จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันนี้เราคงจะรู้แล้วว่าการประชุมของรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกคือ จี20
จะได้ผลอะไรออกมาบ้าง ซึ่งข้อมูลก่อนการประชุมนั้นน่าสนใจที่ไอเอ็มเอฟแสดงท่าทีเป็นห่วงสภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างออกนอกหน้า แต่รัฐมนตรีคลังของสหรัฐนายแจ๊ค ลิวให้สัมภาษณ์ทั้ง Wall Street Journal และ Bloomberg ว่า “Don’t expect a crisis response in a non-crisis environment (the) real economics are doing better than market thinks in some cases” ซึ่งแปลสรุปได้ว่าอย่าคาดหวังว่ากลุ่มจี20 จะร่วมกันออกมาตรการเพื่อตอบรับกับวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะสถานการณ์มิเข้าขั้นวิกฤติและเศรษฐกิจจริงในบางแห่งของโลกก็เข้าขั้นดีกว่าตลาดทุนคาดการณ์
สำหรับสหรัฐนั้นสรุปท่าทีได้ว่า
1. อย่าคิดให้สหรัฐเป็นที่พึ่ง (ตลาด) ของทุกประเทศในโลก แต่ละประเทศควรต้องช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น รวมทั้งการใช้นโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศยุโรปและญี่ปุ่น (แต่ก็ยอมรับว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมีหนี้สินอยู่มากแล้ว จึงควรจำกัดนโยบายการคลังไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่นเลื่อนการขึ้นภาษีการค้าออกไปก่อน)
2. สหรัฐต้องการให้จีนสื่อสารกับตลาดอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนและทำให้ตลาดเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจีน โดยนายลิวไม่ต้องการเห็นจีนลดค่าเงินหยวนอย่างฉับพลัน เพราะเขามองว่าจีนไม่จำเป็นต้องลดค่าเงิน (เนื่องจากจีนเองก็ยังเกินดุลการค้าและมีทุนสำรองอยู่มาก)
แต่ไอเอ็มเอฟนั้นออกแถลงการณ์ที่มีความยาวหลายหน้าสะท้อนความเป็นห่วงเกี่ยวกับสภาวะของเศรษฐกิจโลกและเสนอว่ากลุ่มจี20 ไม่ควรนิ่งนอนใจ แต่ต้องออกมาตรการที่ชัดเจนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตรงนี้ผมขอคัดลอกคำที่ไอเอ็มเอฟใช้มาให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าไอเอ็มเอฟประเมินสภาวการณ์เสมือนว่าเศรษฐกิจโลกนั้นใกล้เข้าสู่สภาวะวิกฤติแล้ว และจำเป็นต้องมีมาตรการออกมามากมายโดยทันที
-“The global recovery has weakened further amid increasing financial turbulence and falling asset prices….signs of distress in large emerging markets” “ These developments point to higher risks of a derailed recovery”
-Strong policy responses both at national and multilateral levels are needed to contain risks….the fragile conjunction increase the urgency of a broad-based policy response”.
-Accommodative monetary policy remains essential…However, a comprehensive approach is needed to reduce over-reliance on monetary policy. In particular, near-term fiscal policy should be more supportive where there is fiscal space”.
-To support global activity and contain risks, the G20 must act now to implement forcefully the existing G20 growth strategies and plan for coordinated demand support.
จะเห็นได้ว่าไอเอ็มเอฟใช้คำที่สะท้อนความเป็นห่วงอย่างยิ่งกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก และแม้จะไม่ได้ใช้คำว่า “crisis” หรือวิกฤติแต่ก็ใช้คำอื่นๆ ที่ทำให้เชื่อได้ว่าเศรษฐกิจโลกใกล้เข้าสู่วิกฤติแล้ว เช่น “sign of distress”, “higher risk of a derail recovery”, “need to contain risks” และ “fragile” ในขณะเดียวกันก็ผลักดันให้ต้องมีมาตรการมาจัดการกับความเสี่ยงดังกล่าวอย่างรีบเร่งทั้งในระดับพหูภาคีและในแต่ละประเทศ เช่น คำว่า “Strong policy response” “urgency of a board-based policy response” และ “G20must act now”
แต่ในที่สุดแถลงการณ์ของกลุ่มจี20 น่าจะไม่เข้มข้นเหมือนกับคำแนะนำของไอเอ็มเอฟ ทั้งนี้จีนคงต้องการให้กลุ่มจี20 แสดงท่าทีสนับสนุนนโยบายของจีน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนเป็นเจ้าภาพของการประชุมครั้งนี้) แปลว่าการประชุมกลุ่มจี20 ครั้งนี้น่าจะมี “คำหวาน” ที่สะท้อนความเป็นห่วงเกี่ยวกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก แต่จี20 ก็จะ “ร่วมมือ” และ “ประสานงาน” ทางนโยบายเพื่อช่วยลดความเสี่ยง โดยจะไม่ใช้นโยบายลดค่าเงินเพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจของตนเองแต่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อประเทศอื่นๆ และเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก
เมื่อประชุมเสร็จแล้วแต่ละประเทศก็จะกลับไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจของตัวเอง โดยอาศัยนโยบายการเงินเป็นหลัก เพราะน้อยประเทศที่จะสามารถใช้นโยบายการคลังได้ แม้กระทั่งประเทศเยอรมันซึ่งนายกรัฐมนตรีแมร์เคิลก็กำลังวุ่นวายกับปัญหาผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลาง ซึ่งกำลังเป็นปัญหาทางการเมืองบั่นทอนสถานะของนางแมร์เคิลอย่างมาก ดังนั้นผมจึงเชื่อว่าตลาดจะให้ความสำคัญกับการประชุมของธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในเดือนมีนาคมดังนี้
1. การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของอีซีบีในวันที่ 10 มีนาคม ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าอีซีบีน่าจะประกาศเพิ่มการพิมพ์เงินใหม่มาซื้อพันธบัตรอีกเดือนละ 10,000 ล้านยูโร จากปัจจุบัน 60,000 ล้านยูโร และน่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายให้ติดลบเพิ่มขึ้นไปอีก ทั้งนี้เพราะอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้และเงินยูโรก็แข็งค่าขึ้นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
2. การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันที่ 14-15 มีนาคม ซึ่งนายคูโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นกำลังถูกกดดันอย่างหนักจากรัฐบาลให้เพิ่มการทำคิวอี เพราะการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศลดดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารกลางในส่วนที่เกินกว่าที่ต้องสำรองให้เป็นลบเมื่อเดือนมกราคมนั้นถูกตำหนิอย่างมาก และทำให้ประชาชนเกรงกลัวว่าจะลามออกไปจนทำให้ประชาชนที่ฝากเงินจะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารในที่สุด กล่าวคือนายคูโรดะคงจะต้องเพิ่มคิวอีเป็นหลัก แต่ปัญหาคือธนาคารกลางญี่ปุ่นได้พิมพ์เงินใหม่ออกมากว้านซื้อพันธบัตรรัฐบาลจนเกือบหมดตลาดแล้ว แต่หากไม่ทำอะไรที่เป็นที่พอใจของตลาด เงินเยนก็จะแข็งค่าขึ้นไปอีก (ปัจจุบันอยู่ที่ 111 เยนต่อ 1 ดอลลาร์) และเป็นผลเสียต่อผู้ส่งออกของญี่ปุ่นและทำให้เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้ามากขึ้นไปอีก
3. การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐในวันที่ 15-16 มีนาคม ซึ่งนักลงทุนคงจะพยายามจับคำพูดของธนาคารกลางสหรัฐว่าจะ “ถอย” จากการที่เคยมองว่าจะต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น 4 ครั้งในปีนี้ให้ชัดเจนมากเพียงใด ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐมีจุดยืนว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้นจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาศัยข้อมูลปัจจุบันเป็นที่ตั้งและจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนของโลกในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานั้นได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริงของสหรัฐมากน้อยเพียงใด
4) การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในวันที่ 23 มีนาคม ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีจุดยืนว่าหากจำเป็นจะต้องลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวก็พร้อมจะทำ แต่ก็ยังมองว่าสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันนั้นฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ได้คาดการณ์เอาไว้และนโยบายการคลังก็ดำเนินไปด้วยดี ซึ่งจะเป็นนโยบายหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ใช่นโยบายการเงิน แต่ตลาดก็เริ่มจะมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจลดดอกเบี้ยทำให้ต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้อพันธบัตรระยะสั้นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและเงินบาทก็เริ่มแข็งค่าขึ้น
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน