สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บทเล็คเชอร์ที่จีน จากประยุทธ์ถึงมีชัย

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

กลายเป็นจุดสนใจขึ้นมาทันทีสำหรับหนังสือ “บทเล็คเชอร์ที่จีน การปฏิรูปรัฐธรรมนูญในจีน : บทเสริมสำหรับการอภิปราย” ของ โฮเซ สเตลเล่ ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้นำมาแจกให้กับแม่น้ำ 5 สาย โดยเฉพาะกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระหว่างการประชุมร่วมกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในหนังสือได้ระบุประวัติของ โฮเซสเตลเล่ ว่า เป็นนักวิชาการที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษชาวเยอรมันและอิตาเลียน เติบโตมาในประเทศบราซิล และได้รับการศึกษาหลากหลายด้านในบราซิล สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร

สำหรับหนังสือเล่มนี้มีความหนา 258 หน้า เนื้อหาสำคัญ 6 บท ประกอบด้วย 1.อุดมคติของหลักนิติธรรม 2.แองโกล-อเมริกันโมเดล 3.บทวิพากษ์รัฐธรรมนูญอเมริกัน ตอนที่ 1 : ความไม่สมบูรณ์ของลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมแบบเสรี 4.บทวิพากษ์รัฐธรรมนูญอเมริกัน ตอนที่ 2: ประชาธิปไตย หรือภาพลวงตาของเสรีภาพ 5.โมเดลแบบรีพับลิกันด้วยนิยามใหม่ ตอนที่ 1: การรื้อปรับระบบรัฐธรรมนูญใหม่ และ 6.โมเดลแบบรีพับลิกันด้วยนิยามใหม่ ตอนที่ 2 : เหนือกว่าการรื้อปรับระบบรัฐธรรมนูญใหม่

ในบทที่ 1 ของหนังสือเล่มนี้ถือว่ามีเนื้อหาที่สนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการวิพากษ์เกี่ยวกับความยุติธรรมและหลักรัฐธรรมนูญนิยม ซึ่งขอนำเสนอเฉพาะสาระสำคัญดังนี้

“ความเป็นปึกแผ่นสมบูรณ์ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง หรือภูมิศาสตร์นั้น ขึ้นอยู่กับการประสานและประนีประนอมระหว่างสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกัน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้หลักนิติธรรม เพราะหนึ่งในเป้าประสงค์ที่สำคัญที่สุดของหลักนิติธรรม ก็คือ การประกันความเป็นกลางของจัตุรัสสาธารณะ ซึ่งถนนทุกสายมาบรรจบกัน หลักนิติธรรมสามารถรับประกันความหลากหลายและความเปลี่ยนแปลงได้ไม่มีที่สิ้นสุดภายในระบบที่มีโครงสร้าง จึงทำให้เกิดความสร้างสรรค์และอิสระได้พร้อมๆ กันกับการคงไว้ซึ่งความเป็นระเบียบ”

นอกจากนี้ ในบทเดียวกันนี้เองยังมีมุมมองบางส่วนถึงเรื่องการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ว่า “เมื่อพิจารณาอย่างจริงจังแล้ว แนวคิดริเริ่มด้านกฎหมายของพรรคการเมือง รวมทั้งข้อเสนอนโยบายช่วงเลือกตั้งก็คือคำสัญญาที่จะก่ออาชญากรรมต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มผลประโยชน์ เพราะเป็นแผนการที่จะให้ประโชน์แก่คนส่วนน้อยกว่าที่รวมกัน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่เน้นเสียงส่วนมากโดยไม่คำนึงถึงประเด็นอื่น รัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีบทบาทเกี่ยวข้อง และในที่สุด ระบบเผด็จการก็เข้าครอบงำอย่างเงียบๆ ภายใต้ป้ายเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ และถูกแทนที่โดยเผด็จการรัฐสภาที่ทำงานให้ผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้น”

ขณะเดียวกันมีอีกประเด็นปัญหาที่ในหนังสือได้วิเคราะห์ในบทที่ 5 ว่าภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอาจเกิดปัญหาฉุกเฉิน 2 ประการ คือ 1.สถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามอธิปไตย และ 2.วิกฤตทางรัฐธรรมนูญ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรมีอำนาจพิเศษบางประการขึ้นมาแก้ไขปัญหาในบริบทที่แตกต่างกันไป

โดยสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามนั้น หมายความถึงสถานการณ์ที่มีศัตรูจากภายนอก กบฏหรือความรุนแรง หรือภัยธรรมชาติ ซึ่งต้องอาศัยการแก้ไขที่รวดเร็ว กรณีนี้สภานิติบัญญัติควรมอบอำนาจบางอย่างให้กับรัฐบาล แต่ฝ่ายนิติบัญญัติจะยังคงเก็บอำนาจในการยุติสภาวะฉุกเฉินไว้ หรือการยกเลิกมาตรการที่ใช้โดยรัฐบาล

ส่วนปัญหาเรื่องวิกฤตทางรัฐธรรมนูญ ในหนังสือได้อธิบายว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี ได้แก่ 1.เมื่อมีความบกพร่องในรัฐธรรมนูญผสมกับเหตุการณ์บ้านเมืองที่ไม่คาดคิดและทำให้เกิดความแตกแยกในโครงสร้างอำนาจ 2.เมื่อมีคำถามซึ่งต้องอาศัยคำตอบที่เป็นทางการเพื่อไม่ให้กลไกต่างๆ ของรัฐบาลเป็นอัมพาต โดยมีข้อเสนอเป็นแนวทางว่าควรให้บุคคล เช่น ประมุขแห่งรัฐมีอำนาจทางกฎหมายในการให้คำตอบชั่วคราวจนกว่าฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสามารถแก้ไขช่องว่างทางรัฐธรรมนูญได้

ทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาบางส่วนที่อยู่ในหนังสือเท่านั้น ซึ่ง “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. ได้นำหนังสือเล่มดังกล่าวมามอบให้กับ กรธ.ทุกคนไปศึกษาเพิ่มเติม

“อมร วานิชวิวัฒน์” โฆษกคณะ กรธ. กล่าวว่า ส่วนตัวได้อ่านหนังสือเล่มที่ว่านั้นแล้ว และเห็นว่ามีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์อย่างมาก และสามารถเป็นความรู้ในการทำงานของ กรธ.ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม กรธ.ยืนยันว่าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ได้ยึดถือจากหนังสือเล่มนี้เป็นหลัก เพราะต้องนำความคิดเห็นของประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ มาประกอบการทำงานด้วย เพื่อให้ได้บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาของประเทศไทย


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บทเล็คเชอร์ที่จีน จากประยุทธ์ถึงมีชัย

view