สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร(3),(4),(5)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ขอนำประเด็นการยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร

สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ตามพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษี อากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 มาปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้ 

ปุจฉา มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการไม่ได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร อย่างไร

วิสัชนา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะไม่ได้รับยกเว้นกรณีดังต่อไปนี้ (มาตรา 4 วรรคสอง แห่งพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนฯ)

1. กรณีอยู่ระหว่างการตรวจสอบภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร โดยมีหมายเรียกที่ออกก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 โดยเจ้าพนักงานประเมินสามารถดำเนินการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีหรือเดือนภาษีที่ออก หมายเรียกเท่านั้น รวมทั้งการดำเนินคดีอาญาตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับความผิดสำหรับภาษีอากร ที่ตรวจสอบดังกล่าว เช่น

บริษัท ง จำกัด ถูกเจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 โดยบริษัท ง จำกัด ได้รับยกเว้นและได้มีการจดแจ้งตามพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินสามารถดำเนินการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวต่อไปได้ แต่ไม่มีอำนาจออกหมายเรียกตรวจสอบสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีอื่น ๆ ที่มีวันเริ่มต้นของรอบระยะเวลาบัญชีก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 ซึ่งมิได้มีการออกหมายเรียกไว้ก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559

2. กรณีอยู่ระหว่างการตรวจตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมิน ตามมาตรา 88/3 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ดำเนินการก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 โดยเจ้าพนักงานประเมินสามารถดำเนินการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรสำหรับเดือนภาษีที่ดำเนินการตรวจสอบเท่านั้น รวมทั้งการดำเนินคดีอาญาตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับความผิดสำหรับภาษีอากร ที่ตรวจสอบดังกล่าว แต่เจ้าพนักงานประเมินจะไม่มีอำนาจเข้าตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่มใน เดือนภาษีอื่นซึ่งเป็นเดือนภาษีก่อนเดือนภาษีมกราคม 2559 ที่ยังไม่ได้เข้าไปตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่ม

3. กรณีเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีปลอมหรือเป็นผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอม หรือกระทำการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร โดยแสดงรายจ่ายอันเป็นเท็จต่อกรมสรรพากร เจ้าพนักงานประเมินสามารถดำเนินการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรที่เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวได้ รวมทั้งการดำเนินคดีอาญาตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับความผิดสำหรับกรณีนั้น ๆ

4. กรณีอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นพนักงานอัยการ หรือชั้นศาล ยังคงดำเนินการต่อไปได้

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


พระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร(4

โดย :

ขอนำประเด็นการยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร

และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ตามพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษี อากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 มาปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้ 

ปุจฉา  มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการปฏิบัติของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นไม่ได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร อย่างไร

วิสัชนา  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ที่ได้รับยกเว้นฯ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (มาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนฯ)

1. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล พร้อมชำระภาษี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาในการยื่นรายการ ในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป เช่น

บริษัท ฉ จำกัด มีวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี โดยรอบ ระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 บริษัท ฉ จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2559 และต้องยื่นรายการภาษีเงินได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีถัดไปทุกรอบระยะเวลา บัญชี และถ้ามีภาษีที่ต้องชำระ ต้องชำระภาษีพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการดังกล่าว แต่ถ้ามีผลการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้วปรากฏว่ามีผลขาดทุน ก็ไม่ต้องชำระภาษีพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการดังกล่าวแต่อย่างใด

2. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะ แล้วแต่กรณี ในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องยื่นตามที่ประมวล รัษฎากรบัญญัติไว้ พร้อมชำระภาษี ถ้ามี ทั้งนี้ สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการที่ต้องกระทำในเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

3. ยื่นแบบขอเสียอากรเป็นตัวเงิน สำหรับตราสารที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร และต้องชำระเงินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

4. มีการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ (บัญชีเล่มเดียว) ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

5. ไม่กระทำการใด ๆ ที่เป็นการเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

อนึ่ง กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าว อธิบดีกรมสรรพากรจะมีคำสั่งเพิกถอนการได้รับยกเว้นการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และดำเนินคดีในความผิดอาญาตามประมวลรัษฎากร ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เมื่ออธิบดีกรมสรรพากรมีคำสั่งเพิกถอนการได้รับยกเว้นแล้ว ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไม่เคยได้รับยกเว้นการใด ๆ โดยเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และดำเนินคดีในความผิดอาญาตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร (มาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนฯ)


พระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร(5

โดย :

ขอนำประเด็นการยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร

สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ตามพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษี อากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 และการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 มาปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้ 

ปุจฉา  มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SMEs อย่างไร

วิสัชนา  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็น SMEs จะได้รับสิทธิในการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. ไม่มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีใดเกินห้าล้านบาทและไม่ มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีใดเกินสามสิบล้าน บาท

2. ได้จดแจ้งเป็นผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

3. ไม่ถูกเพิกถอนการได้รับยกเว้นตามกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

     คำว่า “ขาย” หมายความว่า จำหน่าย จ่าย หรือโอนสินค้า โดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทน และให้หมายความรวมถึงสัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอน ไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว และการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร

     คำว่า “สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น

     คำว่า “บริการ” หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า

ปุจฉา  หลักเกณฑ์การยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SMEs กำหนดไว้อย่างไร

วิสัชนา  มีการกำหนดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิให้แก่ SMEs นั้น ต้องเป็น SMEs ที่ได้จัดตั้งขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 ดังต่อไปนี้

1. กำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2559

2. กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาทแรก สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2560 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2560

3. ให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตาม (2) และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละสิบของกำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่เกิน 300,000 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2560 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2560


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร(3)

view