การลดอัตราภาษีอากรสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ (2)
โดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ขอนำประเด็นการลดอัตราภาษีอากรสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 591) พ.ศ. 2558 มาประเด็น ปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อน ดังนี้
ปุจฉา มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับผู้ประกอบการใน “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 591) พ.ศ. 2558 อย่างไร
วิสัชนา ให้ลดอัตราภาษีเงินได้เงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ว่าจะมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ ที่ใด สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือรายได้ที่เกิดจากการให้บริการและมีการใช้บริการนั้นในเขตพัฒนาเศรษฐกิจ พิเศษเป็นเวลาสิบรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว หากจดทะเบียนจัดตั้งนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ สถานประกอบกิจการที่ตั้งขึ้นในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต้องเป็นอาคารถาวร แต่ถ้าจดทะเบียนก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ สถานประกอบกิจการที่ตั้งขึ้นในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ต้องเป็นอาคารถาวรที่ขยายหรือเพิ่มเติมจากสถานประกอบกิจการที่มีอยู่เดิม (มาตรา 4)
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิในการลดอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา ๔ จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ (มาตรา 6)
(1) ได้จดแจ้งการขอใช้สิทธิการเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษก่อนหรือในปี พ.ศ. 2560
(2) ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(3) ต้องไม่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการประกอบกิจการ SMEs ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554
(4) ต้องจัดทำบัญชีแยกรายการสำหรับกิจการที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและ กิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
(5) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีประกาศกำหนดในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลขาดคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งข้อหนึ่งข้อใดในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสิ้นสุดลงตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีนั้น
ให้ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการนับรอบระยะเวลาบัญชี ดังต่อไปนี้ (มาตรา 5)
(1) กรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ได้จดแจ้งขอใช้สิทธิประโยชน์ ต่อกรมสรรพากรตามมาตรา 6 (1) ให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก
(2) กรณีที่มีการจดแจ้งขอใช้สิทธิประโยชน์ต่อกรมสรรพากรตามมาตรา 6 (1) ระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก แม้ว่าจะมีระยะเวลาน้อยกว่าสิบสองเดือนก็ตาม
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน