ปะทะ! ระหว่างทหารกับพระสงฆ์ ที่พุทธมณฑล
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เผยเกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารกับพระสงฆ์ จากกรณีจัดประชุม"สกัดแผนล้มล้างการปกครองคณะสงฆ์ไทย" เหตุรัฐบาลปล่อยให้บางกลุ่มตั้งสมเด็จพระสังฆราช
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเหตุปะทะกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับพระสงฆ์ มีการแชร์ภาพและคลิปเป็นจำนวนมากในขณะนี้ จากกรณีเครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคีพุทธบริษัท 4 ทั่วประเทศ (คสพ.) ได้แก่ ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) เครือข่ายพระนิสิต มจร. ทั่วประเทศ เปรียญธรรมสมาคม สมาคมทางสายกลาง สมาคมเปรียญธรรม 9 ประโยค สหพันธ์เปรียญธรรม องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เครือข่ายคณะสงฆ์ภาค ได้จัดประชุม"สกัดแผนล้มล้างการปกครองคณะสงฆ์ไทย"
โดยตั้งแต่ช่วงเช้ามาพระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมากทยอยเดินทางมายังพุทธมณฑล เนื่องจากรัฐบาลปล่อยให้กลุ่มคนบางกลุ่มออกมาย่ำยีคณะสงฆ์ รวมทั้งแสดงจุดยืนการเสนอตั้งสมเด็จพระสังฆราช รวมทั้งสนับสนุนให้บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ในรัฐธรรมนูญ
สำหรับการประชุมจะเริ่มอย่างเป็นทางการในเวลา 13.00 น.รวมทั้งเครือข่ายคณะสงฆ์ และองค์กรภาคีพุทธบริษัท 4 ทั่วประเทศ จะออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนในเวลา 17.30 น. การประชุมครั้งนี้จะดำเนินการไปด้วยความสงบ โดยคาดว่าจะมีพระสงฆ์มาร่วมกว่า 20,000 รูป
ผู้สื่อข่าวยังรายงานว่า บรรยากาศเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา เป็นไปอย่างตรึงเครียด เนื่องจากมีพระสงฆ์และประชาชนจำนวนมาก ทยอยเดินทางมาเข้าร่วมงานในพุทธทณฑล แม้ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารราบที่ 9 จำนวนกว่า 50 นาย จะมีการนำรั้วลวดหนาม มาปิดกั้นไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา
ต่อมา มีรถขนเสบียงอาหารและน้ำดื่ม รวมไปถึงรถสุขาพยายามเข้าไปในพื้นที่ แต่เจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตให้นำเข้าไป โดยได้นำรถจี๊ป มาจอดปิดกั้นไว้กลางถนน จึงทำให้พระสงฆ์บางกลุ่มแสดงความไม่พอใจและพยายามช่วยกันยกรถ จึงเกิดการผลักดันเจ้าหน้าที่ทหาร ทำให้เกิดเหตุชุลมุนเล็กน้อย ก่อนเหตุการณ์จะยุติไป โดยฝ่ายพระสงฆ์สามารถนำรถยนต์เข้าไปในพื้นที่ได้สำเร็จ
คสช.หวังม๊อบพระสงฆ์ เสนอความเห็นผ่านช่องทางที่ถูกต้อง
ด้านพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงกรณีการเผชิญหน้ากันระหว่างพระสงฆ์และทหาร ที่ไปดูแลความเรียบร้อยบริเวณพุทธมณฑล จ.นครปฐม ว่า ล่าสุดฝ่ายทหาร ตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด และฝ่ายปกครอง ได้หารือกับพระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการ ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับปากว่าจะไม่มีการค้างคืน
แต่ขอไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในฝ่ายความมั่นคงสนับสนุนให้มีการนำเสนอความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะต่างๆผ่านช่องทางที่กำหนดไว้ ซึ่งเห็นว่าการรวมตัวของพระสงฆ์ในวันนี้ อาจเป็นการแสดงออกถึงความขัดแย้ง ซึ่งไม่อยากให้เกิดภาพแบบนี้ เพราะประเทศชาติอยู่ในช่วงเดินหน้าและปฏิรูปประเทศ
"ส่วนการที่เจ้าหน้าที่ไปตั้งด่านบริเวณปากทางเข้าพุทธมณฑล ก็เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย โดยอนุญาตให้เดินเท้าเข้าไปได้ แต่ไม่อนุญาตรถขนาดใหญ่ จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดและกระทบกระทั่งกัน"พ.อ.วินธัยกล่าว
ม็อบพระฉุนทหารไม่ให้รถเข้าพุทธมณฑลเกิดเหตุปะทะชุลมุน
จาก โพสต์ทูเดย์
กลุ่มพระสงฆ์-ประชาชนร่วมชุมนุมพุทธมณฑลไม่พอใจทหารห้ามรถเข้าในพุทธมณฑล จนเกิดเหตุเชผฺญหน้าวุ่นวายเล็กน้อย
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. หลังจากที่เครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคีพุทธบริษัท 4 ทั่วประเทศ อาทิ ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย (ศพศ.), สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) และองค์กรภาคี ได้จัดงานสัมมนา และ ปฏิบัติธรรม เรื่อง "สกัดแผนล้มล้างการปกครองคณะสงฆ์ไทย" ที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยมีพระสงฆ์และประชาชนเดินทางมาชุมนุมตั้งแต่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา และมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อย โดยมีการตั้งจุดตรวจยานพาหนะที่ผ่านเข้าออกอย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัย
ล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายได้มีรถขนเสบียงอาหาร และรถสุขา ของกลุ่มผู้ชุมนุมได้เตรียมเข้าไปภายในพุทธมณฑล แต่เจ้าหน้าที่ทหารยังไม่อนุญาตให้เข้า ทำให้กลุ่มพระสงฆ์และประชาชนที่มาร่วมชุมนุมเกิดความไม่พอใจและเข้ารื้อลวดหนาม รวมทั้งป้ายหยุดตรวจบนถนนออกเพื่อให้รถผ่านไปได้ จนเกิดความวุ่นวายเล็กน้อย ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารได้ถอยกำลังออกมาสังเกตการณ์โดยรอบพุทธมณฑลแทน
สำหรับการชุมนุมดังกล่าวเป็นการแสดงจุดยืนว่า เครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคี ไม่พอใจรัฐบาลที่ปล่อยให้ มีกลุ่มบุคคลวิจารณ์คณะสงฆ์ รวมทั้งแสดงจุดยืนการเสนอตั้งสมเด็จพระสังฆราช รวมทั้งสนับสนุนให้บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ในรัฐธรรมนูญ โดยการจัดกิจกรรมดังกล่าวมี พระเมธีธรรมจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย (ศพศ) เป็นผู้ประสานงาน
ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์พระพุทธศาสนา เปิดเผยว่า การออกมารวมตัวกันของกลุ่มพระสงฆ์ในวันนี้ ส่วนตัวมองว่าน่าจะเป็นการรวมตัวกันเพื่อปกป้องมหาเถรสมาคม (มส.)
"เรื่องนี้มองว่า คณะสงฆ์และมส.เป็นพระพุทธศาสนา แต่ในข้อเท็จจริง พระธรรมวินัยเป็นศาสนาและพุทธศาสนา ส่วนคณะสงฆ์และมส.เป็นพุทธบริษัท มีหน้าที่รักษาพระพุทธศาสนาจึงสามารถถูกตรวจสอบได้" นายไพบูลย์ กล่าว
ชมคลิป https://www.facebook.com/bpct2556/videos
"พระเมธีฯ"เข้ายื่น 5 ข้อเรียกร้องต่อพล.อ.ประวิตรที่ทำเนียบฯ
จาก โพสต์ทูเดย์
พระเมธีธรรมจารย์ เข้ายื่น 5 ข้อเรียกร้องต่อ พล.อ.ประวิตรที่ทำเนียบฯ ขอนายกฯยึดมติมหาเถรฯแต่งตั้งสังฆราช
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. เวลา 17.40 น. วันที่ 15 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมด้วยพล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. ได้เดินทางเข้ามายังทำเนียบรัฐบาลภายหลังได้รับการรายงานจากนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรณะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า เครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคีพุทธบริษัท 4 ทั่วประเทศ( คสพ. ) นำโดยพระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เดินทางมาเข้าพบ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ภายหลังจากที่ได้มีการรวมตัวจัดสัมมนาที่พุทธมณฑล อ.ศาลายา จ.นครปฐม
สำหรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคีพุทธบริษัท 4 ทั่วประเทศจำนวน 5 ข้อ ที่ยื่นต่อรัฐบาล ระบุว่า ที่ประชุมคณะสงฆ์จากทั่วประเทศมีสังฆมติร่วมกัน ขอให้นายกฯดำเนินการดังนี้
1.ห้ามหน่วยงานภาครัฐเข้ามาก้าวก่ายเรื่องทางสงฆ์ ขอให้ทำหน้าที่อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาตามแบบอย่างบรรพบุรุษไทย
2.ขอให้รัฐบาลยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงามที่กระทำสืบกันมา คือ การดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ ทางรัฐบาลจะต้องปรึกษาและได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมก่อน
3.ขอให้นายกฯ ยึดถือดำเนินการตามมติมหาเถรสมาคมที่มีการเสนอนาม สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
4.ขอให้ทางรัฐบาลสั่งเป็นนโยบายให้หน่วยราชการปฏิบัติต่อคณะสงฆ์ด้วยความเคารพเอื้อเฟื้อ ไม่ข่มขู่คุกคามคณะสงฆ์ด้วยการใช้กฎหมาย
5.ขอให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ
พระเมธีธรรมาจารย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากยื่นข้เรียกร้องว่า รัฐบาลรับปากว่าจะดูแลและประสานรายงานเรื่องนี้ไปยังนายกรัฐมนตรี หลังกลับจากสหรัฐอเมริกา การชุมนุมทางกลุ่มพร้อมยุติ แต่จะสงวนดูท่าทีรัฐบาลก่อน ยืนยันว่าการชุมนุมครั้งนี้มาด้วยความสงบ มาเพื่อแสดงสังฆมติ และหากก่อนหน้านี้ ซึ่งความจริงหากมีการพูดคุยกันแต่แรก ก็จะไม่มีเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้น
"เราเป็นพระไม่ดื้อดึง ไม่เรื่องมากอยู่แล้ว และไม่ได้เป็นการมากดดัน มาด้วยความสงบ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากทหารนิมนต์พระมาตามปกติ จะไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ดังนั้น อยากให้ถามฝ่ายรัฐบาลดูว่าเหตุการณ์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร พระเองก็คำนึงพระธรรมวินัย กฎหมายบ้านเมือง จารีต ประเพณี ทั้งนี้ อาจจะต้องมีการพูดถึงกระทำของสงฆ์ด้วยอาตมาเคยพูดหลายครั้งแล้วว่า คงต้องให้เวลารัฐบาลอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อดำเนินการตามข้อเรียกร้อง แต่ทั้งนี้ พระสงฆ์ยังมีความรู้สึกตรงกันว่า จะต้องกลับมาอีก หากข้อเรียกร้องที่ได้รับปากไปนั้น ไม่บรรลุเป้าหมายตามที่ได้รับปาก"พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าว
นายสุวพันธ์ เปิดเผยว่า ได้มีการประสานไปยังคณะสงฆ์ เพื่อให้ยุติดารชุมนุมและเดินทางมายื่นหนังสือและพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาที่ทำเนียบรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคาดว่าการจัดสัมมนาดังกล่าวอาจจะยังไม่ได้ขออนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ไว้ก่อน จึงทำให้เกิดเหตุการณ์เผชิญหน้าระหว่างกลุ่มพระสงฆ์กับเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ การยื่นหนังสือทางพระธรรมเมธีธรรมาจารย์ ยืนยันกับพล.อ.ประวิตรว่า จะยุติการชุมนุม และข้อเสนอที่ยื่นก็ไม่ได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาให้กับรัฐบาล แต่ตนจะทำให้เร็วที่สุด แต่มส.ก็ควรได้รับความเคารพ ไม่ให้ถูกดูหมิ่น ส่วนหนึ่งในข้อเรียกร้องจะมีนัยยะต่อการเร่งรัดแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่นั้น เรื่องนี้ตอบยาก แต่จะทำให้เร็วที่สุด และขึ้นอยู่กับเหตุผล
พระเมธีฯนำเครือข่ายจัดเวทีสกัดแผนล้มล้างการปกครองคณะสงฆ์ที่พุทธมณฑล
จาก โพสต์ทูเดย์
พระเมธีธรรมมาจารย์ นำเครือข่ายคณะสงฆ์-องค์กรภาคีจัดเวทีสกัดแผนล้มล้างการปกครองคณะสงฆ์ไทย ที่พุทธมณฑล ทหารเข้าดูแลความเรียบร้อย
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. เครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคีพุทธบริษัท 4 ทั่วประเทศ อาทิ ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย (ศพศ.), สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) และองค์กรภาคี ได้จัดงานสัมมนา และ ปฏิบัติธรรม เรื่อง "สกัดแผนล้มล้างการปกครองคณะสงฆ์ไทย" ที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยมี พระเมธีธรรมมาจารย์ เลขาศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เป็นผู้ประสานงานการจัดงานดังกล่าว
ทั้งนี้งานดังกล่าวมีกำหนดเริ่มขึ้นในเวลา 13.00 น. จากนั้นผู้มาร่วมงานจะอยู่ปฏิบัติธรรมร่วมกันไปจนถึงวันที่ 16 ก.พ. เวลา 19.00น.
ขณะที่บรรยากาศบริเวณพุทธมณฑลตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมาได้มีพระสงฆ์และประชาชนเดินทางมาร่วมงานอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 11.00น. ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อย โดยขอให้ผู้มาร่วมงานไม่ให้นำยานพาหนะเข้าไปภายในพุทธมณฑล ทำให้พระสงฆ์และประชาชนที่เดินทางมาร่วมงานต้องเดินเท้าเข้าไปภายใน
พระเมธีฯยื่นคำขาดห้ามก้าวก่ายกิจของสงฆ์
จาก โพสต์ทูเดย์
พระเมธีธรรมาจารย์ยื่นคำขาดถึงรัฐบาล ห้ามก้าวก่ายกิจของสงฆ์ จี้ตั้งสังฆราชองค์ใหม่ตามมติมส. ขู่ปักหลักพุทธมณฑลจนถึงวันมาฆบูชา
เมื่อวันที่ 15 ก.พ.เวลา 17.30 น. พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้อ่านแถลงการณ์ถึงการชุมนุมของพระสงฆ์ครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมามีความพยายามจากฝ่ายเจ้าหน้าที่เพื่อออกหมายจับพระสงฆ์ หลวงตา หลวงปู่ ที่สูบบุหรี่ ขณะเดียวกันยังมีความพยายามจะจับกุมพระสงฆ์หลายรูปในข้อหารับของโจร การกระทำเช่นนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นการเอาการเมือง ทางโลก มาแทรกแซงพุทธศาสนา
ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐ ห้ามก้าวก่ายกิจการของสงฆ์ โดยรัฐควรสนับสนุนทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเช่นเดิม ให้รัฐสนับสนุนการปกครองของสงฆ์ของมติของมหาเถรสมาคม (มส.)เหมือนเดิม ให้นายกรัฐมนตรี เสนอชื่อพระเถระที่ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ตามมติของ มส.
พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวว่า ได้รับการติดต่อจากรัฐบาล ให้ไปพบกับ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯ ซึ่งถ้ารัฐบาลรับข้อเสนอดังกล่าวซึ่งมาจากตัวแทนของพระสงฆ์ทั่วประเทศ เราก็จะไม่มีปัญหา หรือ ปักหลักยืดเยื้ออยู่นานจนถึงวันมาฆบูชา
สำหรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคีพุทธบริษัท 4 ทั่วประเทศจำนวน 5 ข้อ ระบุว่า ที่ประชุมคณะสงฆ์จากทั่วประเทศมีสังฆมติร่วมกัน ขอให้นายกฯดำเนินการดังนี้
1.ห้ามหน่วยงานภาครัฐเข้ามาก้าวก่ายเรื่องทางสงฆ์ ขอให้ทำหน้าที่อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาตามแบบอย่างบรรพบุรุษไทย
2.ขอให้รัฐบาลยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงามที่กระทำสืบกันมา คือ การดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ ทางรัฐบาลจะต้องปรึกษาและได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมก่อน
3.ขอให้นายกฯ ยึดถือดำเนินการตามมติมหาเถรสมาคมที่มีการเสนอนาม สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
4.ขอให้ทางรัฐบาลสั่งเป็นนโยบายให้หน่วยราชการปฏิบัติต่อคณะสงฆ์ด้วยความเคารพเอื้อเฟื้อ ไม่ข่มขู่คุกคามคณะสงฆ์ด้วยการใช้กฎหมาย
5.ขอให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาได้เกิดเหตุชุลมุนบริเวณทางเข้าพุทธมณฑล เมื่อกลุ่มพระสงฆ์ที่ไม่พอใจเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ไม่อนุญาตให้นำรถยนต์เข้าไปภายในพุทธมณฑล ได้เข้ายกรั้วกั้นถนน และพยายามเข็นรถเจ้าหน้าที่ที่จอดขวางถนนออก
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน