จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์
ขอนำประเด็นการพิจารณา “เหตุอันสมควร” ตามแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากรมาเป็นประเด็น ปุจฉา – วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อน ดังต่อไปนี้
ปุจฉา นอกจากคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 50/2537 ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 152/2558 ลงวันที่ 10 กันยายน 2558 แล้ว กรมสรรพากรได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาเหตุอันสมควรตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร อีกหรือไม่ อย่างไร
วิสัชนา เพื่อให้การพิจารณากรณีที่จะถือว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยมีเหตุอันสมควร ซึ่งไม่ต้องรับผิดเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร เป็นไปในแนวทางเดียวกัน กรมสรรพากรได้กำหนดแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรที่ มก. 9 / 2550 เรื่อง การพิจารณาเหตุอันสมควรตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
1. ได้พิจารณานำหลักเกณฑ์การพิจารณาเหตุอันสมควรตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 50/2537 ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2537 ดังได้นำมาปุจฉา – วิสัชนา ในสัปดาห์ก่อนมาเป็นข้อความของข้อ 2
2. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิซึ่งได้จากการประกอบกิจการ โดยมีเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ ถือว่ามีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร (ข้อ 3)
(1) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการใน รอบระยะเวลา 6 เดือนหลังของรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ (รายได้จากการประกอบกิจการ ไม่รวมถึง การนำเงินไปหาประโยชน์โดยฝากธนาคาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือซื้อพันธบัตรหรือหลักทรัพย์ที่ได้รับมาก่อนไม่ว่าในรอบระยะเวลาบัญชีนี้ หรือรอบระยะเวลาบัญชีก่อน)
(2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่มเติมตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เพื่อปรับปรุงรายได้เพิ่มขึ้น ตามข้อเท็จจริงของผลการตรวจสภาพกิจการ
(3) กรณีมีการขายทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการในรอบระยะเวลาบัญชี 6 เดือนหลัง ของรอบระยะเวลาบัญชี และมีกำไรจากการขายทรัพย์สินดังกล่าว
(4) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำลง ทำให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดต่ำลงด้วย
(5) การส่งสินค้าออกมีความไม่แน่นอน ทั้งปริมาณและราคาสินค้า หรือมีการยกเลิกการควบคุมราคาหรือปริมาณสินค้าส่งออก
(6) การรับจ้างที่มีค่าจ้างไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับผู้ว่าจ้างและความยากง่ายของงานที่ทำ
(7) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน