การลดอัตราภาษีอากรสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ (1)
โดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกระจายความเจริญและเพิ่มรายได้ให้แก่ท้องถิ่น
และลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยกำหนดให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมี สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จึงได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 591) พ.ศ. 2558 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2558 เป็นต้นไป จึงขอนำมาประเด็น ปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้
ปุจฉา “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 591) พ.ศ. 2558 หมายความว่าอย่างไร
วิสัชนา “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” หมายความว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจ พิเศษ พ.ศ. 2556 เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขึ้น เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนของประเทศโดยใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยง ด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียนตามข้อตกลงการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียนและ ข้อตกลงภายใต้กรอบเศรษฐกิจอื่น รวมทั้งจากการค้าบริเวณพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน กอปรกับมีนโยบายในการสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มี ระบบที่มีประสิทธิภาพโปร่งใส และสามารถให้บริการสาธารณะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้ อย่างมีประสิทธิภาพ
“เขตเศรษฐกิจพิเศษ” เป็นแนวทางการพัฒนาที่มีการศึกษากันมานานในประเทศไทย โดยมีแนวความคิดในการพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อให้ มีการกระจายการพัฒนาไปสู่พื้นที่ต่างๆ โดยใช้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลายเป็นตัวนำในการพัฒนา อันเป็นการนำมาซึ่งการลงทุนและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เฉพาะและพื้นที่ใกล้เคียง คำว่า “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” จึงหมายถึงพื้นที่แห่งหนึ่งแห่งใดที่ได้รับการกำหนดและพัฒนาขึ้นมาภายใต้ กฎหมายและการบริหารกิจการในลักษณะเฉพาะ โดยภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีการปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้เกิดความพร้อมที่จะรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีการอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจการ และบริการขั้นพื้นฐาน
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้ให้ความเห็นชอบพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมในการจัดตั้งเป็นเขตพัฒนา เศรษฐกิจพิเศษระยะแรกของไทยใน 5 พื้นที่ชายแดน เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ได้อย่างสมบูรณ์ ได้แก่
1. อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (ติดกับประเทศเมียนมา)
2. อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว (ติดกับประเทศกัมพูชา)
3. พื้นที่ชายแดน จังหวัดตราด (ติดกับประเทศกัมพูชา)
4. พื้นที่ชายแดน จังหวัดมุกดาหาร (ติดกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)
5. อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา (ด่านสะเดา ด่านปาดังเบซาร์) (ติดกับประเทศมาเลเซีย)
โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการ สนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 4 เรื่อง ได้แก่ 1. สิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุน 2. การให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ 3. มาตรการสนับสนุนการใช้แรงงานต่างด้าว และ 4. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรในพื้นที่เพื่อให้สามารถรองรับ กิจกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและเชื่อมโยงในภูมิภาคได้อย่างมี ประสิทธิภาพ (ที่มา: www.wiangphangkham.go.th/images/column_1431354069/143.pdf)
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน