จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์
กรมสรรพากรได้มีคำชี้แจงเกี่ยวกับภาษีการรับมรดก ตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558
ซึ่งมีผลใช้บังคับพร้อมกับเงินได้บุคคลธรรมดาจากการรับให้โดย เสน่หา ในวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป อันเป็นวันครบกำหนด 180 วันนับแต่วันที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 5 สิงหาคม 2558) จึงขอนำมาเป็นปุจฉา-วิสัชนา ดังนี้
ปุจฉา ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก กรณีเจ้ามรดกถึงแก่ความตายตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป มีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์อย่างไร
วิสัชนา ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก กรณีเจ้ามรดกถึงแก่ความตายตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป มีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. บุคคลผู้มีสัญชาติไทย
2. บุคคลธรรมดาผู้มิได้มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
3. บุคคลผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ได้รับมรดกเป็นนิติบุคคล ให้ถือว่า นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายไทย หรือมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในขณะมีสิทธิได้รับมรดก หรือมีผู้มีสัญชาติไทยเป็นผู้มีอำนาจบริหารกิจการเกินกึ่งหนึ่งของคณะบุคคล ซึ่งมีอำนาจบริหารกิจการทั้งหมด เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีการรับมรดกด้วย
ปุจฉา บุคคลที่จะได้รับยกเว้นภาษีการรับมรดก จะต้องมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอย่างไร
วิสัชนา บุคคลที่จะได้รับยกเว้นภาษีการรับมรดก จะต้องมีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. ผู้ที่ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกที่ถึงแก่ความตายก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 แม้จะได้รับมรดกภายหลังวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ก็ตาม
2. คู่สมรสของเจ้ามรดก
3. บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้ มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์
4. หน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์
5. บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสห ประชาชาติหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสัญญาหรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันกับนานาประเทศ
มรดกที่ผู้รับมรดกได้รับจากเจ้ามรดกแต่ละราย นั้น ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือ หลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ดังนี้
1. สำหรับทรัพย์สินทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและนอกประเทศไทย ให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย หรือบุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมาย ว่าด้วยคนเข้าเมือง เป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการรับมรดกนั้น
2.สำหรับทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการรับมรดกนั้น
ส่วนที่เหลือยกยอดไปกล่าวในตอนต่อไปครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน