สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แฉขบวนการล้ม สสส.เริ่มก่อนปลดบอร์ด มีบ.บุหรี่เอี่ยวยึดคืนภาษีบาป ย้ำเป็น กก.มูลนิธิไม่ประโยชน์ทับซ้อน

แฉขบวนการล้ม สสส.เริ่มก่อนปลดบอร์ด มีบ.บุหรี่เอี่ยวยึดคืนภาษีบาป ย้ำเป็น กก.มูลนิธิไม่ประโยชน์ทับซ้อน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

        "หมอวิชัย" ชี้ปลดบอร์ด สสส.อ้างผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ถูกต้อง เหตุ กฎหมายเปิดช่องให้มูลนิธิมาเป็นกรรมการได้ เพราะทำเพื่อประโยชน์ประชาชน ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัว บี้คนปลดต้องอธิบาย แฉขบวนการล้ม สสส.เริ่มตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญยึดภาษีบาป 2% คืนคลัง มีบริษัทบุหรี่เอี่ยวคณะร่างฯ
       
       นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตรองประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (บอร์ด สสส.) กล่าวว่า การปลดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.ทั้ง 7 คน โดยให้เหตุผลว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนถือว่าไม่เป็นจริง เพราะ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 เขียนไว้ชัดเจนในมาตรา 18 ว่า ถ้าเป็นกรรมการบริษัทเอกชนหรือบุคคล มาเป็นกรรมการและรับเงินสสส. ถือว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หรือผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ถ้าเป็นกรรมการสมาคม มูลนิธิสาธารณะประโยชน์ ถือเป็นการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตัว เงินไม่ได้เข้ากระเป๋ากรรมการ ซึ่งที่กฎหมายเขียนเช่นนี้ก็มีเหตุผล เพราะต้องการให้ประเทศไทยมีองค์กรขนาดเล็กที่ทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม นักวิชาการ
       
       "อย่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็มีผู้แทน 2 คน คือ รมว.สาธารณสุข และปลัด สธ. เมื่อรับงบไปก็ไม่ได้เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะทำงานให้กับประชาชน มูลนิธิต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน เงินไม่ได้เป็นของกรรมการ เราไม่มีเงินเดือน ไม่มีเงินปันผล แต่ทำงานเพื่อประชาชน ทำงานเพื่อชุมชน ดังนั้น ต้องถือปฏิบัติในแนวเดียวกัน ถ้าไม่ใช่บริษัทเอกชน แต่ถือประโยชน์สาธารณะ กฎหมายจึงเขียนว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสม ดังนั้น เราไม่ห้าม แต่ระหว่างที่มีการพิจารณาให้ทุนจะห้ามไม่ให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วม อยู่ในห้องประชุม ซึ่งเป็นหลักการสากล ทั่วโลกทำอย่างนี้" นพ.วิชัย กล่าว
       
       นพ.วิชัย กล่าวว่า การปลดในครั้งนี้จะสรุปว่าเป็นการล้ม สสส.ไม่ได้ แต่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ต่อเนื่องกันมา ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว โดยเฉพาะเมื่อกลางปี 2558 ในช่วงท้ายของการเขียนร่างรัฐธรรมนูญมีการปิดห้องเขียน เร่งรัดเขียนเพิ่มมาตราหนึ่งเข้าไปโดยไม่ให้ส่งเงินภาษีร้อยละ 2 มาที่ สสส.โดยตรงอีก ทำให้ สสส.หมดสภาพการทำงาน เท่ากับเป็นการล้ม เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้กฎหมาย สสส.ไปขัดกันเอง แต่มีการต่อรอง ต่อสู้กันจนกระทั่งให้มีบทเฉพาะกาล ให้ สสส.อยู่ได้ 3 ปี ทั้งนี้ การเขียนช่วงนั้นมีบริษัทบุหรี่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคณะร่างรัฐธรรมนูญ มีการร่วมเดินทางไปประเทศพม่ากัน และในที่สุดมีการคัดค้านอย่างกว้างขวาง และมีข่าวรั่วออกมาจนเกิดการต่อต้าน สู้กันจนไม่มีการใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ มีการปรับข้อความให้สสส.ยังดำรงอยู่ได้
       
       "แต่สุดท้ายก็ส่ง คตร. กับ สตง.เข้ามาตรวจเข้ม โดย สสส.ไม่มีโอกาสได้ชี้แจงช่วงตรวจสอบ แต่กลับมีการออกข่าวว่า สสส. ทำผิด 3 เรื่อง คือ ทำนอกกรอบ มีการทุจริต และมีผลประทับซ้อน รวมถึงมีการออกข่าวสร้างความเสียหายให้ สสส. ว่าเป็นองค์กรชั่วร้าย กรรมการชั่วร้าย มีการตั้งองค์กร มูลนิธิต่างๆ ขึ้นมาเพื่อรับงบประมาณจาก สสส. แต่ก็ชี้แจงกันไปแล้ว พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ก็ออกมาแถลงว่าไม่ได้ผิดกฎหมาย เป็นเรื่องถูกต้องที่สามารถทำได้ แต่ตอนนี้กลับเอาเหตุผลนี้มากล่าวหาอีก จึงมองว่าไม่มีคำอธิบาย และไม่อยากหาคำอธิบาย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เพราะตนถูกปลดแล้วมาบอกว่าไม่ถูกต้อง เพราะตนจะอยู่ใน สสส.หรือไม่ก็ได้ ดังนั้น การปลดครั้งนี้ คนปลดต้องอธิบายว่ามีเหตุผลที่ถูกต้องเหมาะสม พอเพียงหรือไม่ ตนไม่บอกว่าเป็นอย่างไร แต่เขาต้องอธิบายและมาดูว่าฟังขึ้นหรือไม่" นพ.วิชัย กล่าว


ศอตช. พบบอร์ด สสส. พบใช้ช่องว่างกม.ส่อเอื้อชงงบฯ

โดย :

ศอตช. พบบอร์ด สสส. ใช้ช่องว่างกฎหมายเอื้อให้บริหารคล่องตัว ส่อชงขออนุมัติงบฯให้มูลนิธิตัวเอง100-600 ล้าน จำต้องแก้ไขไม่ให้เป็นปัญหาระยะยาว

แหล่งข่าว จากศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)  ระบุถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  ใช้มาตรา 44 โยกย้ายผู้บริหารสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า  จากการตรวจสอบแม้จะไม่พบประเด็นการทุจริต แต่ศอตช.จำเป็นต้องเสนอให้ใช้มาตรา 44 ย้ายบอร์ด สสส.ให้พ้นจากหน้าที่เนื่องจากตรวจสอบพบว่าบอร์ด สสส. ทุกคนล้วนมีตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิอื่น และต่างก็ทำเรื่องขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสสส. ทุกมูลนิธิ วงเงินรวมตั้งแต่ 100 - 600 ล้านบาท

แม้การอนุมัติจะทำได้ไม่ผิดกฎหมาย แต่กฎหมาย สสส. ออกมาเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในช่วงจัดตั้งองค์กร หลังบริหารงานมีการใช้ช่องว่างและข้อยกเว้นต่างๆ ไปทำให้การใช้จ่ายไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ หากไม่แก้ไขจะทำให้เกิดปัญหาระยะยาว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเสนอใช้มาตรา 44


คสช.ชี้สรรพากรไล่เบี้ย"เอ็นจีโอ"เหตุทำผิดมานานจนคิดว่าถูก

โดย :

ภายหลังคำสั่งปลด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.ก็เกิดกระแสคัดค้านจากองค์กรเอกชนที่มีหลายกลุ่มหลายองค์กร

ภายหลังคำสั่งปลด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.ก็เกิดกระแสคัดค้านจากองค์กรเอกชนที่มีหลายกลุ่มหลายองค์กร แต่ คสช.ก็ยืนยันว่า ที่ได้ดำเนินการไปนั้นอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย พร้อมทั้งเตือนว่า การเคลื่อนไหวใดๆ จะต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายเข่นกัน

ขบวน การสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน นัดประชุมใหญ่ ตัวแทนจากเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ ในวันจันทร์ที่ 11 มกราคม 2559 เพื่อประกาศแนวทางและมาตรการในการเคลื่อนไหว คัดค้านการปลดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พร้อมทั้งเตรียมต่อต้านผู้ที่จะมาเป็นกรรมการผู้ทรวงคุณวุฒิชุดใหม่ หากเป็นคนใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจรัฐ และตัวแทนจากกลุ่มทุนบางกลุ่มเข้ามาเป็นคณะกรรมการและผู้จัดการ สสส. คนใหม่

โดยเครือข่ายที่ตอบรับการประชุมเพื่อร่วมเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ได้แก่ ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเด็ก เยาวชนและครอบครัว เครือข่ายงดเหล้าและบุหรี่ เครือข่ายเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เครือข่ายองค์กรแรงงานไทย (อรท.) เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายชาติพันธุ์และผู้มีปัญหาสถานะ เครือข่ายสุขภาวะผู้หญิง เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายหมออนามัย เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายนักวิชาการปฏิรูประบบสุขภาพ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่น เครือข่ายสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เครือข่ายสมาคมวิศการ เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกัน เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน

เหตุผลที่ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาค ประชาชน ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพราะเชื่อว่า การดำเนินงานของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.นั้นไม่มีความผิดปกติใดๆ ส่วนกรณีที่คณะกรรมการของ สสส.บางคนดำรงตำแหน่งในองค์กรที่ได้รับทุนด้วยนั้น เกิดขึ้นเนื่องด้วย พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ถูกออกแบบให้ตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหาร สสส. ภายใต้ระเบียบการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่เข้มงวด เช่น คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องไม่สามารถอนุมัติงบประมาณในองค์กรที่ตนเองเกี่ยว ข้อง เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการแก้ไขระเบียบข้อบังคับ สสส.หลายฉบับ เน้นแก้ไขผลประโยชน์ทับซ้อนแล้ว

ในการให้สัมภาษณ์ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอ.ตช. ยืนยันว่า สาเหตุที่ต้องส่งเรื่องให้ หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อปลดกรรมการผู้ทรงคุณวิฒิ สสส.ทั้ง 7 คนก็เพราะเป็นเรื่องของการขัดกันซึ่งผลประโยชน์

พล.อ.ไพบูลย์ ยังกล่าวถึงองค์กรเอกชน หลายองค์กรกำลังเดือดร้อนจากการถูกสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง กรณีไปรับเงินสนับสนุนจาก สสส.แล้วไม่ได้ไปชำระภาษีว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่จะต้องเสียภาษี เพียงแต่เรื่องนี้ถูกละเลยกันมานาน

แหล่งข่าวจาก คสช.บอกกับ “ชั่วโมงที่ 26” ว่า สิ่งที่กำลังดำเนินการกับ สสส.ในขณะนี้ เป็นไปตามกรอบกฎหมาย ที่ต้องใช้กฎหมายหลายฉบับมาประกอบ เพราะ สสส.เป็นองค์กรที่รับเงินจากรัฐ จึงต้องใช้จ่ายเงินเป็นไปตามระเบียบ ตามกฎหมายที่มีอยู่จะอ้างเพียงแค่ว่า ดำเนินการตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 เพียงฉบับเดียวไม่ได้

ส่วน องค์กรเอกชนที่ไปขอรับเงินสนับสนุนจาก สสส.แล้วถูกสรรพากรเรียกเก็บภาษีนั้นก็เป็นไปตามกฎหมายเช่นกัน โดยมีกว่า 4,000 โครงการ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะสัญญาที่ทำไว้กับ สสส.ระบุว่า เป็นการจ้างทำของ เมื่อมีการว่าจ้าง ก็ต้องมีรายได้ เมื่อมีรายได้ ก็ต้องจ่ายภาษี ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งหากเรื่องนี้มีคนจะเคลื่อนไหวอย่างไรก็ต้องดูด้วยว่า ขณะนี้ยังมีคำสั่งของ คสช.ที่ห้ามการชุมนุมอยู่


5อดีตบอร์ดสสส.ไม่รู้มีบ.เหล้า-บุหรี่ จ้องล้มสสส.

โดย :

5อดีตบอร์ดสสส.ไม่รู้มีบ.เหล้า-บุหรี่จ้อง ล้มสสส. "สมพร" ยื่นหนังสือถึงนายกฯขอความเป็นธรรม “สงกรานต์” จี้รัฐตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อนทุกกระทรวง

จากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)อาศัยอำนาจตามมาตรา44ของรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)2557ออกคำสั่งให้กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จำนวน7คน ประกอบด้วย นพ.วิชัย โชควิวัฒน ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายสมพร ใช้บางยาง รศ.ประภาภัทร นิยม และนายวิเชียร พงศธร พ้นจากการเป็นกรรมการและการดำรงตำแหน่งในกองทุนดังกล่าว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มกราคม นายสมพร ใช้บางยาง อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการกีฬากองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ(บอร์ดสสส.) กล่าวว่า ตนได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและขอความเป็นธรรมในเรื่องดังกล่าว เป็นการยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองว่าไม่มีการทุจริตใดๆตั้งแต่รับราชการมา จนกระทั่งเข้ามาทำงานกับสสส. ซึ่งการเป็นบอร์ดสสส.ก็ไม่ได้มีข้อห้ามว่าเมื่อเป็นกรรมการมูลนิธิแล้วห้าม เป็นบอร์ด

“ที่ต้องยื่นหนังสือถึงนายกฯเพื่อเป็นการรักษาศักดิ์ศรีของผม ซึ่งทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ไม่มีทุจริต การทำงานไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นการทำงานเพื่อส่วนรวม และช่วงที่เป็นกรรมการมูลนิธิและกรรมการในสสส. ก็ไม่เคยเอาตำแหน่งไปอนุมัติเงินใดๆให้มูลนิธิ ช่วงที่มีการพิจารณาโครงการของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ผมก็ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณา ส่วนที่มีการระบุว่ามีขบวนการล้มสสส.โดยมีบริษัทเหล้า บุหรี่อยู่เบื้องหลังนั้น ผมไม่รู้ เพราะไม่ได้อยู่วงในขนาดนั้น”นายสมพรกล่าว

 ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพสสส. กล่าวว่าคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาตรวจสอบสสส. และรายงานว่าไม่พบการทุจริต แต่มีข้อกังวลกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งต้องพิจารณาดีๆ เพราะตนเองได้ลาออกจากกรรมการมูลนิธิวิถีสุขตั้งแต่ปี 2551และมาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.เพียงปีกว่าๆ ก็ไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไร

“เมื่อ คสช. จะแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ต้องทำทุกกระทรวงโดยควรตรวจสอบว่า กระทรวงใดมีข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ ควบคุมให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐ แต่ไปเป็นบอร์ดของรัฐวิสาหกิจ/บริษัท ที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ(Operator)เช่น ผู้บริหารของกระทรวงพลังงาน ไปเป็นบอร์ดของรัฐวิสาหกิจ/บริษัท ที่ทำกำไรจากธุรกิจพลังงาน และมีผลประโยชน์มหาศาลจากการเป็นบอร์ด ซึ่งเทียบกับการเป็นบอร์ด สสส.ไม่ได้เลยผลตอบแทนขึ้นอยู่กับผลกำไรของรัฐวิสาหกิจ/บริษัทด้วย เช่น มีโบนัส ตามผลกำไรจึงมีผลประโยชน์ขัดกันชัดเจน คสช.รับทราบหรือไม่ แล้วทำไม ไม่รีบแก้ไขให้รวดเร็วเหมือนจัดการกับบอร์ด สสส. หรือมีเหตุผลอื่นที่ คสช.ต้องรีบจัดการ สสส.ด่วนกว่า ซึ่งคงห้ามไม่ให้คนที่ติดตามสถานการณ์คิดไม่ได้”นายสงกรานต์ กล่าว

กรณีกลุ่มธุรกิจเหล้าบุหรี่เข้ามาแทรกแซงจ้องล้ม สสส. นายสงกรานต์ กล่าวว่า คงมีคนคิด เนื่องจากในต่างประเทศก็พบเห็นกันมาก่อน อย่างออสเตรเลีย มีการตั้งองค์กรคล้ายๆ สสส. ใช้งบจากภาษีเหล้า บุหรี่ แต่ธุรกิจก็หาช่องทางฟ้องร้องจนองค์กรล้มไป แต่ของไทย ไม่มีหลักฐานและคงพูดแบบนั้นไม่ได้เต็มที่ เพียงแต่คงมีคนคิด อย่างไรก็ตาม องค์กรแบบ สสส.คนส่วนใหญ่ในสังคมได้ประโยชน์ มีแต่ธุรกิจที่ทำลายสุขภาพ ทำร้ายสังคมเท่านั้นที่เสียประโยชน์ และมันเกิดกระบวนการทำลายองค์กรแบบ สสส. มาในหลายประเทศแล้ว เพราะธุรกิจเหล่านี้มีกำลังทุนมหาศาล ที่จะทำอะไรต่ออะไรเกิดขึ้นในสังคมนี้ได้แน่นอน ส่วนตัวแอบคิดว่ากรณี สสส. อาจมีการสอดไส้เรื่อง สสส. มาในคำสั่งนี้ภายหลังหรือไม่

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสารมวลชน สสส. กล่าวว่า ตนไม่ทราบเหตุผลของคำสั่งครั้งนี้หากบอกว่ามาจากผลประโยชน์ทับซ้อนจาก กรณีการนั่งกรรมการบอร์ดต่างๆ ข้อเท็จจริงคือ สสส.มีการกวดขันเข้มงวดมาก ไม่ให้มีการอนุมัติโครงการใดๆ ที่มีความทับซ้อนเลย ตนมานั่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดสสส.ประมาณ 1 ปีกว่า ตนไม่เคยอนุมัติโครงการหรือมีส่วนอนุมัติโครงการใดๆ ที่ตนสังกัดอยู่ หรือแม้แต่ก่อนหน้านี้ที่ตนเป็นอนุกรรมการในสสส.ก็ไม่เคยเช่นกัน ยิ่งล่าสุดการประชุมบอร์ดสสส.มีมติให้แก้ระเบียบสสส. กำหนดให้กรรมการที่มีตำแหน่งในบอร์ดอื่นๆควบคู่นั้น ให้ตัดสินใจเลือกเพียงตำแหน่งเดียวภายในระยะเวลา 90 วัน ซึ่งจริงๆในบอร์ดฯ ให้เวลา 180 วัน แต่ผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่านขอเพียง 30-60 วันด้วยซ้ำ แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบ

“จริงๆกรรมการแต่ละท่านอยู่ระหว่างทยอยลาออกจากบอร์ดอื่นๆ มี 2 ท่านเท่าที่ทราบขอลาออกจากบอร์ด สสส.ด้วย มี นพ.วิชัย โชควิวัฒน และรศ. ประภาภัทร นิยมขณะที่ผมอยู่ระหว่างลาออกจากตำแหน่งในบอร์ดอื่นๆเช่นกัน อย่างมูลนิธิองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยจึงไม่เข้าใจ ว่ายังไม่ทันให้เวลากรรมการได้ตัดสินใจออกจากตำแหน่ง ตามมติบอร์ดสสส. ก็กลับมีคำสั่งนี้แล้ว ซึ่งผมอยู่ในสถานะต้องปฏิบัติตามก็ต้องเป็นเช่นนั้น”นพ.ยงยุทธ กล่าว

ต่อข้อถามอาขมาจากการแทรกแซงของธุรกิจเหล้าบุหรี่ จ้องล้มล้าง สสส.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า เป็นข้อสันนิษฐาน เพราะเมื่อพิจารณาเหตุผลอื่นๆ ก็ไม่พบความน่าจะเป็น

 ด้านรศ.ประภาภัทร นิยม อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะวัฒนธรรม สสส. กล่าวว่าตนไม่ทราบถึงสาเหตุของการที่ถูกปลดในครั้งนี้ เพราะการทุจริตก็ไม่มี และการเอากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิออกทำได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้คำสั่งมาตรา44ส่วนตัวไม่ได้กังวลอะไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น เชื่อว่าต่อให้ไม่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง7คนนี้ สสส.ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ตามเจตนารมณ์ และเชื่อว่าไม่ว่าผู้ใดที่จะเข้ามาทำก็สามารถเดินหน้าได้ เพราะ สสส.เป็นของสังคมไทยอยู่แล้ว สำ

 นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาชุมชน สสส. กล่าวว่า ตนไม่ทราบถึงสาเหตุการโดนปลด แต่ก็ไม่ได้ติดใจอะไร และการถูกปลดก็ไม่ใช่คดีทุจริตจึงมีความกังวลใดๆ ต่อจากนี้ก็คงทำงานที่มีอยู่ต่อไป ส่วนกรณีที่มีการระบุว่ามีบริษัทเหล้าบุหรี่พยายามจะล้มสสส.นั้น ตนอยู่วงนอกจึงไม่ทราบและไม่มีหลักฐานในเรื่องนี้


สมพร' ยื่นขอความเป็นธรรม หลังถูกปลดพ้นบอร์ด สสส.

โดย :

"สมพร ใช้บางยาง" ยื่นขอความเป็นธรรม "ประยุทธ์" หลังโดนม.44 ปลดจากบอร์ด สสส. ยันเพื่อกู้ศักดิ์ศรีตัวเอง ตลอดชีวิตไม่มีทุจริต

นายสมพร ใช้บางยาง อดีตกรรมการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ผ่านนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความเป็นธรรมและชี้แจงกรณีถูกคำสั่งคสช.ที่1/2559ตามมาตร 44ให้พ้นจากกรรมการสสส.

โดยนายสมพร ระบุในคำร้องว่าเนื่องจากคำสั่งคสช.ดังกล่าวไม่ได้ระบุเหตุผลในการให้พ้นจาก ตำแหน่งกรรมการสสส.แต่ตนคาดว่า น่าจะมาจากกรณีที่ตนเป็นกรรมการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ที่รับเงินสนับสนุนจากสสส.ที่มองว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน จึงขอเรียนว่าการรับเป็นกรรมการมูลนิธิฯนั้นได้รับการทาบทามจากนายแพทย์ ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ที่มองว่าตนมีประสบการณ์ในกระทรวงมหาดไทยในหลายตำแหน่ง รู้พื้นที่ รู้ตัวบุคคลในระดับล่างอย่างดีและกว้างขวางในประเทศ จะช่วยกำหนดทิศทางเชิงนโยบายและรณรงค์ในกลุ่มคนที่อยู่ในชนบทได้ เพราะตามสถิติพบว่าผู้สูบบุหรี่อีกจำนวนมากที่เข้าถึงได้ยาก และตนรับผิดชอบงานสุขภาวะชุมชนของสสส. ที่ทำงานกับชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ2,000แห่ง ซึ่งตนพิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และไม่มีระเบียบของสสส.หรือข้อห้ามใดใดกำหนดไว้จึงรับเป็นกรรมการมูลนิธิ และตลอดระยะเวลาที่เป็นกรรมการสสส.ไม่เคยใช้บทบาทของสสส.เพื่อประโยชน์ด้าน งบประมาณหรือประโยชน์อื่นๆให้กับมูลนิธิ และในการพิจารณาอนุมัติงบประมาณสนับสนุนมูลนิธิฯครั้งสุดท้ายในการประชุม บอร์ดสสส.ครั้งที่10/2556เมื่อวันที่20ธ.ค.2556งบประมาณจำนวน85.6ล้านบาท ตนก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย แต่เมื่อทราบว่ามีการท้วงติงจากหน่วยงานตรวจสอบจึงได้ยื่นหนังสือลาออกจาก การเป็นรองประธานมูลนิธิฯตั้งแต่วันที่2พ.ย.2558

นายสมพร ชี้แจงอีกว่า การให้ตนพ้นจากกรรมการสสส. และมีการให้สัมภาษณ์ของ ประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) กับสื่อมวลชนว่ากรณีของสสส.มีเรื่องการทุจริตเกิดขึ้น ทำให้สังคมเข้าใจว่าการให้กรรมการสสส.ทั้ง7คน พ้นจากตำแหน่งมีสาเหตุมาจากการทุจริตทำให้ตน ครอบครัวและวงศ์ตระกูล เสื่อมเสียชื่อเสียง ขาดความศรัทธา และความน่าเชื่อถือ จึงขอยืนยันด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีว่าตลอดชีวิตการรับราชการตั้งมใจปฏิบัติ หน้าที่อย่างมุ่งมั่น เสียสละ สุจริต เที่ยงตรง เพื่อประโยชน์ส่วนรวมมาโดยตลอด สามารถตรวจสอบได้และจะถือปฏิบัติเช่นนี้จนกว่าจะหาไม่

“จึงกราบ เรียนมาเพื่อโปรดทราบ และพิจารณาให้ความเป็นธรรมตามที่ท่านจะเห็นสมควร ผลเป็นประการใดกรุณาแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบด้วยจักเป็นพระคุณยิ่ง”นายสมพรระบุ ในคำร้อง

นายสมพร กล่าวด้วยว่า ตนจะไม่ฟ้องร้องใดๆ แต่อยากได้ศักดิ์ศรีกลับคืนมา เพราะทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มาโดยตลอด อยากให้สังคมได้เข้าใจถึงความเป็นจริง ไม่ได้คิดว่าจะมาเรียกร้องเอาตำแหน่งใดๆ แต่ไม่สบายใจที่ชื่อเราเข้าไปอยู่ในกลุ่มของคนทุจริต ทำให้สังคมมองเราแบบผิดๆ เพราะตนไม่ได้ทำงานให้สสส.อย่างเดียว แต่ตนทำงานให้สังคมด้วย ตนต้องทำให้คนเชื่อมั่นมามีความซื่อสัตย์และน่าเชื่อถือ ยืนยันว่าไม่ท้อแท้ต่อการทำงาน และจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เรื่องแบบนี้ทนได้อยู่แล้ว เพราะทนมาตลอด อย่างไรก็ตามการยื่นหนังสือครั้งนี้เป็นในส่วนของตนคนเดียวไม่เกี่ยวกับ บอร์ดคนอื่นๆ เพราะภายหลังจากมีคำสั่งก็ไม่ได้พูดคุยกับบอร์ดคนอื่นแต่อย่างใด

“การ มาชี้แจงให้นายกฯ ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ทั้งนี้ผมไม่ได้ติดใจในเรื่องตำแหน่ง แต่มาเพื่อให้นายกฯและประชาชนทราบว่าเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์ตลอดชีวิต มุ่งมั่นทำความดี และไม่เคยแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ ในองค์กรสสส. อยากให้รับทราบและให้ความเป็นธรรม โดยจะไม่ฟ้องร้องอะไรส่วนเรื่องระเบียบที่อาจจะผิดหรืออะไร เราไม่ว่ากัน เป็นเรื่องที่เราไม่รับรู้ แต่เราเชื่อว่าในความเป็นจริงเราทำสิ่งต่างๆ ถูกต้องตามระเบียบ แต่การออกคำสั่งให้เราอยู่กลุ่มแบบนั้นทำให้คนเข้าใจว่าเราอยู่ในกลุ่ม ทุจริตได้ มาวันนี้เพื่อรักษาเกียรติ ศักดิ์ศรีของตัวเอง ส่วนการใช้มาตรา 44 จะรุนแรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการหรือไม่นั้น อยู่ที่ข้อเท็จจริง หากมีหลักฐานชัดเจน มีการทุจริตแท้จริงก็จำเป็นต้องทำเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ข้าราชการ”นายสมพร กล่าว


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แฉ ขบวนการล้ม สสส. เริ่มก่อน ปลดบอร์ด บ.บุหรี่เอี่ยว ยึดคืนภาษีบาป ย้ำ กก.มูลนิธิ ไม่ประโยชน์ทับซ้อน

view