สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พบแพทย์จุฬา : โรคไตและกรวยไตอักเสบ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ พบแพทย์จุฬา นสพ.มติชนรายวัน
โดย ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์


การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะพบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะในช่วงอายุน้อยกว่า 1 ปี ในช่วงอายุ 6 ขวบปีแรก พบร้อยละ 6.6 ในเด็กผู้หญิง และร้อยละ 1.8 ในเด็กผู้ชาย

การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะในเด็ก แบ่งได้เป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบน (ไตและกรวยไตอักเสบ) แต่ในเด็กเล็กอาจไม่สามารถแยกได้ชัดเจน จึงแบ่งเป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะแบบมีไข้และแบบไม่มีไข้ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีไตและกรวยไตอักเสบ เป็นตัวบ่งชี้ว่าอาจมีความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด นอกจากนี้ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว เช่น แผลที่ไต ความดันโลหิตสูง หรือไตทำงานบกพร่อง

โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อที่พบบ่อยเป็นเชื้อที่มาจากทวารหนักและลำไส้ใหญ่ โดยเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ระบบทางเดินปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะ เข้ากระเพาะปัสสาวะและกรวยไต ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ เด็กที่เคยมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะมาก่อน เด็กที่มีความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ เช่น มีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ มีการไหลย้อนของปัสสาวะกลับท่อไต มีลักษณะอวัยวะเพศที่เอื้อต่อการหมักหมม เช่น เด็กผู้ชายที่มีหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศที่ยาวและรูเปิดตีบแคบ เด็กผู้หญิงที่มีการเชื่อมต่อกันของเนื้อเยื่ออ่อนที่อวัยวะเพศ หรือมีนิสัยชอบกลั้นปัสสาวะและท้องผูกจากการกลั้นอุจจาระ

อาการของเด็กมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย ตำแหน่ง และความรุนแรงของการติดเชื้อ เช่น ทารกแรกเกิด อาจมีไข้ ดูดนมไม่ดี อาเจียนและถ่ายอุจจาระเหลว เลี้ยงไม่โต ตัวเหลือง เด็กเล็กอาจมีไข้สูง อุจจาระร่วง อาเจียน น้ำหนักไม่ขึ้น ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ส่วนเด็กโต มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดบริเวณบั้นเอวหลังหรือบริเวณหัวเหน่า ผู้ป่วยโรคนี้ควรรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยรับยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย 7-10 วัน ควบคู่กับการรักษาตามอาการ เช่น ไข้สูง ควรให้ยาลดไข้และเช็ดตัวลดไข้ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ หากขาดน้ำควรให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

การป้องกัน คือ สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะในน้ำนมแม่มีสารป้องกันเชื้อแบคทีเรียจับกับเยื่อบุทางเดินปัสสาวะ รักษาความสะอาดและหลีกเลี่ยงการระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ เช่น ไม่ควรทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ไม่ควรใส่ผ้าอ้อมหรือชุดชั้นในที่รัดแน่นมาก หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และควรกระตุ้นให้เด็กปัสสาวะทุก 3-4 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงไม่ให้ท้องผูก เป็นต้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พบแพทย์จุฬา โรคไตและกรวยไตอักเสบ

view