จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ลงทุนทั่วโลก โดย สุรศักดิ์ ธรรมโม นักกลยุทธ์การลงทุน Standard Chartered
หลังตลาดเปิดทำการในปี 2559 เป็นต้นมา ดัชนีหุ้นทั่วโลกปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเมื่อเปรียบเทียบดัชนี ณ ตลาดปิดเมื่อคืนวันพุธที่ 20 ม.ค. 59 เทียบกับสิ้นปี 2558 พบว่า ดัชนีหุ้นโลก (MSCI AC World Index) ปรับลดลง 11% สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2556 ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐ ดัชนีหุ้นยุโรป (Euro Stoxx 600) และดัชนีหุ้นญี่ปุ่น (ดัชนีหุ้นนิกเคอิ) ลดลง -9%, -11.9% และ -13.8% ตามลำดับ
ถ้ามองในด้านการวิเคราะห์ เชิงเทคนิค พบว่าดัชนีตลาดหุ้นหลักของโลก ขณะนี้อยู่ต่ำกว่าระดับแนวรับหลัก (Major Support Line) และบางตลาด เช่น ยุโรปและญี่ปุ่นได้เข้าสู่ภาวะตลาดหมีหรือตลาดขาลง (Bearish) เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ในส่วนของดัชนีหุ้นจีน (Shanghai Composite) ลดลงที่ -16% และดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับเดือน ก.ย. และถ้าเทียบกับระดับสูงสุดในเดือน เม.ย. 58 ขณะนี้ดัชนีหุ้นจีนปรับลงประมาณ 40%
ปัจจัยที่กดดันดัชนีหุ้นที่ปรับลงทั่วโลกมาจาก 1) การปรับลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่อเนื่อง 2) นักลงทุนกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนว่าจะขยายตัวอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ และแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนของจีนที่มีความผันผวนอย่างมาก 3) การที่ตลาดหุ้นจีนได้ถูกประกาศมาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์ในเวลาไล่เลี่ยกัน (ปัจจุบันทางการจีนยกเลิกมาตรการนี้แล้ว)
4) ความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์การเมืองที่เพิ่มขึ้น อาทิ การทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียในตะวันออกกลาง ความเสี่ยงที่อังกฤษจะแยกตัวจากสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีการทำประชามติในปีนี้ และความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 5) จิตวิทยาของนักลงทุนยังคงเปราะบางต่อปัจจัยลบที่เกิดขึ้นในระยะใกล้นี้ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ไม่นาน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 3.4% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.6%
มุมมองการลงทุนของ Standard Chartered Bank Wealth Management Group ต่อเหตุการณ์นี้ คือ
1) เรามองว่าในระยะสั้น ตลาดยังคงผันผวน แต่ถ้าพิจารณาไปยังประเทศพัฒนาแล้วพบว่า ยังไม่มีสัญญาณของการปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว และการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วในปีนี้ ยังถูกคาดว่าจะขยายตัวในอัตราเดียวกับปีที่ผ่านมา
ในส่วนของนักลงทุนเองยังคงจับตาผลประกอบการในไตรมาส 4 ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งกำลังทยอยประกาศอยู่ในช่วงนี้ และแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) รวมทั้งปฏิกิริยาและนโยบายจากประเทศจีนว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือ ไม่ ซึ่งถ้ามีจะเป็นการฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนให้กลับมา
2) การลงทุนในตราสารหนี้จะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตโฟลิโอ ทั้งนี้ ตามที่เราได้ระบุในรายงานวิจัยแนวโน้มตลาดในปีนี้ว่า แม้ว่าเราจะยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง แต่เรายังเชื่อว่า ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจสหรัฐได้เคลื่อนย้ายผ่านจุดสูงสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจไป แล้ว การเพิ่มการลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ในช่วงที่เหลือของปีཷ จะเป็นการช่วยลดความผันผวนของพอร์ตโฟลิโอ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ผลตอบแทนของการลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก ท่ามกลางภาวะตลาดที่ผันผวน
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน