สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤต ซึมเศร้า สตรีเบื่อโลก

จากประชาชาติธุรกิจ

กมลทิพย์ อัศวเมธีสกุล : เรื่อง

จากข้อมูลที่องค์การอนามัยโลก ได้คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2563 โรคซึมเศร้าจะกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพลำดับ 2 ของโลก รองจากโรคหลอดเลือดหัวใจ และยังเป็นปัญหาอันดับหนึ่งของหญิงไทยในยุคปัจจุบัน เมื่อมองตามสภาพความเป็นจริง สังคมไทยยังเข้าใจปัญหาด้านสุขภาพจิตน้อยมากหากเทียบกับปัญหาใหญ่ที่เกิด ขึ้น

"โรคซึมเศร้าเป็นปัญหาของมวลมนุษยชาติมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสภาพความเป็นอยู่ของคนในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเครียด เศรษฐกิจคือปัญหาใหญ่ที่สุด สิ่งเหล่านี้เป็นการกระตุ้นให้เกิดโรค มีตัวบ่งชี้ที่สำคัญคือ อัตราการฆ่าตัวตาย จากสถิติแม้อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต เฉกเช่นชาติที่ใช้ชีวิตจริงจัง อย่าง เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ฯลฯ แต่จากสถิติล่าสุดซึ่งเก็บในปี 2554 โรคซึมเศร้าเป็นปัญหาสุขภาวะลำดับ 1 ของผู้หญิงไทย และติดท็อปไฟฟ์สำหรับเพศชาย" ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยข้อมูลที่ควรตระหนัก

โรคซึมเศร้า หรือ Major Depressive Disorder เป็นโรคทางจิตเวช จะมีอาการเบื่อหน่าย ไม่เพลิดเพลิน นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร โทษตัวเอง ความจำไม่ดี ช้า กระวนกระวาย มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย จุดสังเกตคือ มีอาการเหล่านี้นานเกิน 2 อาทิตย์ เพราะในคนปกติหากเหตุการณ์ผิดหวังหรือกระทบกระเทือนจิตใจ ความเศร้า หดหู่ก็จะทุเลาลงใน 2-3 วัน

"โรคซึมเศร้า หรือเรียกว่าโรคเบื่อก็ได้ เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกเบื่อไปหมด คนทั่วไปชอบคิดว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องนั่งร้องไห้อย่างเดียว แต่ไม่จริงเสมอไป ผู้ป่วยอาจจะมีความเบื่อ เก็บตัว จนไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไรก็ได้เช่นกัน โรคนี้ยังสามารถแบ่งเป็นขั้นเล็กน้อย ปานกลาง และรุนแรง ในรายที่เป็นเพียงขั้นอ่อน หากมีผู้ให้คำปรึกษา พูดคุยก็สามารถดีขึ้นได้โดยไม่ต้องรับประทานยา แต่ที่อยากให้มาพบแพทย์เนื่องจากการซึมเศร้าในบางราย มีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วยอย่างอื่น อาทิ มีเนื้องอกในสมอง เป็นไทรอยด์ ฯลฯ ซึ่งเมื่อมาพบแพทย์จึงจะรู้ได้ว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร

สาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้า มีหลายปัจจัย ในอดีตผู้คนมักเข้าใจว่าเป็นปัญหาของจิตใจ การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคทางจิตเวช 80% เป็นเรื่องของกายภาพ อย่างไบโพลาร์นี่เป็นเรื่องของสมองโดยตรง โรคซึมเศร้า 60% เป็นเรื่องของสมอง อีก 40% อาจจะเกี่ยวข้องกับความกดดัน" ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอธิบาย

การเป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงโรคทางจิตเวช อย่างจิตเภท วิตกกังวล สมองเสื่อม ไบโพลาร์ ย้ำคิดย้ำทำ ฯลฯ เกิดจากภาวะสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล จึงดูเป็นเรื่องที่จับต้องได้ยาก ส่งผลให้คนรอบข้างไม่ค่อยเข้าใจในตัวผู้ป่วย

"เวลาที่ผู้ป่วยท้อแท้ หมดกำลังใจ หรือเบื่อหน่าย คนรอบข้างก็มักจะพูดปลอบประโลม หรือบ้างก็ใช้ถ้อยคำเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งไม่ว่าจะบอกให้ผู้ป่วยเข้มแข็ง อดทน ทำไม ไม่สู้ หรือเปรียบให้เห็นภาพกับผู้อื่นที่ด้อยกว่าก็ตาม ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง บางครั้งอาจไปสร้างความกดดันให้กับผู้ป่วยอีก เหมือนผู้ป่วยเป็นไส้ติ่ง เราไปบอกให้เขาเข้มแข็ง มันไม่มีทางหาย ยิ่งคำว่า"อย่าคิดมาก" กับ "ไม่เป็นอะไรหรอก" ยิ่งห้ามพูด เพราะเวลาที่ผู้ป่วยจะเล่าอะไร เจอคำเหล่านี้ดักทาง เขาก็จะไม่เล่าอะไรให้ฟัง สิ่งที่ควรทำคือสอบถามผู้ป่วยว่า เป็นยังไง มีอะไรเล่าให้ฟังบ้าง เนื่องจากสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการคือหวังให้คนรอบข้างรับฟัง เป็นแรงเสริมในเชิงบวก"

อคติที่สังคมมีต่อโรคจิตเวช ทำให้ผู้ป่วยหลายรายปฏิเสธการรักษา เพราะกลัวจะถูกมองเป็น "คนบ้า"

"ความเป็นจริงโรคจิตเวชทุกวันนี้ คือโรคของสารเคมีในสมอง ไม่ต่างกับพาร์กินสันลมชัก ฯลฯ ไม่ใช่การเหมาตีความไปว่า คนไข้โรคจิตนิสัยไม่ดี แบบนั้นไม่ถูกต้อง ความรู้ใหม่ที่วงการแพทย์พบคือ เมื่อก่อนเรามีความเชื่อว่า เซลล์สมองไม่สามารถงอกใหม่ได้ ต่อมาจึงมีการค้นพบว่าเซลล์สมองมีการงอกตัวใหม่ เกิดขึ้นใหม่เรื่อย ๆ เช่นเดียวกับเลือด ส่วนโรคซึมเศร้าส่งผลให้เซลล์สมองตายง่าย และงอกช้าลง เมื่อโรคมีผลต่อเซลล์สมอง ตัวยาจึงช่วยยับยั้งการตายของเซลล์สมอง ให้เข้าสู่สภาวะปกติ ฉะนั้นการไม่กินยามีแต่ยิ่งแย่"


ศ.นพ.มาโนช อธิบายเรื่องยากับผู้ป่วยจิตเวชว่า เป็นเรื่องที่ขาดกันไม่ได้ ค่าใช้จ่ายก็ไม่น่ากังวล เพราะตัวยาพื้นฐานนั้นอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ สามารถเบิกได้ ในรายของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ควรได้รับการรักษาต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

"ปัจจุบันในระดับสากลมีการพัฒนายารักษาโรคซึมเศร้าไปถึง 30 ชนิด ในประเทศไทย ยาโรคซึมเศร้าไม่ใช่ยาควบคุม แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าใช้ซึ่งหมอก็ไม่แนะนำให้รักษาตัวเอง ควรมาให้แพทย์ประเมินดีกว่า ข้อสำคัญยาจิตเวชทุกตัวไม่ได้มีฤทธิ์กดสมองแต่อย่างใด บางรายกลัวเป็นอันตรายต่อตับ ไต ผมบอกได้เลยว่า ยาพวกนี้อันตรายน้อยกว่าพาราเซตามอลเสียอีก กิน 10 ปียังไม่ติดยา"

ปัญหาโรคจิตเวชมีอีกหลายประเด็น ไม่ว่าจะงบประมาณที่เข้าถึงน้อย คนไข้บางรายไม่ต้องการไปรักษา จิตแพทย์ขาดแคลน ในบางจังหวัดไม่มีแพทย์เฉพาะทางเลยสักรายเดียว ซึ่งทุกอย่างกระทบถึงกันหมด

"คนไม่เข้าใจ งบฯไม่มี การบริจาคก็น้อย สุขภาวะทางจิตต่างจากทางกาย โรคทางร่างกายวัดผลง่าย แต่โรคทางสุขภาพจิตต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะดีขึ้นและยังต้องมาติดตามประเมินผลอีก ผมมองว่าผู้ป่วยจิตเวชเหมือนเป็นโรคชั้น 2ของสังคมไทย หากเปรียบเทียบไม่ต่างอะไรกับผู้หญิงที่ถูกข่มขืน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความผิดของพวกเขาเลย เราควรจะมองถึงความเป็นจริงว่าโรคทางจิตเวชนั้นไม่ได้ต่างอะไรกับอาการเจ็บป่วยอื่นๆ "ศ.นพ.มาโนชสรุปสถานการณ์

สุขภาวะที่ดีไม่ใช่แค่ทางกาย ต้องมีจิตใจที่แข็งแรงควบคู่ไปด้วย การดูแลร่างกาย ไม่ใช่แค่ออกกำลัง แต่ยังต้องรู้จักทบทวนจิตใจตัวเอง ให้มีพลังในการใช้ชีวิตต่อไปด้วย

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบริจาคสมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อปรับปรุงหอผู้ป่วยจิตเวช ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยติดต่อได้ที่ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โทร.0-2201-1929, 0-2201-1478 มูลนิธิรามาธิบดีฯ 0-2201-1111 หรือผ่านทาง ธ.ไทยพาณิชย์ สาขารามาธิบดี บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 026-4-26671-5

PHQ-9 9 ข้อสังเกต ผู้ป่วยซึมเศร้า



- เบื่อ ทำอะไร ๆ ก็ไม่เพลิดเพลิน

- ไม่สบายใจ ซึมเศร้า หรือท้อแท้

- การนอนไม่เป็นปกติ หลับยาก หลับ ๆ ตื่น ๆ หรือหลับมากเกินไป

- เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง

- เบื่ออาหาร หรือกินมากเกินไป

- รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง คิดว่าตัวเองล้มเหลว

- สมาธิไม่ดี เวลาทำอะไร เช่น ดูโทรทัศน์ ฟังเพลง หรือทำงานที่ต้องใช้ความตั้งใจ

- พูดหรือทำอะไรช้าจนผู้อื่นสังเกตเห็น กระสับกระส่ายอยู่ไม่นิ่งเหมือนเคย

- คิดทำร้ายตนเอง หรือคิดว่าหากตายไปเสียก็คงจะดีตั้งสติแล้วเช็กตัวเอง เดือนละครั้ง

หากมี 4 ใน 9 ข้อ ควรไปปรึกษาแพทย์...อย่าได้รีรอ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิกฤตซึมเศร้า สตรีเบื่อโลก

view