอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ไม่ว่าจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ด้านการค้าระหว่างประเทศ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่งผลต่อภาคส่งออกของไทย บรรทัดฐานใหม่ด้านอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ทั้งในและต่างประเทศ จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง ซึ่งมีผลต่อการตั้งราคาสินค้าและบริการของภาคธุรกิจ บรรทัดฐานใหม่จากระบบการเงินโลกที่เชื่อมโยงมากขึ้น ส่งผลต่อตลาดเงินและตลาดทุนของแต่ละประเทศให้ผันผวนบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น และบรรทัดฐานใหม่ที่เกี่ยวกับโครงสร้างประชากร จากสัดส่วนผู้สูงอายุที่มากขึ้น ส่งผลต่อกำลังแรงงานกำลังการผลิตค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณ และความยั่งยืนทางการคลัง

ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นความท้าทายในมิติต่าง ๆ ที่กระทบต่อทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจและสังคม และการก้าวสู่บรรทัดใหม่หรือบริบทใหม่นี้ มี 3 ประเด็นที่ควรตระหนัก

หนึ่ง บริบทใหม่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและนโยบายเชิงรุกที่จะนำพา เศรษฐกิจให้ผ่านการเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลยั่งยืนยาวนานจากปัจจัยเชิงโครง สร้างจาก "ตัวแปรเชิงลึก" ในระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง แรงงาน ทุน เทคโนโลยี ไปได้

"แรงงาน" เวลานี้กำลังแรงงานขยายตัวช้าลงหรือหดตัว ตามอัตราการเกิดที่ลดลงและอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น "ทุน" การสะสมทุนน้อยลง เป็นผลจากความกังวลต่อความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจที่สูงขึ้น "เทคโนโลยี" มีการพัฒนาที่ช้าลง สะท้อนขีดจำกัดต่อการพัฒนานวัตกรรม และทั้งหมดนี้ส่งผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศให้ลดลงเมื่อ เทียบกับอดีต สะท้อนการเปลี่ยนแปลงผ่าน "ตัวแปรเชิงลึก" ในแง่อัตราการเกิดที่ลดลง อายุขัยแรงงานเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้น และอัตราการขยายตัวทางเทคโนโลยีชะลอลง

ในระดับโลก การค้าโลกมีแนวโน้มชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนการอิ่มตัวของการขยายฐานการผลิตผ่านห่วงโซ่อุปทานโลกและบทบาทของจีนในการผลักดันการค้าระหว่างประเทศที่ลดลง ส่วนการรวมตัวทางการเงินระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น ในแง่หนึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและสภาพคล่องตลาดการเงิน เป็นช่องทางกระจายความเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นช่องทางการส่งผ่านแรงกระแทก หรือ Shock ต่าง ๆ จากตลาดเงินโลก ซึ่งยิ่งเพิ่มความผันผวนมากขึ้น

สำหรับนโยบายการเงิน ระดับอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการในหลายประเทศ สะท้อนการยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของประชาชนดีขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน การดำเนินนโยบายการเงินก็เป็นต้นตอของความไม่แน่นอน

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ นโยบายภาครัฐมีบทบาทสำคัญ ผ่านมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะปานกลางที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลง และมาตรการเชิงรุกที่จะสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาว เช่น กรณีการเชื่อมโยงของตลาดเงินที่สูงขึ้น อาจมีมาตรการรับมือ ด้วยการประยุกต์เครื่องมือนโยบายการเงินให้เหมาะสมไม่ว่าจะเป็น อัตราดอกเบี้ย การบริหารความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนเงินทุนเคลื่อนย้าย การใช้มาตรการ macro-prudential (กำกับสถาบันการเงิน) ส่วนมาตรการเชิงรุก เช่น การมีกรอบนโยบายการเงินและดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ยืดหยุ่น เพื่อลดความผันผวนจากระบบการเงินไปยังภาคเศรษฐกิจจริงและสามารถต้านทานภาวะวิกฤตได้

สอง จำเป็นต้องมีนโยบายเชิงรุกที่มุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น การรับมือกับการส่งออกที่ชะลอตัวลง ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภายนอกจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้า โลก ซึ่งอยู่ "นอกเหนือการควบคุม" แต่อีกส่วนหนึ่งสะท้อนปัจจัยเชิงโครงสร้างในประเทศที่ "อยู่ภายใต้การควบคุม" ดังนั้นการปฏิรูปเชิงรุกจึงมุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่อยู่ภายใต้การควบคุม เช่น การเลือกเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลกที่เหมาะสม

โดยกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ กิจกรรมก่อนการผลิต เช่น การวิจัยและพัฒนา การออกแบบ ที่ใช้เทคโนโลยีและทักษะแรงงานสูง กิจกรรมการผลิต ที่ใช้ทักษะแรงงานพื้นฐานเป็นหลัก และกิจกรรมหลังการผลิต เช่น การค้า การตลาด การให้บริการหลังการขาย ซึ่งกิจกรรมก่อนและหลังการผลิตเป็นกิจกรรมที่ให้มูลค่าเพิ่มสูง ส่วนกิจกรรมการผลิตให้มูลค่าเพิ่มต่ำ และกิจกรรมที่เกิดขึ้นประเทศไทยส่วนใหญ่เป็น "กิจกรรมการผลิต" ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการอานิสงค์ที่ดีขึ้นจากการค้าโลก ก็ต้องผันตัวมาอยู่ในตำแหน่งที่สามารถมีมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่การผลิต

"แต่การก้าวสู่ New Normal ที่ ดีกว่า จะเน้นเพียงการปฏิรูปภาคส่งออก ก็ถือว่าตีโจทย์ไม่แตก แต่เราต้องปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการ ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งนอกเหนือการพัฒนาขีดความสามารถในการเพิ่มผลิตภาพอย่างต่อเนื่องของภาค ธุรกิจแล้ว บทบาทการบริหารกิจการภาครัฐก็เป็นกุญแจดอกสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้"

จึงเข้าสู่ประเด็นสำคัญเรื่องที่สาม คือ ประสิทธิภาพของภาครัฐที่มีความสำคัญกำหนดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านการวางกรอบ กติกา รักษากฎที่เป็นทั้งขอบเขตและแรงจูงใจสำหรับภาคเอกชนให้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภาครัฐควรทำหน้าที่ส่งเสริมโอกาสที่ประชาชนจะสามารถบรรลุความสำเร็จได้ตามสมรรถนะของตน โดยมีระบบช่วยลดความเสี่ยงของความล้มเหลว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ผู้คนในประเทศกล้าจะทดลองสิ่งใหม่และสร้างนวัตกรรม

ส่วนกรณีประเทศไทย สิ่งที่ต้องเร่งพัฒนาคือประสิทธิภาพของภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันเริ่มต้นที่การทำงานของรัฐวิสาหกิจ ที่มีการถือครองสินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจึงเป็นสิ่งจำเป็น เร่งด่วน และจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรเชิงลึกของระบบเศรษฐกิจ ที่จะสามารถยกระดับเศรษฐกิจประเทศไทยให้ก้าวหน้าได้


แนะกลยุทธ์การผลักดันไทยให้ก้าวไปสู่ประเทศผู้มีรายได้สูงในอีก 10 ปี

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ผู้ว่าฯ ธปท. เชื่อหากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบต่อไทยอยู่ในวงจำกัด ชี้ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงเพียงพอชำระหนี้ต่างประเทศได้ พร้อมระบุแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 พุ่งเป้าให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอีก 10 ทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดัน แม้จะทำได้ยากหากวัดด้วยรายได้ประชากร เพราะการจะเป็นประเทศผู้มีรายได้สูงต้องมีรายได้เกิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
       
       นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยผลกระทบต่อไทยอยู่ในวงจำกัด เพราะปัจจุบันทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยสูงถึง 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศที่มีอยู่ 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างชาติไม่มาก เพราะต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตร ธปท.ร้อยละ 8 นักลงทุนต่างชาติลงทุนหุ้นไทยร้อยละ 30 และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนระยะยาว นอกจากนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่งและมีทุนสำรอง มากพอที่จะสามารถชำระหนี้ได้ไม่มีปัญหา
       
       นายประสาร กล่าวด้วยว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.5 นั้น เนื่องจากขณะนี้มีความไม่แน่นอนในตลาดการเงินมาก การดำเนินนโยบายการเงินจึงควรคำนึงถึงเสถียรภาพ จึงไม่อยากให้เกิดความไม่แน่นอนในตลาดการเงินอีก และขณะนี้ทั้งอัตราดอกเบี้ย และค่าเงินบาทก็อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และสอดคล้องต่อสกุลเงินในภูมิภาค เคลื่อนไหวระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับเงินสกุลประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งถือว่ามีเสถียรภาพดี และผันผวนน้อย
       
       ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวถึงเป้าหมายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอีก 10 ปีข้างหน้า ถือเป็นเป้าหมายที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดัน แม้อาจจะยาก เพราะหากวัดด้วยรายได้ประชากร การจะเป็นประเทศผู้มีรายได้สูงต้องมีรายได้เกิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ปัจจุบันคนไทยมีรายได้ 5,000-6,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ดังนั้น ระยะห่างยากพอควรคงต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 5 ปีขึ้นไป แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาปัญหาผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะมีผลบวกระยะสั้นมากกว่า โดยจะเห็นผลประมาณต้นปีหน้า ส่วนจะมีผลต่อจีดีพีมากน้อยเท่าใดนั้นยังต้องประเมินต่อไป
       
       ผู้ว่าฯ ธปท. ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลยืดเวลาการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญออกไป ทำให้ไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้นั้น มองว่า ทั้งนักลงทุนต่างชาติ และคนไทยห่วงเรื่องความต่อเนื่องทางการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาลต่างประเทศที่คุ้นเคยต่อการเมืองแบบมีผู้แทนราษฎร ซึ่งตอนนี้การเมืองประเทศไทยยังไม่ได้กลับสู่ภาวะปกติ ดังนั้น นักลงทุนต่างชาติจึงยังไม่ได้ฟันธงเรื่องการตัดสินใจลงทุนในไทย จึงต้องถามคนไทยว่าเราอยากได้อะไร อยากได้การเมืองในลักษณะไหน ซึ่งต้องตกลงกติกากันให้ได้ก่อน
       
       นายประสาร กล่าวเปิดการสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2558 เรื่อง “เศรษฐกิจไทยกับบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ” โดยระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเงินโลก ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือต่อการส่งออกที่ขยายตัวลดลงด้วยการปรับ โครงสร้างการส่งออก เน้นการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
       
       นอกจากนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งพัฒนาการทำงานของรัฐวิสาหกิจที่มีขนาดใหญ่ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบขนส่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมา การทำงานของรัฐวิสาหกิจค่อนข้างมีปัญหาถูกแทรกแซงจากการเมือง และประสบภาวะขาดทุน จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ใน อนาคต


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ปรับ 3 ด้าน รับบริบทใหม่ ศก.โลก-ไทย

view