จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
หนึ่งในประเด็นทางการเมืองที่อยู่ในความสนใจไม่แพ้กับการร่างรัฐธรรมนูญ คือ ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ เพราะนับตั้งแต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ได้ตอกย้ำหลายครั้งในที่สาธารณะว่าประเทศไทยควรมีแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาประเทศ
โดยเมื่อวันที่ 16 ก.พ. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ลงมติให้ความเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สปท. ที่มี พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธานคณะ กมธ. เป็นผู้เสนอ
อย่างไรก็ตาม แม้ สปท.จะมีมติให้ความเห็นชอบ แต่ในระหว่างการพิจารณา ได้มีสมาชิก สปท. อภิปรายท้วงติงในหลายประเด็น และขอให้คณะ กมธ.ชุดนี้นำกลับไปแก้ไขตามความเห็นของสมาชิก สปท. ก่อนส่งมอบให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการจัดทำเป็นกฎหมายต่อไป โดยคณะ กมธ.ดำเนินการแก้ไขในประเด็นสำคัญดังนี้
1.แก้ไขด้วยเพิ่มเติมให้การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องครอบคลุมถึงการกีฬา เดิมไม่ได้กำหนดเอาไว้ ซึ่งคณะ กมธ.ปรับแก้ไขและมีถ้อยคำว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ หมายความว่า แม่บทหลักที่เป็นกรอบกำหนดนโยบายและแผนต่างๆ สำหรับการพัฒนาประเทศ กำหนดทิศทาง เป้าหมาย หรือแนวทางการพัฒนา การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดสรรงบประมาณ การจัดสรรทรัพยากร และเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาของภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน รวมทั้งมีอธิปไตยและเข้มแข็งในประชาคมโลก อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญครอบคลุมด้านความมั่นคงทางทหาร การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน...และกีฬา”
2.เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่สมาชิก สปท.อภิปรายเรียกร้องให้มีการกำหนดชัดเจน โดยคณะ กมธ.แก้ไขเป็น “การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องพิจารณาผลประโยชน์แห่งชาติ วัตถุประสงค์หลักของชาติ ซึ่งเป็นความต้องการและจำเป็นในการพัฒนาประเทศ โดยการวิเคราะห์สถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ... การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำ การแสดงความคิดเห็น การเสนอแนะเนื้อหา วิธีการติดตามประเมินผล รวมทั้งให้มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกระบวนการการให้ประชาชนมีส่วนร่วม การจัดทำ การแสดงความคิดเห็น หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติกำหนด รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงอย่างมีประสิทธิภาพ”
3.ระยะเวลาการบังคับใช้ยุทธศาสตร์ชาติ เดิมกำหนดในลักษณะไม่บังคับว่าจะปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติในทุก 5 ปี หรือไม่ก็ได้ แต่สมาชิก สปท.ได้ทักท้วงว่าควรกำหนดเป็นสภาพบังคับเอาไว้ เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติได้ตามสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งคณะ กมธ.เห็นด้วยและดำเนินการแก้ไขเป็น “ยุทธศาสตร์ชาติให้มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 20 ปี และจัดให้มีการพิจารณาทบทวนทุก 5 ปี หรือเมื่อมีสถานการณ์กระทบต่อวัตถุประสงค์หลักตามยุทธศาสตร์ชาติอย่างเป็นนัยสำคัญ”
4.ผลผูกพันของยุทธศาสตร์ชาติ เดิมกำหนดในมาตรา 10 ว่า “ยุทธศาสตร์ชาติมีผลผูกพันรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีทุกสมัย แม้จะมิใช่รัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีที่ได้ให้ความเห็นชอบ หรือถือว่าได้ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ก็ตาม” ซึ่งคณะ กมธ.ได้ตัดข้อความดังกล่าวออกไปทั้งหมดตามความเห็นของ สปท. ที่เห็นว่าเป็นการบังคับรัฐสภาและรัฐบาลในอนาคตมากเกินไป โดยได้แก้ไขถ้อยคำเพื่อไม่ให้เกิดการบังคับแบบตายตัวว่า “การจัดทำและการดำเนินนโยบายหรือแผนหรือแผนงานของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี รวมทั้งองค์กรและหน่วยงานของรัฐ ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติตาม พ.ร.บ.นี้”
5.อัตราเงินเดือนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จากที่กำหนดให้เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และผลประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้รับเท่ากับประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือประธานศาลฎีกา แต่ที่ประชุม สปท.เห็นแย้งว่า หากให้มีอัตราเงินเดือนเท่ากับผู้นำฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ หรือตุลาการ อาจทำให้ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ถูกมองว่าเป็นอำนาจอธิปไตยที่สี่ได้ ดังนั้น คณะ กมธ.จึงได้แก้ไขด้วยการบัญญัติให้เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ผลประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการยุทธศาสตร์เป็นไปตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแทน
6.เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะ กมธ.แก้ไขให้เลขาธิการฯ มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระไม่ได้ ส่วนอำนาจหน้าที่ยังคงเหมือนเดิม ทั้งในด้านการสนับสนุนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ เผยแพร่ และให้ความรู้แก่ประชาชนใน
รูปแบบต่างๆ
ถึงกระนั้น แม้ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติได้มีการแก้ไขในหลายเรื่อง แต่มีบางส่วนที่คณะ กมธ. ยังให้คงไว้ตามเดิม อย่างหลักการและเหตุผลของการให้มียุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งได้บัญญัติว่า “ในยุคโลกาภิวัตน์ การพัฒนาประเทศสู่ความเป็นเลิศ มีความมั่นคงและยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ระดับสากล จำเป็นต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับชาติที่เป็นระบบ มีการใช้ข้อมูลความรู้ที่เกิดจากการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ มีการกำหนดวัตถุประสงค์หลักของการพัฒนาที่ชัดเจน ทันสมัยและเหมาะสม เป็นยุทธศาสตร์ชาติที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันตามการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก
และที่สำคัญ การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องสะท้อนถึงความต้องการของประเทศชาติและประชาชน เพื่อนำการพัฒนาประเทศที่ดำรงความเป็นธรรมและคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชน ดังนั้น การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและการจัดตั้งกลไกเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลยุทธศาสตร์ชาติ จึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ”
เช่นเดียวกับโครงสร้างของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่ยังเป็นไปตามเดิม คือ ให้ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ มีหน้าที่เสนอยุทธศาสตร์ชาติให้รัฐสภาพิจารณา โดยต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 45 วัน พร้อมกับกำหนดแนวทางการบูรณาการ การกำหนดเป้าหมาย และการจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาต่างๆ และตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ และระยะเวลาของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งตรวจสอบ ติดตาม ประเมินความสอดคล้องและผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติขององค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน