จากประชาชาติธุรกิจ
อัตราการว่างงานของสหรัฐที่ลดต่ำกว่า 5% เป็นครั้งแรกนับจากกุมภาพันธ์ 2551 ทำให้ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ถึงกับออกมาประกาศด้วยตนเองว่า ตัวเลขคนตกงานในเดือนมกราคมที่ผ่านมาลดเหลือ 4.9% หรือต่ำลงเกือบครึ่งหนึ่งจากช่วงที่นายโอบามาเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศ
ตัวเลขการว่างงานล่าสุดน่าจะสะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ สหรัฐ ทว่า นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า มีเงาทะมึนรออยู่เบื้องหน้าจากหางเลขของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ลดฮวบ
คนงานถูกลอยแพ
เดอะ การ์เดียน ชี้ว่า ผลกระทบเบื้องต้นจากการลดลงของราคาน้ำมัน ได้แก่ การปลดคนงานในอุตสาหกรรมพลังงานสหรัฐ โดยในปี 2558 มีการลดตำแหน่งงานในเซ็กเตอร์ดังกล่าวถึง 104,500 ตำแหน่ง เทียบกับ 4,100 ตำแหน่งในปี 2557
นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิ่งยังทำให้ภาคเอกชนลงทุนใน อุตสาหกรรมพลังงานลดลง และมีความเสี่ยงที่จะล้มละลาย ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งย่อมกระทบต่อภาคการธนาคารเป็นลูกโซ่
ด้าน วอลล์สตรีต เจอร์นัล ชี้ว่า ผลเสียจากการลดลงของราคาน้ำมันต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ส่อเค้าจะกลบผลดี เนื่องจากราคาที่ลดลงสะท้อนถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกโดยรวม ตั้งแต่ดีมานด์ที่ชะลอตัว ซัพพลาย วัตถุดิบ แรงงานและกำลังการผลิตที่ล้นเกินความต้องการ ราคาพลังงานถูกลงยังหมายถึงการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ที่เริ่มฉุดการส่งออกของสหรัฐ
ผลดีแผ่วลง
แน่นอนว่า ราคาพลังงานที่ต่ำลงย่อมส่งผลดีต่อการบริโภคภาคครัวเรือน ซึ่งประหยัดเงินค่าเชื้อเพลิงได้ถึง 140,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว เกือบ 2 เท่าของปี 2557 การลดลงของราคาน้ำมันมีส่วนในการเติบโตของการบริโภคปี 2558 ราว 0.5%
อย่างไรก็ตาม อานิสงส์จากน้ำมันถูกที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐกลับต่ำกว่าที่คาด เนื่องจากหนี้ภาคครัวเรือนยังสูง ประกอบกับรายจ่ายด้านที่อยู่อาศัย สุขภาพและการศึกษาปรับเพิ่มขึ้น การจับจ่ายของคนอเมริกันจึงยังไม่เฟื่องฟูมากนัก
ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมพลังงานที่เคยเป็นพระเอกของธุรกิจการปล่อยสินเชื่อในช่วงที่เกิด วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์แทนที่ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มแสดงอาการป่วย บริษัทด้านพลังงานหลายแห่งทยอยผิดนัดชำระหนี้และปิดกิจการ ทำให้สถาบันการเงินระงับการให้เงินกู้หรือปฏิเสธการอนุมัติสินเชื่อให้กับ อุตสาหกรรมดังกล่าว
นายเดวิด โรเซนเบิร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากกองทุนบริหารสินทรัพย์ กลูสกิน เชฟฟ์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ มองว่า ถ้าการขยายสินเชื่อซบเซาลง ผลเสียจะขยายวงกว้างไปไกลกว่าอุตสาหกรรมพลังงานและเหมืองแร่ ซึ่ง "เป็นเรื่องน่ากังวลมาก"
หางเลขจากตลาดเกิดใหม่
นักลงทุนจำนวนมากไม่ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงจากประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งถูกกดดันจากราคาที่ต่ำลงให้ต้องลดกำลังการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็น สินค้าส่งออกสำคัญ เนื่องจากมองว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐขับเคลื่อนโดยภาคบริการมากกว่าภาคการผลิต แต่ต้องไม่ลืมว่า ภาคบริการส่วนใหญ่ในสหรัฐดำเนินธุรกิจอำนวยความสะดวกให้กับการผลิตวัตถุดิบ ดังนั้น ภาวะซบเซาในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าย่อมสั่นสะเทือนธุรกิจภาคบริการอย่าง หลีกเลี่ยงไม่ได้
ในทำนองเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์บางสำนักประเมินผลกระทบของการชะลอตัวในภาคผลิตและการค้าต่าง ประเทศของสหรัฐต่ำเกินไป เพราะมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐพึ่งพาการบริโภคภายประเทศเป็นหลักต่างจากประเทศ กำลังพัฒนาที่อิงอยู่กับการส่งออก ทว่า โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤตการเงินโลกครั้งล่าสุด ทำให้สหรัฐมีภูมิคุ้มกันลดลง
ข้อมูลจากมอร์แกน สแตนลีย์ ชี้ว่า หลังสหรัฐสิ้นสุดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2552 การส่งออกครองสัดส่วนในการเติบโตราว 15% เพิ่มจาก 9% ในช่วงที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวก 7 ปีก่อนหน้านั้น สะท้อนว่า ราคาโภคภัณฑ์ต่ำและการแข็งค่าของดอลลาร์อาจกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐมากกว่าที่ คาดกันไว้
ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่า ภาคการผลิตจะมีสัดส่วนในจีดีพีสหรัฐเพียง 1 ใน 8 แต่บริษัทจดทะเบียนใน S&P 500 มีรายได้จากบริษัทลูกหรือสินทรัพย์ในต่างประเทศ ถึงราว 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด
พลังงานราคาถูกที่ถูกมองว่าเป็นยากระตุ้นความ รู้สึกอยากจับจ่ายของผู้บริโภคชาวอเมริกัน กลับมียาพิษสอดไส้เอาไว้ เมื่อบวกกับดอลลาร์ที่แข็งขึ้น มีแนวโน้มจะฉุดให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐพลาดเป้าหมายของธนาคารกลางอีกครั้ง
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน