จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา
เป็นอีกครั้งที่การตัดสินใจอย่างคาดไม่ถึงของธนาคารกลางจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในการลดอัตราการกันสำรองของธนาคาร
ทั่วไปลง 0.5% นั้นได้สะท้อนการกลับลำ 180 องศาของการเปลี่ยนยุทธศาสตร์การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาเศรษฐกิจของจีนเองจากเมื่อสองเดือนก่อน ผลจากการลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ในครั้งนี้ทำให้ระบบธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่า 1.07 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และช่วยเสริมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ
ทั้งที่ก่อนหน้านี้เกิดปัญหาสภาพคล่องเพราะความพยายามของธนาคารกลางจีนที่เข้าไปแทรกแซงตลาดเงินต่างประเทศ เพื่อรักษาค่าเงินหยวนไม่ให้อ่อนตัวตามการไหลออกของเงินทุนไปยังต่างประเทศ (ดูบทความเรื่องระเบิดเวลา เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2559) ดังนั้นการลดอัตราการกันสำรองของธนาคารในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่ดูจะได้รับน้ำหนักมากกว่าการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินหยวน จึงเป็นการสะท้อนถึงสภาวะอำนาจต่อรองระหว่างเป้าหมายของรัฐบาลจีนกับเป้าหมายของธนาคารกลางจีนได้ในระดับหนึ่งด้วย
ปัญหาก็คือว่า การเพิ่มความสามารถในการปล่อยกู้ของระบบธนาคารในครั้งนี้ น่าจะทำได้ในแง่ของการผ่อนหนักเป็นเบาให้กับผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาสภาพคล่องอยู่บางส่วน ที่จะได้รับโอกาสในการต่อลมหายใจให้ยาวนานขึ้น แต่ไม่น่าจะมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริงได้มากนัก เพราะในสภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังถดถอยนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการจะพยายามประคองตัวเองให้หลุดรอดจากหายนะทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะมานั่งคิดฝันถึงเรื่องการขยายกำลังการผลิตให้มากขึ้น แต่มาตรการลดอัตราการกันสำรองนี้เท่ากับเป็นมาตรการขยายสินเชื่อที่ไม่จำเพาะเจาะจงที่กิจกรรมหนึ่งกิจกรรมใดโดยเฉพาะ
ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จึงอาจปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นในธุรกิจที่อาจไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของรัฐบาลตั้งแต่ต้น เช่นในธุรกิจทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเก็งกำไร หรือการเก็งกำไรในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีอุปทานส่วนเกินอยู่แล้ว อันจะเห็นได้จากการขยับตัวสูงขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองสำคัญต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งในแง่นี้ก็เท่ากับเป็นว่าอาจเป็นการทำให้ปัญหาที่มีอยู่แล้วแต่เดิมในเรื่องเหล่านี้ขยายมากขึ้นไปอีกได้ เพราะมีการคาดการณ์กันต่อไปว่า ธนาคารกลางจีนอาจใช้มาตรการลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ลงอีกครั้งสองครั้งเป็นอย่างน้อยในไม่ช้า
กระแสการไหลออกของเงินทุนจากประเทศจีนย่อมจะส่งทำให้ค่าเงินหยวนผันผวนในทิศทางที่อ่อนค่าลงได้ และหากรัฐบาลจีนต้องการจะรักษาค่าเงินหยวนไว้ให้มีเสถียรภาพ ก็จำเป็นที่จะต้องขายเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปของเงินดอลลาร์ออกมา และดูดซับเงินหยวนออกจากระบบเศรษฐกิจเพื่อพยุงค่าเงินหยวนเอาไว้ ซึ่งหมายความว่า (ก) ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนปรับตัวลดน้อยลง ถึงแม้ว่าจีนจะยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเหลืออยู่อีกมากก็ตาม (ข) การป้องกันค่าเงินหยวนในลักษณะดังกล่าว จะสวนทางกับมาตรการผ่อนปรนทางการเงินของการลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ด้วย ทำให้ต้องมีการเพิ่มมาตรการผ่อนปรนทางการเงินที่ไม่ค่อยจะได้ผลอะไรมากนักให้มากขึ้นไปอีก
ดังนั้น เราจึงอาจคาดการณ์บางส่วนเกี่ยวกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับค่าเงินหยวนของจีน ได้ดังนี้
(1) ในระยะกลางถึงระยาวนั้น จีนโดยลำพังตัวเองนั้น คงจะไม่สามารถทานกระแสการไหลออกของเงินทุนไปต่างประเทศได้โดยอาศัยเพียงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ตนเองมีอยู่เท่านั้น แต่จำเป็นต้องอาศัยตัวช่วยคือ ทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ด้วย
(2) หากธนาคารกลางของสหรัฐไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายหรือมีการชะลอออกไป ก็จะไม่เป็นการซ้ำเติมแรงกดดันของกระแสเงินทุนที่ไหลออกจากประเทศจีน ซึ่งก็จะเป็นเช่นเดียวกับกรณีที่ธนาคารกลางยุโรปจะได้มีการใช้มาตรการทางเงินแบบผ่อนปรนเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
(3) แต่ถ้าหากว่ามาตรการทางการเงินแบบผ่อนปรนของธนาคารยุโรปเป็นไปในลักษณะที่ไม่ได้ช่วยทำให้มีการเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ เช่นการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบเป็นหลัก กรณีเช่นนี้ก็จะไม่ได้มีผลเป็นบวกต่อปัญหาการไหลออกของกระแสเงินทุนจากประเทศจีนโดยตรงมากนัก
ดังนั้น จึงน่าจับตาดูเป็นพิเศษว่า ผลการประชุมเกี่ยวกับมาตรการผ่อนปรนทางการเงินของธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 10 มี.ค.นี้ และการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐในวันที่ 15 มี.ค.ว่าจะออกมาในทิศทางที่เป็นคุณต่อจีนมากน้อยเพียงใดตามที่ได้วิเคราะห์ไปข้างต้น เพราะนั่นจะเป็นเสมือนสัญญาณบอกเหตุล่วงหน้าว่า เราจะเห็นได้เห็นความผันผวนของเงินหยวนที่มากขึ้นหรือไม่ และจะเป็นไปในทิศทางที่จะอ่อนตัวมากขึ้นหรือไม่อย่างไรไม่ช้าก็เร็ว ซึ่งก็หมายความว่าจะส่งผลกระทบต่อเงินบาท และค่าเงินสกุลต่างๆ ในประเทศแถบเอเชียนี้ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน