จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
ส่งท้ายปีเก่า...กันด้วยเรื่อง สิทธิของราษฎรหรือประชาชนในการที่จะขอตรวจดูและตรวจสอบข้อมูลบัญชีทรัพย์สินหน่วยงานของรัฐ หรือ การขอให้หน่วยงานทางปกครองชี้แจงรายการบัญชีทรัพย์สินต่างๆ นั้น ถือเป็นการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่มีข้อกำหนดในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง ว่า นอกจากข้อมูลข่าวสารของราชการที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หรือที่จัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้แล้ว หรือที่มีการจัดให้ประชาชนได้ค้นคว้าตามมาตรา 26 แล้ว ถ้าบุคคลใดขอ ข้อมูลข่าวสารอื่นใดของราชการและคำขอของผู้นั้น ระบุข้อมูลข่าวสารที่ต้องการในลักษณะที่อาจเข้าใจได้ตามสมควร ให้หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้แก่ผู้ขอภายในเวลา อันสมควร เว้นแต่ผู้นั้นขอจำนวนมากหรือบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
ประกอบมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ได้กำหนดว่า ผู้ใดเห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่จัดพิมพ์ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 7 หรือไม่จัดข้อมูลข่าวสารไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้ตามมาตรา 9 หรือไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้แก่ตนตามมาตรา 11 หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า หรือเห็นว่าตนไม่ได้รับความสะดวก โดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้นั้นมีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร
เช่นกรณีที่จะพูดคุยกันในวันนี้ ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นราษฎรในพื้นที่รู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลในการบริหารงาน ของเทศบาล เกี่ยวกับการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) และโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (ศพช.) เนื่องจากปรากฏว่าทรัพย์สินของชุมชนบางอย่างได้หายไปโดยไม่ทราบเหตุผล จึงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้อำนวยการกองสวัสดิการและสังคม สำนักงานเทศบาล เพื่อขอตรวจสอบทรัพย์สินและบัญชีทรัพย์สินของชุมชนที่ได้จัดหาจากเงินงบ ประมาณของทางราชการ โดยขอให้ผู้อำนวยการกองสวัสดิการและสังคมตรวจสอบและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ของชุมชนให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนในชุมชนได้รับทราบ
แต่เทศบาลและผู้อำนวยการกองสวัสดิการและสังคมกลับเพิกเฉย ไม่พิจารณาหนังสือร้องเรียนของผู้ฟ้องคดี รวมทั้งมิได้บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ฟ้องคดีและประชาชนในชุมชนที่ไม่ได้ ใช้ทรัพย์สินของชุมชนดังที่เคยมี เช่น เครื่องเสียงตามสาย อันเป็นหน้าที่ของเทศบาลที่ต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชนในชุมชน
ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องเทศบาลและผู้อำนวยการกองสวัสดิการและสังคมต่อ ศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเปิดเผยข้อมูล ทรัพย์สินของชุมชนตามบัญชีทรัพย์สินชุมชนว่ามีอะไรบ้าง ได้มีการจัดหามาตามโครงการใด และทรัพย์สินของชุมชนบางอย่างขาดหายไปไหน โดยผู้ฟ้องคดีต้องการให้มีทรัพย์สินของชุมชนใช้สอยดังเดิม
คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มีข้อกำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาในคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และมาตรา 42 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน กำหนดว่า ใน กรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือ เสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทำได้ ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด ประกอบกับมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ได้มีบทบัญญัติกรณีหากหน่วยงานของรัฐไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้ร้องขอ ตามมาตรา 11 ผู้ร้องมีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร
เมื่อพิจารณาคำขอของผู้ฟ้องคดีตามคำฟ้องเข้าใจได้ว่า ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง สองชี้แจงหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินและบัญชีทรัพย์สินของชุมชนแก่ผู้ ฟ้องคดี อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ
โดยที่เรื่องนี้ผู้ฟ้องคดีได้มีคำขอข้อมูลข่าวสารของราชการที่อยู่ใน ความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการฯ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีข้อกำหนดไว้ในมาตรา 13 วรรคหนึ่ง ว่าหากหน่วยงานไม่ดำเนินการ ผู้ร้องต้องร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ฉะนั้น ก่อนฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลปกครอง ผู้ฟ้องคดีจึงต้องร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการก่อน
การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง โดยไม่ได้นำเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดียังมิได้ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหาย ตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการกำหนดไว้โดย เฉพาะ ผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 185/2558)
จึงได้ข้อสรุปที่ว่า... การขอตรวจสอบหรือตรวจดูข้อมูลของราชการลักษณะเช่นนี้ เป็นการใช้สิทธิของประชาชนหรือราษฎรตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ หากหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการตามคำร้องขอ ก่อนจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้ ต้องดำเนินการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารก่อน หากคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้ว ผลเป็นประการใด หรือมิได้มีการพิจารณาภายในระยะเวลาที่กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการดัง กล่าวกำหนดไว้ในมาตรา 13 วรรคสอง ผู้ร้องขอจึงจะสามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองให้พิจารณาวินิจฉัยได้นั่นเอง ครับ !
ท้ายนี้ ขอสวัสดี...ส่งท้ายปีมะแม... พบกันอีกทีปีวอก 2559 ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับครอบครัวและเดินทางโดยสวัสดิภาพครับ...
ครองธรรม ธรรมรัฐ
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน