สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จดหมายจาก ธานินทร์ ขอบรรจุญัตติในรัฐธรรมนูญ

จากประชาชาติธุรกิจ

เมื่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 39/1 กำหนดว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) รับฟังความคิดเห็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประชาชน

"มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธาน กรธ. และคณะ 20 อรหันต์ จึงประกาศรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย เพื่อมาเป็นสารตั้งต้นในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20

เมื่อครั้ง บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็เปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกกลุ่ม แทบทุกขั้วการเมือง องค์กรอิสระ และภาคประชาชน เช่นเดียวกัน รวมถึงต้องฟังเสียงและข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้วย

กลับปรากฏว่ามีหลายข้อเสนอที่บวรศักดิ์และอรหันต์อีก 35 คน ไม่ได้เขียนรัฐธรรมนูญไปตามที่เสนอ



ผิดแผกกับข้อเสนอของคนสำคัญที่มิได้ส่งไปถึงตัวบวรศักดิ์โดยตรง แต่ส่งผ่านมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ข้อเสนอดังกล่าวเป็นของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ทำจดหมายเรียบเรียงอย่างดี ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2558 คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในหมวดที่แก้ไขหลักการเกี่ยวกับศาลยุติธรรม


ครั้งนั้นประเด็นที่นายธานินทร์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญของ "บวรศักดิ์และคณะ" มี 2 ประเด็นสำคัญ

1.ความไม่ชัดเจนในความหมายของคำว่า "ความยุติธรรม" ซึ่งอาจตีความได้อย่างกว้างขวาง เพราะเป็นได้ทั้งความยุติธรรมในสังคม ความยุติธรรมในทางเศรษฐกิจ และความยุติธรรมในทางอรรถคดี ไม่อาจตีความถึงขอบเขตที่ชัดแจ้งได้ว่ามีความหมายเพียงใด ทำให้เกิดความเคลือบคลุม ไม่ชัดเจน จึงเสนอให้บัญญัติว่า "ความยุติธรรม" ที่ศาลต้องยึดถือในการดำเนินคดีความทั้งปวง ให้หมายเฉพาะ "ความยุติธรรมในทางอรรถคดี" ที่ศาลต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาเป็นรายคดีไปเท่านั้น

2.การกำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการ และไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เป็นคณะกรรมการซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลในจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการซึ่งเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลนั้น เป็นการเปิดช่องให้บุคคลภายนอกแทรกแซงการบริหารงานของศาล

ในท้ายที่สุด กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องปฏิบัติตามทั้ง 2 ข้อ

และครั้งนี้เมื่อการยกร่างรัฐธรรมนูญมาอยู่ในมือ "มีชัย" และคณะอีก 20 คน นายธานินทร์ก็ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์อีกครั้ง ลงวันที่ 15 ตุลาคม

ระบุถึงสาเหตุที่ทำให้การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นไม่มีประสิทธิภาพ เพราะได้ให้โอกาสกับนักการเมืองที่เคยกระทำความผิดในตำแหน่งกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งหลังพ้นกำหนด 5 ปี

โดยไม่ควรให้โอกาสคนเหล่านี้กลับมากระทำผิดอีก ไม่ว่าจะเคยประกอบคุณงามความดีมากน้อยเพียงใดก็ตาม และสนับสนุนให้มีการปฏิรูปเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เรียกร้องทรัพย์สินคืนเพื่อไม่ให้คนทุจริตหนีไปใช้ชีวิตต่างประเทศพร้อมทรัพย์สินที่กอบโกยไป

พล.อ.ประยุทธ์รับทราบข้อความในจดหมายและส่งต่อให้ กรธ.พิจารณาจดหมายที่ถูกถอดรหัสเป็นคำขอของ "ธานินทร์" พุ่งตรงมาที่หัวใจของการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นคำขอที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับคดีความเสียหายจากโครงการจำนำข้าว มีจำเลยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและเครือข่าย

รวมถึงเรียกร้องให้เปิดช่องทางเรียกทรัพย์สินคืน ปิดทางนักการเมืองที่ทุจริตคิดหลบหนีคดีความไปอยู่ต่างประเทศ

น้ำหนักจดหมายที่นายธานินทร์ส่งให้ "มีชัย" ผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ครั้งใหม่จึงสำคัญยิ่งกว่าส่งผ่านไปถึง "บวรศักดิ์"

ด้าน "มีชัย" กล่าวว่า "ข้อเสนอดังกล่าว กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 35 อยู่แล้ว เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นร่วมกันว่าเป็นปัญหา ก็จะพยายาม แต่จะได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของเรา"

สิ่งที่นายธานินทร์เสนออาจถูกแปลงเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ก็อาจเป็นไปได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จดหมาย ธานินทร์ ขอบรรจุญัตติ รัฐธรรมนูญ

view