จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์
กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร เพื่อยกเว้นการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มียอดขาย 500 ล้านบาทขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ในการยกเว้นการตรวจสอบภาษีดังกล่าว กรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการขอยกเว้นไว้ โดยขั้นตอนดังกล่าว คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับประโยชน์ตาม
พระราชกำหนด จะต้องมาจดแจ้งต่อกรมสรรพากร โดยยื่นคำขอจดแจ้งผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากรที่ http://www.rd.go.th ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2559 ถึงวันที่ 15 มี.ค. 2559
ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับประโยชน์ดังกล่าว จะต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิและมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา ซึ่งมีระยะเวลาครบ 12 เดือน และมีวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 31 ธ.ค. 2558 ซึ่งหากมีการจดแจ้งกับกรมสรรพากรแล้ว บริษัทดังกล่าวมีรายได้เกินกว่า 500 ล้านบาท บริษัทดังกล่าวจะยังคงได้รับการยกเว้นการตรวจสอบตามพระราชกำหนดดังกล่าว
นอกจากนี้ กรมสรรพากร ระบุว่า แม้จะมีการจำกัดรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท แต่จะไม่มีการจำกัดทุนจดทะเบียนของบริษัทที่จดแจ้ง รวมทั้งเปิดให้บริษัทที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สามารถจดแจ้งได้
หลังจากจดแจ้งผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากรแล้ว กรมสรรพากรจะส่งข้อความแจ้งผ่านอีเมลของบริษัทที่ให้ไว้กรมสรรพากร ว่าได้รับการจดแจ้งเรียบร้อยแล้ว
ที่สำคัญ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค. 2559 เป็นต้นไป และจะต้องไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากร รวมทั้งต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้ครบถ้วน ตามประเภทภาษีที่บริษัทมีหน้าที่ในการยื่นแบบและชำระภาษี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 เป็นต้นไป
โดยบัญชีและงบการเงินที่บริษัทจัดทำขึ้นและยื่นเสียภาษีต่อกรมสรรพากรนั้น ต่อไปจะให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินใช้บัญชีและงบการเงินดังกล่าวเป็นหลักฐานในการขอสินเชื่อ เพราะถือว่าเป็นบัญชีและงบการเงินที่สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมการเงินให้กับกิจการเหล่านั้น ทำให้รัฐสามารถให้ความช่วยเหลือกับ
ผู้ประกอบการได้ตรงจุดและตรงต่อความต้องการของผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่า บริษัทที่ได้จดแจ้งแล้ว กรมสรรพากรจะยกเลิกการตรวจสอบในอดีตทั้งหมดใช่หรือไม่ เรื่องนี้กรมสรรพากร ระบุว่า บริษัทได้จดแจ้งแล้วและอยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบภาษีอากร เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีปลอม หลีกเลี่ยงภาษีอากร หรืออยู่ในระหว่างการถูกดำเนินคดี ก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2559 กรมสรรพากรจะยังคงดำเนินการเฉพาะกรณีนั้นๆ ต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ
นอกจากนี้ ในกรณีที่หากบริษัทอยู่ระหว่างขอคืนภาษีอากร เจ้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรจะยังคงสามารถดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนภาษีที่ขอคืนนั้นได้
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจากการจดแจ้งต่อกรมสรรพากรตามพระราชกำหนดฉบับนี้ นอกเหนือจากการไม่ถูกตรวจสอบหรือไต่สวนการเสียภาษีย้อนหลังแล้ว หากเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีที่จัดตั้งก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2559 และมีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นและลดภาษี
ทั้งนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีกำไรสุทธิไม่เกิน 3 แสนบาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2559 และ 2560 จะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนเอสเอ็มอีที่มีกำไรสุทธิ 3 แสนบาทขึ้นไป จะได้รับการยกเว้นภาษีในปีบัญชี 2559 และเสียภาษี 10% ในปีบัญชี 2560
โดยธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวจะต้องยื่นคำขอจดแจ้งผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากรที่ http://www.rd.go.th ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. ถึงวันที่ 15 มี.ค. 2559
ว่าเป็นผู้ประกอบการตามพระราชกำหนดข้างต้น และต้องไม่ถูกเพิกถอนการได้รับการยกเว้นตามพระราชกำหนดฯ ดังกล่าวด้วย
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน