จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
การร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศกำลังเดินหน้าไปตามขั้นตอน โดยเฉพาะการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญมาถึงประเด็นสำคัญอย่างเรื่อง “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” หรือ “องค์กรอิสระ” แล้ว
เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันพระปกเกล้า และสภาพัฒนาการเมือง ได้จัดทำรายงานผลการศึกษาเรื่อง “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ฐานความรู้และบทเรียนเพื่อการปฏิรูป” ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูปองค์กรอิสระมาให้ กรธ.ได้พิจารณา โดยมีสาระสำคัญตรงที่ข้อเสนอในการปฏิรูปองค์กรอิสระที่มีบทบาทต่อการเมืองการปกครองของไทย 3 องค์กรดังนี้
1.คณะกรรมการการเลือกตั้ง
ผลการศึกษาพบว่าในการบริหารจัดการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังขาดหลักปรัชญาซึ่งเป็นฐานในการกำหนดเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นธรรม แต่ควรมีการพัฒนาเรื่องการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้สิทธิ การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น ส่วนด้านการสืบสวนสอบสวน วินิจฉัยและดำเนินคดี ยังขาดกรอบเวลาในการดำเนินการให้รวดเร็ว ขาดกฎหมายและระเบียบที่มีมาตรฐานชัดเจน โปร่งใส เป็นธรรม และเปิดเผยต่อสาธารณะ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ยังไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่มีหลักประกันสิทธิ เสรีภาพและความปลอดภัยของประชาชนผู้แจ้งเหตุทุจริตหรือร้องคัดค้านการเลือกตั้ง
กกต.ให้ความสำคัญกับการแสดงบทบาทอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมากกว่าบทบาทอำนาจหน้าที่ในด้านอื่นๆ ทรัพยากรส่วนใหญ่ทั้งทรัพยากรบุคคล งบประมาณ ถูกนำใช้ไปเพื่อการดังกล่าว แต่ให้ความสำคัญกับบทบาทด้านการส่งเสริม สนับสนุนหรือประสานงานเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชน รวมไปถึงบทบาทในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนค่อนข้างน้อย
จากสภาพปัญหาที่ผ่านมา เห็นควรให้มีการทบทวนและปรับปรุงในส่วนอำนาจหน้าที่ของ กกต.ให้ได้ดุลยภาพ ซึ่งหมายความถึงการมอบอำนาจให้ กกต.ในด้านต่างๆ อย่างเพียงพอ เพื่อเป้าหมายหรือเจตนารมณ์ที่ต้องการทำให้การเลือกตั้งหรือการเข้าสู่อำนาจรัฐเป็นไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรม
2.ผู้ตรวจการแผ่นดิน
ผู้ตรวจการแผ่นดินมุ่งแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณี ขาดการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ การดำเนินการเชิงรุกยังมีน้อย ส่งผลให้เกิดประเด็นการร้องเรียนซ้ำ ขาดการแสวงหาข้อเท็จจริงเชิงลึก มักจะรอการชี้แจงข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนเป็นหลัก ผลการวินิจฉัยในบางกรณียังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของประชาชนได้ ส่วนบทบาทอำนาจหน้าที่พบว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจเพียงให้คำแนะนำหรือให้ข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานตามผลการวินิจฉัย ไม่มีอำนาจเข้าไปจัดการแก้ไขข้อบกพร่องได้เอง ไม่มีอำนาจสั่งการหรือลงโทษผู้กระทำผิดที่ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย
อีกทั้งพบว่าสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินก็ประสบปัญหาทั้งในเรื่องโครงสร้าง บทบาทอำนาจหน้าที่ อาทิ โครงสร้างพบว่าการกำหนดภารกิจกลุ่มงานในโครงสร้างองค์กรยังไม่ชัดเจน ทำให้บางภารกิจมีความซ้ำซ้อน ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการปฏิบัติงาน สภาพปัญหาความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมอันเกิดจากการละเมิดสิทธิ หรือกระเทือนสิทธิของประชาชนจากผู้ใช้อำนาจรัฐ ยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงหรือหมดไปโดยง่าย
ดังนั้น เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถสร้างความเป็นธรรมและความเข้มแข็งในสังคมได้อย่างยั่งยืน ควรให้มีการกระจายอำนาจการบริหารและกระจายอำนาจการตัดสินใจให้มากขึ้น โดยในเชิงของกฎหมายนั้น ควรให้อำนาจในการกำหนดให้บุคคลที่ไม่ให้ความร่วมมือมีความผิด เช่นเดียวกับการละเมิดอำนาจศาล มีอำนาจในการกำหนดวิธีการชั่วคราวให้ระงับการกระทำการ รวมไปถึงกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินทุกกรณี
3.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
การใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องอยู่ในกรอบและขอบเขตที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่ามีข้ออ่อนในประเด็นความชอบธรรมในการใช้อำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะการควบคุมตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีที่มาจากการเลือกตั้งในฐานะ “ผู้แทนปวงชน” ในขณะที่ที่มาและองค์ประกอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีจุดยึดโยงกับประชาชน หรือมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ ในระดับค่อนข้างน้อย
ดังนั้น แม้ว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ มีหลักประกันความเป็นอิสระและเป็นกลางที่เหมาะสม และได้สัดส่วนตามความจำเป็นของบริบทสังคม และมีเหตุมีผลไม่ขัดแย้งกับหลักการและทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจแต่อย่างใด และมีดุลยภาพกับการถูกตรวจสอบการใช้อำนาจ เนื่องจากมีอำนาจที่กว้างขวางในทุกมิติ จึงต้องถูกตรวจสอบการใช้อำนาจในทุกมิติเช่นเดียวกัน ผ่านมาตรการตรวจสอบจากผู้แทนของประชาชนที่ทำหน้าที่อยู่ในรัฐสภา
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน