จากประชาชาติธุรกิจ
น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กยศ.ได้ทยอยโอนเงินค่าเล่าเรียน และค่าครองชีพให้แก่ผู้กู้ กยศ.และผู้กู้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2557 แล้ว ดังนี้ ผู้กู้ กยศ. 597,746 ราย แบ่งเป็น ผู้กู้เก่า 489,422 ราย และผู้กู้ใหม่ 108,324 ราย และผู้กู้ กรอ. 90,131 ราย แบ่งเป็น ผู้กู้เก่า 54,625 ราย และผู้กู้ใหม่ 35,506 ราย โดยในส่วนของ กยศ.มีผู้ที่ครบกำหนด และอยู่ระหว่างชำระหนี้ 2,185,133 ราย ค้างชำระหนี้ 1,205,626 ราย ซึ่ง กยศ.จะต้องเร่งติดตาม
"ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษา โดยควบรวมกองทุน กยศ.และกองทุน กรอ.เข้าด้วยกัน ให้เหลือเพียงกองทุนเดียว เพื่อรองรับร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.นั้น เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา และหากมี พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ ก็จะแก้ปัญหาที่เป็นข้อบกพร่องในการกู้ยืมของทั้งสองกองทุนได้" น.ส.ฑิตติมากล่าว
นายเปรมประชา ศุภสมุทร กรรมการกองทุน กรอ.กล่าวว่า การปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา เพื่อให้กรมสรรพากรเข้ามาจัดเก็บหนี้แทน กยศ.นั้น หากปรับแก้ไม่ทันก่อนเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ก็ปรับแก้ได้ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา และเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ยังปรับแก้ในรายละเอียดได้อีก เพื่อให้ พ.ร.บ.ที่จะออกมามีความสมบูรณ์ที่สุด โดยเฉพาะจะต้องแก้ปัญหาข้อบกพร่องของกองทุน กยศ.และ กรอ.ในเรื่องการจัดเก็บหนี้ และลดจำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการกองทุน กรอ.ได้เห็นชอบจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 2 ชุด คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์วางแผน ที่จะต้องกำหนดสาขาการปล่อยกู้ ซึ่งสามารถมองไปในอนาคตข้างหน้า 4 ปี ว่าจบแล้วมีงานทำแน่นอน และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ คุณธรรม จริยธรรม เพื่อหามาตรการดูแลผู้ที่ไม่มาชำระหนี้
"พบว่าสาเหตุสำคัญของผู้ที่ไม่มาชำระหนี้ ลำดับแรกคือ ไม่มีงานทำ ไม่มีเงิน ถัดมาคือ มีเงิน มีงานทำ แต่ตั้งใจไม่มาชำระหนี้ ซึ่งสถิติสาขาที่มีผู้ค้างชำระมากที่สุดคือ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ อยู่ที่ประมาณ 72% โดยกลุ่มสาธารณสุข/พยาบาล 57% และกลุ่มแพทย์ 51% ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย
โดยจำนวนผู้กู้ กรอ.ตั้งแต่ปี 2549 มีทั้งหมด 345,100 ราย ใช้งบประมาณรวม 18,074 ล้านบาท ครบกำหนดชำระ 267,184 ราย เป็นเงิน 10,318 ล้านบาท ค้างชำระ 190,700 ราย เป็นเงิน 7,243 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก ที่น่าตกใจคืออาชีพแพทย์และพยาบาล ซึ่งมีงานทำแน่นอน กลับไม่ยอมชำระหนี้ วิธีแก้ปัญหานอกจากสร้างวินัยและจิตสำนึกให้แต่ละคนแล้ว ยังต้องดูระบบติดตามหนี้ ที่จะต้องมีความเข้มข้นมากขึ้นด้วย" นายเปรมประชากล่าว
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน