จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด
กลายเป็นภาพสยดสยอง ที่ไม่ควรเกิดขึ้นสำหรับคนเดินถนน ในเมืองกรุง หลังชายหนุ่มรายหนึ่ง ประสบอุบัติเหตุเดินตกท่อระบายน้ำที่ชำรุดในพื้นที่เขตจตุจักร จนได้รับบาดเจ็บ ถูกตะแกรงเหล็กบาดขาขวาเป็นแผลฉีกลึกขนาดใหญ่ ต้องเย็บถึง 100 เข็ม
สังคมกำลังตั้งคำถามเสียงดังว่า ความเดือดร้อนลักษณะนี้ ต้องถามหาความผิดชอบจากใคร ?
เหยื่อท่อระบายน้ำเตรียมยื่น กทม.เรียกค่าเสียหาย
หนุ่มโชคร้าย "วัชชิระ สวัสดี" บอกให้ฟังว่า หลังเกิดเหตุ เบื้องต้นได้ลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สน.พหลโยธิน และเตรียมเดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้สำนักงานเขตจตุจักรชดเชยค่าเสียหายในการรักษาพยาบาลเบื้องต้นกว่า 6 หมื่นบาท แต่หากไม่มีความคืบหน้าก็จำเป็นต้องหาช่องทางตามกฎหมายเรียกร้องต่อไป
"ไม่อยากให้เกิดเป็นคดีความ อยากให้ทางผู้ใหญ่เห็นใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และช่วยเหลือผมอย่างเต็มใจเท่านั้น"เขาระบุ
หนุ่มรายนี้กล่าวอีกว่า ฝากถึงเจ้าหน้าที่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน อยากช่วยแก้ไขจุดต่างๆ ที่ชำรุด ไม่ใช่แค่ฝาท่อระบายน้ำ แต่หมายถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในแหล่งชุมชนให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ในชีวิตเดินทาง ต่อให้ประชาชนมีความระมัดระวังแค่ไหน แต่หากมีจุดชำรุด ที่ก่อให้เกิดอันตรายตามแหล่งชุมชนย่อมเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา อนาคตเมื่อประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาแล้ว หากมีการร้องเรียน ขอให้ช่วยรีบเข้ามาปรับปรุงและแก้ไขก่อนที่จะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น
ทนายความย้ำ "ผู้ประสบเหตุ มีสิทธิต้องเรียกร้อง"
วิรัช หวังปิติพาณิชย์ ทนายความ จากเว็บไซด์ Tanaiwirat.com ยืนยันว่า ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หากได้รับความเสียหายทางร่างกายและทรัพย์สิน สามารถดำเนินการฟ้องผู้รับผิดชอบโครงการได้
"การฟ้องร้องต่อหน่วยงานรัฐหรือเจ้าของโครงการนั้นทำได้อย่างแน่นอน โดยกรณีบาดเจ็บประเภทคนเดินเท้า ให้ทำการถ่ายภาพที่เกิดเหตุ เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ขอใบรับรองแพทย์ รวบรวมค่ารักษาพยาบาล เพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงประกอบการเรียกร้อง กรณีเกิดอุบัติเหตุโดยรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ให้ทำการติดต่อประกันและทำการถ่ายรูปสภาพรถที่เสียหายเพื่อใช้เป็นหลักฐาน"วิรัชกล่าว
ส่วนในการฟ้องร้องนั้นสามารถทำได้สองทาง
ฟ้องร้องคดีแพ่ง ในความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ โดยว่าจ้างทนายความ และดำเนินตามกระบวนการยุติธรรม ไล่ฟ้องตั้งแต่ผู้รับเหมา หน่วยงานผู้รับผิดชอบ
ฟ้องร้องคดีปกครอง ติดต่อศาลปกครอง จะมีนิติกรช่วยรับผิดชอบดำเนินการให้
"เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเรานั้นมีสาเหตุมาจากความผิดของรัฐ ก็จำเป็นต้องใช้สิทธิเรียกร้อง โดยสามารถที่จะฟ้องเรียกร้องได้ อย่างน้อยที่สุดก็จะได้รับค่ารักษาพยาบาล หรือชดเชยค่าเสียโอกาสในการทำงานของเรา"
ตัวอย่างข้อกฎหมายประกอบในการฟ้องร้อง
พระราชบัญญัติ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
มาตรา 5 หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 880 ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น
ถ้าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแต่เพียงบางส่วนไซร้ ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยนั้นใช้สิทธิของตนให้เสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ ในการที่เขาจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพื่อเศษแห่งจำนวนวินาศภัยนั้น
พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535
มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวงนั้น และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานทางหลวงกับออกกฎกระทรวง เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ในเรื่องดังต่อไปนี้
(2) จัดทำ ปัก ติดตั้งป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร เครื่องหมายสัญญาณหรือสัญญาณอย่างอื่น ขีดเส้น เขียนข้อความ หรือเครื่องหมายอื่นใดสำหรับการจราจรบนทางหลวง
ย้อนรอยคดีตัวอย่าง ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานรัฐ
ย้อนกลับไปในอดีต พบว่ามีหลากหลายคดีความที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของหน่วยงานผู้รับผิดชอบดูแล และเมื่อผู้เสียหายยื่นฟ้องร้อง ศาลก็รับ
-ตกท่อน้ำริมฟุตบาท กลายเป็นคนพิการ
เมื่อปี 51 กรณี น.ส.วดี หรือน้องน้ำ เบญจปัญญาวงศ์ นักเขียนรางวัลเยาวชนดีเด่นเรนโบว์อวอร์ด ปี 2546 ยื่นฟ้อง กรุงเทพมหานคร , วิศวกร และ บริษัท บี.ซี.ดี.ซี. จำกัด ผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิด คดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท เนื่องจากเธอได้รับบาดเจ็บจากการเดินตกท่อน้ำริมฟุตปาธ ถนนทวีวัฒนา - กาญจนาภิเษก จนเป็นให้กระดูกข้อเท้าซ้ายแตก และต้องเป็นผู้พิการ
-รถตกท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ที่ฝาท่อเปิดอยู่
ราวปี 55 เกิดเหตุรถตกท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ที่ฝาท่อเปิดอยู่ บริเวณถนนบรมราชชนนีขาเข้ากรุงเทพฯ โดยที่เกิดเหตุไม่มีสัญญาณไฟเตือน ไม่มีสิ่งใดบ่งบอกว่าตรงนั้นมีหลุมหรือปากท่อเปิดอยู่ ทำให้รถเจ้ากรรมทั้งคันหล่นติดไปคาอยู่กับท่อ
งานนี้มีการฟ้องร้องระหว่าง บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัย ของเจ้าของรถยนต์กับ กรมทางหลวง
ซึ่งท้ายที่สุดศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า กรมทางหลวงไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการบำรุงรักษาทางหลวง และติดตั้งเครื่องหมายจราจรหรือเครื่องหมายสัญญาณเตือนความปลอดภัยในการขับขี่อย่างเพียงพอ ถือได้ว่า ความเสียหายดังกล่าว เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ของกรมทางหลวงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 การกระทำดังกล่าว จึงเป็นการละเมิดต่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถ จึงต้องรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทประกันภัยผู้ฟ้องคดี
-เหตุการณ์โป๊ะล่มที่พรานนก
เกรียวกราวไปทั่วประเทศ สำหรับเหตุการณ์โป๊ะล่มที่พรานนกโดนเหตุเกิดเมื่อตอนเช้าวันที่ 14 มิ.ย.2538 ขณะเรือด่วนเข้าเทียบท่าที่ท่าน้ำพรานนก โป๊ะได้เกิดล่ม ส่งผลให้ผู้โดยสารที่ยืนรออยู่ร่วม 100 ชีวิต ตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 29 ศพ
ญาติผู้เสียชีวิต ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท สุภัทรา จำกัด , บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด , กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรมเจ้าท่า เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดเรื่องละเมิด โดยเหตุเกิดจากความประมาทและการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ของจำเลย โดยขอให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพให้แก่โจทก์
ท้ายสุด ศาลฎีกาสั่ง กทม. จ่ายเงินค่าเสียหายแก่ญาติผู้ตาย 12 ราย เหตุโป๊ะท่าเรือพรานนกล่มปี 38 รวม 12.6 ล้าน ชี้ประมาท ปล่อยโป๊ะรับน้ำหนักเกิน จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
กทม.แจงอยู่ระหว่าง ตรวจสอบข้อกฎหมาย
เบื้องต้น เชาวฤทธิ์ ทรงนวรัตน์ ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กล่าวว่า ประเด็นประชาชนตกท่อระบายน้ำจนได้รับบาดเจ็บกำลังอยู่ระหว่าง ศึกษาระเบียบกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันเเละบรรเทาสาธารณภัยอยู่ เพื่อหาเเนวทางช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ
อย่างไรก็ตามทางเขตฯ ได้เข้าไปเปลี่ยนฝาท่อดังกล่าวแล้วทันที และจากการตรวจสอบพบว่าเป็นฝาท่อแบบเก่า มีอายุใช้งานกว่า 10 ปีลักษณะเป็นตะแกรงเหล็ก เพื่อให้ง่ายต่อการระบายน้ำบนผิวจราจร การใช้งานมานานทำให้ตะแกรงเหล็กมีสภาพชำรุด ที่ผ่านมาทางเขตฯ ได้เร่งเปลี่ยนฝาท่อเป็นฝาคอนกรีต ในพื้นที่เกือบเสร็จแล้วทั้งหมดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
นับเป็นตัวอย่างเหตุการณ์ภัยใกล้ตัว ที่สะท้อนการดูแลประชาชน จากภาครัฐได้อย่างดี พร้อมกับเตือนสติคนเดินถนนทุกคนว่า “อย่าประมาทเด็ดขาด”
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,##สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน