สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จับตา! โครงสร้างใหม่ "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา"

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เปิดโครงสร้างใหม่ "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" จ่อครม.กลางมีค.นี้ ผู้มีรายได้ไม่เกิน3หมื่นอยู่ในข่ายเว้นภาษี มั่นใจช่วยคนระดับกลางเพิ่มอำนาจซื้อ

กรมสรรพากร เตรียมสรุปโครสร้างใหม่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในกลางเดือนนี้ และแม้จะทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ แต่ไปเพิ่มเงินในกระเป๋า ทำให้คนมีเม็ดเงินออกมาจับจ่ายใช้สอย เมื่อมีการบริโภคมากขึ้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรเตรียมเสนอการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรม ให้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในกลางเดือนมี.ค.นี้ โดยโครงสร้างที่จะเสนอนั้น จะเป็นโครงสร้างที่ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้รับประโยชน์ทุกกลุ่ม แม้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปบ้าง แต่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษีมากขึ้น

สำหรับโครงสร้าง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ จะทำให้คนรายได้ ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือน ไม่มีภาระภาษี จากปัจจุบัน รายได้ไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อเดือนไม่มีภาระภาษี ขณะที่คนรวยแม้อัตราสูงสุดจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่อาจได้รับการขยายช่วงเงินได้ ส่งผลทำให้ภาระภาษีลดลง
คนมีรายได้ 3 หมื่นบาทเว้นภาษี

การ ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้ของกรมสรรพากร นอกจากการขยายช่วงเงินได้แล้ว ยังได้ปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายส่วนตัว ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นเป็น 120,000 บาทต่อคนต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 60,000 บาท ส่งผลให้คนที่มีรายได้ต่อเดือน 30,000 บาทไม่มีภาระภาษี

โครง สร้างภาษีเงินบุคคลธรรมดาในปัจจุบัน ได้ยกเว้นภาษีเงินได้ 150,000 บาทแรก และเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่ให้ปีละ 60,000 บาท และค่าลดหย่อนส่วนตัวอีก 30,000 บาท รวมเป็น 240,000 บาท ทำให้คนที่มีเงินเดือนๆ ละ 20,000 บาท ได้ต้องมีภาระภาษี

ในส่วน ของขั้นรายได้ในปัจจุบัน กรมสรรพากร กำหนด 7 ช่วงของรายได้ อาจมีการขยายช่วงรายได้ เพื่อลดภาระภาษีของผู้มีเงินได้ โดยที่ไม่ต้องปรับลดอัตราภาษี ซึ่งปัจจุบันอัตราต่ำสุดอยู่ที่ 5% สูงสุดอยู่ที่ 35% เช่น ปัจจุบันช่วงเงินได้ 150,001 บาท จนถึง 300,000 บาท มีอัตราภาษีที่ 5% การช่วงเงินได้ในการเสียภาษี อาจขยายเพดาน จาก 300,000 บาท ไปเป็น 1,000,000 บาท

ส่วนคนที่เคยเสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 35% ซึ่งในปัจจุบัน ต้องมีรายได้มากกว่า 4,000,000 บาทขึ้นไปนั้น อาจมาเริ่มต้นเสียสูงสุดเมื่อมีรายได้สูงขึ้น เช่น อาจเป็นรายได้ที่มากกว่า 6,000,000-7,000,000 บาท เป็นต้น"การขยายช่วงเงินได้ในการเสียภาษีดังกล่าว จะทำให้คนที่มีเงินได้ในทุกระดับช่วงของรายได้ ได้รับประโยชน์ทั้งหมด"

สศค.-รมว.คลังค้านลดภาษีเหลือ30%

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมสรรพากร ต้องการเสนอให้ปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในส่วนของอัตราสูงสุดให้ต่ำลงเหลือ 30% เนื่องจากเห็นว่า ปัจจุบันอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้ปรับลดลงเหลือ 20% แล้ว เพื่อให้ระบบภาษีมีความเป็นธรรม ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จึงควรปรับลดอัตราสูงสุดของบุคคลธรรมดาลงมาด้วยให้ใกล้เคียงกับภาษี นิติบุคคล
แนวคิดการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าว ได้รับการคัดค้านจากทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยเกรงว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์คนที่มีรายได้สูงมากเกินไป และที่สำคัญการปรับลดอัตราสูงสุดให้เหลือ 30% นั้น จะทำให้รายได้ของกรมสรรพากรสูญไปเกือบ 100,000 ล้านบาท ขณะที่การคงอัตราสูงสุด แต่ใช้วิธีขยายช่วงเงินได้ทำให้รายได้หายไปประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาทเท่านั้น

ปรับโครงสร้างภาษีหวังสร้างความเป็นธรรม

นายประสงค์ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องปรับโครงสร้างภาษีและการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีอัตรา ภาษีสูงสุดที่ 35% กับ ผู้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีอัตราการจัดเก็บสูงสุด 20% เมื่อรวมกับภาษีเงินปันผลอีก 8% จะทำให้ภาษีรวมของเงินได้นิติบุคคลสูงสุดที่ 28% ซึ่งก็ถือว่า ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า อัตราสูงสุดของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


อย่าง ไรก็ตาม การพิจารณาปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะทำให้ใกล้เคียงกับภาษี เงินได้นิติบุคคล จะต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา โดยการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น จะคิดบนฐานกำไรสุทธิ ขณะที่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคิดบนฐานรายได้ และ ยังมีรายการลดหย่อนภาษีที่นำมาคำนวณภาษีด้วย เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน รายจ่ายประกันชีวิต ค่าเลี้ยงดูบุตร รวมถึง การลงทุนในกองทุนแอลทีเอฟ หรือ อาร์เอ็มเอฟ เป็นต้น นอกจากนี้ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังคำนวณในลักษณะขั้นบันได ขณะที่ อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลคิดในอัตราเดียว ดังนั้น จึงต้องพิจารณาให้เกิดความเหมาะสม

แนวคิดหั่นภาษีคนรวยต้องไม่ได้เปรียบ

โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปัจจุบัน เป็นอัตราการจัดเก็บแบบขั้นบันได โดยรายได้ตั้งแต่ 1-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี , รายได้ระหว่าง 150,000-300,000 บาท อัตราภาษี 5% , รายได้ระหว่าง 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10% , รายได้ระหว่าง 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15% , รายได้ระหว่าง 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี 20% , รายได้ระหว่าง 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25% , รายได้ระหว่าง 2,000,001-4,000,000 บาท อัตราภาษี 30% และ รายได้ตั้งแต่ 4,000,000 บาทขึ้นไป อัตราภาษีอยู่ที่ 35%

เราไล่คิดแม้กระทั่งว่า วงเงินที่เรายกเว้นภาษีให้จากระดับ 150,000 บาทนั้น ควรเพิ่มเป็นเท่าไร เมื่อหักลบรายการลดหย่อนแล้ว ภาระภาษีสุดท้ายจะเป็นอย่างไร และ ผลกระทบสุดท้าย คือ รายได้รัฐบาลจะเป็นอย่างไร โดยก่อนหน้านี้ เราได้เสนอให้ระดับนโยบายได้พิจารณาในหลายโมเดล ซึ่งทางรมว.คลังได้มอบโจทก์กลับมาให้เราพิจารณาเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นที่ท่านเป็นห่วงว่า คนรวยจะได้เปรียบหรือไม่
มั่นใจเพิ่มเงิน-กำลังซื้อระดับกลางลงมา

สำหรับ หลักการพิจารณารายการลดหย่อนภาษีนั้น เราคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันว่า กระทบต่อรายจ่ายของบุคคลมากน้อยเพียงใด โดยดูถึงระดับเงินเฟ้อที่มีการเปลี่ยนแปลง ค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายในการแต่งตัวที่เพิ่มขึ้น หรือ ค่ารถโดยสาร รวมถึง ค่าอาหารที่เป็นรายจ่ายเพิ่มขึ้น ประเด็นเหล่านี้ เราได้นำมาพิจารณาอย่างครบถ้วน ซึ่งจะนำไปสู่การพิจารณาเพิ่มวงเงินลดหย่อนส่วนบุคคลที่ปัจจุบันให้หักได้ 40% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท โดยวงเงินที่กำลังพิจารณาอยู่ในหลัก 100,000-120,000 บาท

ส่วนผลกระทบที่มีต่อการจัดเก็บรายได้กรมฯนั้น ในทุกโมเดลที่เสนอไปนั้น มีผลกระทบให้รายได้กรมสรรพากรลดลงในหลักหลายหมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม เราหวังว่า รายได้ที่ลดลงไป เมื่อกลับคืนไปยังกระเป๋าของผู้เสียภาษีแล้ว จะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น และ เมื่อถึงจุดที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ผู้เสียภาษีมีรายได้เพิ่มขึ้น รายได้ของเราก็จะปรับขึ้นตามไปด้วยทั้งนี้ ข้อมูลจากการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพบว่า คนในวัยทำงาน 39 ล้านคน ในจำนวนนี้ ไม่ได้ยื่นภาษีเกือบ 30 ล้านคน มีเพียงกว่า 9 ล้านคน ที่ยื่นภาษี และจ่ายภาษีจริงแค่กว่า 3 ล้านคนเท่านั้น ที่เหลือกว่า 6 ล้านคน ไม่ต้องเสียภาษี เพราะรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ หรือ แม้รายได้ถึงเกณฑ์ แต่เมื่อหักรายการลดหย่อน ทำให้บุคคลเหล่านั้น ไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษี


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จับตา โครงสร้างใหม่ 'ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา'

view