จากประชาชาติธุรกิจ
ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญกับความท้าทายเรื่องจำนวนประชากรที่ลดลง ที่มาพร้อมกับการลดลงของจำนวนประชากรวัยทำงาน
ข้อมูลล่าสุดจากยูเอ็นระบุว่า ประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาอย่าง จีน เกาหลีใต้ กำลังเดินตามรอยญี่ปุ่นด้วยแนวโน้มจำนวนประชากรที่จะลดลงต่อเนื่อง
สำหรับ "ญี่ปุ่น" คาดว่าประชากรจะลดลงเหลือ 107 ล้านคนในปี 2050 จากการสำรวจประชากรญี่ปุ่นปี 2015 อยู่ที่ 127.1 ล้านคน ราว 1 ใน 3 เป็นประชากรที่เลยวัยเกษียณและอายุเกิน 65 ปี
และหากการเติบโตของประชากรยังเป็นไปในทิศทางนี้ มีความเป็นไปได้ว่าในช่วงปี 2050 ประชากรวัยเกษียณจะพุ่งขึ้นเป็นราว 40% ของประชากร ขณะที่คนวัยทำงานจะลดลงเหลือราว 55 ล้านคนเท่านั้น
ประชากรวัยเกษียณจะกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ขึ้น ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นที่มีระดับหนี้สาธารณะสูงที่สุดในโลก ต้องใช้จ่ายเงินในการดูแลประชากรมากขึ้นอีก
จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เมืองต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ได้นำหลาย ๆ กลยุทธ์มาใช้เพื่อหวังเพิ่มจำนวนประชากร
เช่นที่ "เมืองสึวาโน" จังหวัดชิมาเนะของญี่ปุ่น ออกมาตรการดึงดูดให้ชาวญี่ปุ่นมาลงหลักปักฐานใช้ชีวิตในเขตชนบท เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่อพยพไปอยู่ในเมือง จนทำให้เขตชนบทแทบจะว่างเปล่า โดยรัฐบาลท้องถิ่นจะมอบบ้านสร้างใหม่ พร้อมที่ดินให้กับผู้ที่ย้ายมาอยู่ใหม่ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องอาศัยในพื้นที่เป็นเวลานาน 25 ปี
อีกเงื่อนไขสำคัญคือ จะต้องเป็นครอบครัวที่มีลูกอย่างน้อย 1 คน และพ่อแม่จะต้องอายุไม่เกิน 40 ปี โครงการนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2557 โดยเมืองสึวาโนได้คัดเลือกผู้โชคดี 5 ครอบครัว จากผู้แสดงความจำนงทั้งหมด 17 ครอบครัว และมีแผนจะสร้างบ้านให้ผู้ที่ย้ายเข้ามาอาศัยใหม่อีกอย่างน้อย 20 หลังไปจนถึงปี 2018
ขณะที่ "เมืองทาฮาชิ" จังหวัดโอกายามะ ประกาศมาตรการส่งเสริมการมีบุตรโดยแจกเงินสนับสนุน 1 ล้านเยน (ราว 3.2 แสนบาท) สำหรับครอบครัวที่มีลูกคนที่ 4 และครอบครัวที่มีลูกคนที่ 3 จะได้เงินสนับสนุน 5 แสนเยน
นี่คือกลยุทธ์ส่งเสริมการมีลูกของญี่ปุ่น ที่กำลังเป็นประเทศที่จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบก่อนใคร
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลาย ๆ ประเทศที่มีมาตรการส่งเสริมการมีลูกออกมา อย่างที่ประเทศสิงคโปร์รัฐบาลก็มีแผนสนับสนุนทางการเงินให้กับพ่อแม่สำหรับลูกคนที่ 1 และ 2 คนละ 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนลูกคนที่ 3 และ 4 จะได้รับ 6,000 ดอลลาร์สิงคโปร์/คน
...เรียกว่ายุคนี้มีลูกมากไม่ยากจน
สำหรับ "จีน" ประเทศที่มีประชากรราว 1,376 ล้านคนในปี 2015 พบว่าประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 16-60 ปี มีจำนวนลดลง 4.87 ล้านคน มาอยู่ที่ 911 ล้านคน ทำสถิติลดลงเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน
"ยูเอ็น" ระบุว่าในปี 2030 ประชากรจีนจะเพิ่มเป็น 1,416 ล้านคน โดยสัดส่วนคนวัยเกษียณจะเพิ่มเป็น 25% และปี 2050 ประชากรจีนจะลดลงมาอยู่ที่ 1,348 ล้านคน โดยสัดส่วนผู้สูงวัยจะเพิ่มเป็น 36%
ล่าสุดทางการจีนมีแผนขยายอายุเกษียณงานในปี 2017 เพื่อลดแรงกดดันจากปัญหาจำนวนแรงงานที่ลดลง ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานและระบบเงินบำนาญของประเทศ
สำหรับประเทศไทย ธนาคารโลกประเมินว่า ปี 2040 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 17 ล้านคน หรือ 25% ของประชากร 67 ล้านคน จากปัจจุบันประชากรอายุเกิน 65 ปี อยู่ที่กว่า 10% ซึ่งตัวเลขใกล้เคียงกับหลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวว่า ประชากรไทยที่มีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น ถือเป็นความท้าทายด้านนโยบายของรัฐบาลไทย แม้ตัวเลขจะมีความใกล้เคียงกับประเทศอื่น แต่การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ของไทยเป็นไปอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญไทยไม่ได้เป็นประเทศรายได้สูง
ขณะที่การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ทำให้มีภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นมาก เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาสำคัญของไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องวางแผนรับมืออย่างมียุทธศาสตร์
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน