สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถอดสูตร ทุนไทย ผงาดบนแผนที่โลก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ทุนไทย,ต่างแดน,เอกชน

ตัวเลขลงทุนไทยในต่างแดน สูงเฉียด 5 แสนล.ในปี 58 สะท้อนการ“ดาหน้า”ปักธงลงทุนบนแผนที่โลกของเอกชนไทย อะไรคือ “สูตรเด็ด"คว้าชัยสังเวียนอินเตอร์

ประเทศไทยเล็กไปแล้ว สำหรับ “บิ๊กทุนไทย” !!

เทียบขนาดประชากรที่ 67 ล้านคน กับ “อาณาจักร” บิ๊กธุรกิจไทย ระดับเจ้าสัว ซึ่งยึด “แผนที่ลงทุน” ในไทยหมดแล้ว จากระดับรายได้ มากกว่า “แสนล้านบาท” ต่อปี

อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.)ในธุรกิจเกษตรครบวงจร ของตระกูลเจียรวนนท์ ที่รุกธุรกิจตั้งแต่ อาหารสัตว์ ,เลี้ยงสัตว์บก สัตว์น้ำ ไปจนถึงธุรกิจแปรรูปอาหาร ไปจนถึงเทเลคอม 

ธุรกิจของบริษัทไทยเจริญ คอร์ปอเรชั่น หรือ ทีซีซี กรุ๊ป เจ้าของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ธุรกิจน้ำเมารายใหญ่ เบียร์ช้างของตระกูล สิริวัฒนภักดี  ที่ผ่านมาทีซีซีกรุ๊ป ยังมีธุรกิจใต้ร่มเงามากถึง 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ,อุตสาหกรรมและการค้า,ประกันและการเงิน,อสังหาริมทรัพย์ และเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร

เครือบุญรอด เจ้าของเบียร์สิงห์ ของตระกูล ภิรมย์ภักดี ที่รุกจากธุรกิจแอลกอฮอล์ สู่นอนแอลกอฮอล์ในธุรกิจเกษตร ธุรกิจอาหาร น้ำดื่ม โซดา และอสังหาริมทรัพย์

เครือเซ็นทรัล ในธุรกิจค้าปลีก โรงแรม และบริหารอสังหาริมทรัพย์ประเภทค้าปลีก ของตระกูล เจียรวนนท์

เครือสหพัฒน์ ในธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ของตระกูล โชควัฒนา 

หรือบิ๊กคอร์เปอเรทอย่าง เครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี ที่มีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ กับขาธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง กระดาษและบรรจุภัณฑ์ และธุรกิจเคมีภัณฑ์ 

เครือปตท.ที่ถือหุ้นใหญ่โดยกระทรวงการคลัง กับธุรกิจพลังงานครบวงจร ตั้งแต่สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ไปจนถึงปิโตรเคมี 

เพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ที่มีทั้งนักลงทุน และเหล่าทายาท (กงสี) ประกอบกับ การมองเห็นโอกาสธุรกิจตรงหน้า ภายใต้ความแข็งแกร่งทางการเงิน 

บิ๊กเนมเหล่านี้ จึงไม่พลาดที่จะออกไป “แสวงหา” โอกาสการค้าและการลงทุนในต่างแดน ยิ่งเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ไม่ต่างจากเศรษฐกิจทั่วโลก กำลังซื้อในประเทศที่ทรุดลง ประกอบกับต้นทุนการซื้อกิจการในต่างแดนที่ต่ำลง 

จึงกลายเป็นโอกาสของการรุก “ซื้อและควบรวมกิจการ” ในต่างแดน  

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า ในปี 2558 การลงทุนของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ มีจำนวน 79 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 1.41 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4.94 แสนล้านบาท 

สูงสุดเป็นประวัติการณ์...!!

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มอาหาร กลุ่มโรงแรมและการท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจบริการ กลุ่มถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มธุรกิจการเงิน

ขณะที่การลงทุนในช่วง 10 ปีที่ผ่่านมา (ตั้งแต่ปี 2549-2558) พบว่า มีการลงทุนไทยในต่างประเทศรวม 550 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 5.85 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือมีมูลค่าสูงถึง “2 ล้านล้านบาท”  

มูลค่าการลงทุนของทุนไทยในต่างประเทศ ยังสวนทางกับมูลค่าการส่งออกที่ลดลง กลายเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้ รัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลชุดนี้ มีแนวคิดที่จะนำผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) มาประเมินภาพเศรษฐกิจ นอกเหนือจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เนื่องจาก GNP ถือเป็นการวัดมูลค่าสินค้า การลงทุนของคนไทยทั้งในและต่างประเทศ

++“เซ็นทรัลกรุ๊ป”ถอดบทเรียนต่างแดน

ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกที่ประกาศชัดว่า “ปีนี้จะเน้นอินเตอร์เนชั่นแนล จะเห็นว่าเซ็นทรัล เริ่มเป็นโกลบอล คัมปะนีมากขึ้นเรื่อยๆ” วิสัยทัศน์ที่ “ทศ จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เล่าและย้ำว่า

ในแผนธุรกิจของเซ็นทรัลกรุ๊ป ลุยลงทุนต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยเบื้องต้นจะยึดอาเซียนและยุโรป 

ทว่า สิ่งที่จะเกิดในอนาคตจะเน้นหนักไปทางตะวันออกกลาง ตุรกี

เมื่อ 9 ปีก่อน กลุ่มเซ็นทรัล ยังเข้าไปบุกธุรกิจ “ค้าปลีก” แดนมังกร ชูแผนลงทุน 10 ปี ผุดศูนย์การค้า แต่สมรภูมิจีนนั้นไม่ง่าย ทำให้ต้องถอนทัพ ไปหาโอกาสขุมทรัพย์ใหม่ที่มีศักยภาพแทน เบนสู่ยุโรป 

โดยในปี 2554 เกม “รุก” ชัดขึ้น เมื่อประกาศซื้อและควบรวมกิจการ ห้างสรรพสินค้าหรู ลา รีนาเซนเต(La Rinascente) ในอิตาลี และขยายการซื้อกิจการอย่างต่อเนื่องครอบคลุมยุโรปทั้ง ซื้อกิจการห้างอิลลุ่ม(Illum) เดนมาร์ก ห้างคาเดเว (KaDeWe) ห้างอัลสแตร์เฮ้าส์(Alsterhaus) และห้างโอเบอร์โพลลิงเกอร์(Oberpollinger) ในเยอรมัน

ส่วนการลงทุนในอาเซียน ได้บุกประเทศเวียดนาม เปิดห้างสรรพสินค้าโรบินส์ 2 สาขา ร่วมทุนกับกลุ่มทุนท้องถิ่น เปิดร้านซูเปอร์สปอร์ต ร้านคร็อก (Crocs) เปิดร้านเพาเวอร์บาย และยังเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย เปิดห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ที่ศูนย์การค้าอีท มอลล์ แกรนด์ อินโดนีเซีย 

นอกจากนี้ ยังลงทุนในมาเลเซีย ทั้งเข้าซื้อกิจการธุรกิจจำหน่ายเสื้อผ้าของทุนท้องถิ่นอย่าง “กลุ่มCHC” ที่ทำยอดขายอันดับ 1 และได้พัฒนาศูนย์การค้าในต่างประเทศแห่งแรกของเครือ ในชื่อ “เซ็นทรัล ไอ-ซิตี้” ซึ่งอยู่ภายในโครงการi-City รัฐสลังงอร์ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการตุลาคม 2561 

โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เซ็นทรัลกรุ๊ป ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 40,800 ล้านบาท แต่แผนในปี 2563 ได้เตรียมงบลงทุน 10,400 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงห้างสรรพสินค้าทั้ง 5 แบรนด์ในยุโรป ให้เป็น “สัญลักษณ์” ของประเทศและเมืองนั้นๆ หวังให้ชื่อชั้นของห้างติดอันดับโลกบนหน้าสื่อชั้นนำของโลกด้วย

ไม่เพียงห้างค้าปลีกที่ขยาย แต่โรงแรมก็รุกหนัก โดยหวังสร้างแบรนด์“เซ็นทารา” สัญชาติไทยให้ก้องโลก ล่าสุดกลุ่มธุรกิจโรงแรมได้เซ็นสัญญาบริหารโรงแรมเพิ่ม 29 แห่ง จำนวนกว่า 6,716 ห้องพัก ทั้งในจีน ดูไบ ตุรกี โอมาน การ์ตา คิวบา ลาว และยังลงทุนอีก 2,500 ล้านบาท สร้างโรงแรมและบริหารเองที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และลงทุนสร้างโรงแรม 4 ดาวเพิ่ม 2 แห่ง ที่ประเทศมัลดีฟท์ จากปัจจุบันบริหารโรงแรมทั้งสิ้น 41 แห่ง จำนวนกว่า 7,867 ห้องพัก ในจำนวนนี้อยู่ในต่างประเทศ 6 แห่ง ได้แก่ เวียดนาม มัลดีฟส์ ศรีลังกา และอินโดนีเซีย

“ความท้าทายการลงทุนในต่างประเทศ ไม่ต่างจากในประเทศเท่าไหร่ ในยุโรปถือว่าไปได้ดี แต่เป้าหมายที่วางไว้ใน 5 ปี จะโตอย่างคิดไว้ไหม เพราะเราจะลงทุนอีกหมื่นล้าน ยอดขายจะขึ้นถึงแสนล้านหรือเปล่า เป็นความท้าทายที่ว่าลงทุนเยอะ ลูกค้าจะมาซื้อของมากขึ้นจริงไหม เวียดนามไปได้ดีพอสมควร”

ย้อนรอยแดนมังกร ตลาดใหญ่ที่เซ็นทรัลถึงกับกางแผน10ปี เตรียมทุ่นทุนขยายสาขาเต็มสูบ แต่ออกตัวไม่กี่ปีก็เบรกและถอยทัพกลับไทย เกิดบทเรียนมากมาย

ทศบอกว่า จริงๆจีนเป็นตลาดที่ทุนทั่วโลกหมายปอง “อยาก” เข้าไปบุก ไป “ปฏิบัติจริง” ก็มาก แต่ส่วนใหญ่ก็เผชิญปัญหาไม่แพ้กันไม่ว่าจะอุตสาหกรรมหรือเซ็กเตอร์อื่น

“บทเรียนจีนมีหลายเรื่อง จริงๆเป็นตลาดที่ยาก เพราะ1.คนที่จะเข้าไปทำต้องอาศัยคอนเน็กชั่น(สายสัมพันธ์)โลคัลมากๆกับทาง รัฐบาล ราชการ ถ้าตรงนี้ไม่มี คุณจะแข่งกับคู่แข่งลำบาก2.คนจีนเก่งมาก เก่งมากๆอยู่แล้ว การที่เราบริหารกิจการไกลๆก็จะยากกว่าคนท้องถิ่น และ3.ประเทศจีนมีขนาดใหญ่มาก ใหญ่จนการบริหารจัดการยาก ขนาดบริหารธุรกิจข้ามจังหวัด กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ หรือกรุงเทพฯ-ภูเก็ตยังเหนื่อยเลย แต่จีนใหญ่กว่าไทย14เท่า ก็ยิ่งยากกว่าเยอะ และเศรษฐกิจก็โตเร็วมาก ปัจจัยหลังทำให้บริษัทต่างชาติที่เข้าไปมีปัญหาเกือบทุกราย” 

ทศบอกว่า การทำธุรกิจทุกวันนี้ ยากขึ้นเรื่อยๆการแข่งขันเข้มข้นขึ้น ราคากิจการที่ซื้อขายทั่วโลก ทุกอย่างแพงขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยที่ไม่แน่นอน

“หลายอย่างไม่แน่นอน หลายคนบอกว่า ตอนนี้เก็บเงินไว้ดีกว่า อีก 3 ปี อาจมีของราคาถูกๆก็ได้ ตอนนี้ของแพง 3G4ฌก็แพง บิ๊กซีก็แพง ทุกอย่างแพงหมด”

++ “ทีซีซีฯ”ฉวย “คอนเน็กชั่น-เทคโนโลยี”

ขณะที่ “โสมพัฒน์ ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด เขยเจ้าสัวแสนล้าน “เจริญ สิริวัฒนภักดี” แห่งทีซีซี กรุ๊ป บอกว่า การที่นักลงทุนไทย ขยายการลงทุนไปต่างประเทศมากขึ้น เพราะมองเป็น“โอกาส” ในการ“ต่อยอด” กับธุรกิจในประเทศ อย่างในกลุ่มทีซีซี ก็จะมีอสังหาริมทรัพย์ เครื่องดื่ม ค้าปลีก เป็นหัวหอก

ล่าสุดยังปรากฎชื่อของ “ทีซีซี กรุ๊ป” โดดเข้าไปประมูลซื้อ “บิ๊กซี เวียดนาม” แข่งกับ กลุ่มเซ็นทรัล และกลุ่มทุนยักษ์ “ลอตเต้” จากเกาหลี

หากพิจารณาจะพบว่ากลุ่มเครื่องดื่ม “เครือไทยเบฟ” เป็นแกนหลักขับเคลื่อน ควบคู่กับ เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ(เอฟแอนด์เอ็น) ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ในสิงคโปร์ อีกขาธุรกิจของไทยเบฟ  ที่จะลงทุนแสวงหาโอกาสซื้อและควบรวมกิจการเพิ่ม พร้อมๆกับการสร้างแบรนด์ระดับ“โกลบอล” ส่วนธุรกิจอสังหาฯ บุกลงทุนต่างประเทศโดย “เฟรเซอร์” อีกขาหนึ่งของเอฟแอนด์เอ็น ส่วนค้าปลีก มี“เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” เป็นหมากสำคัญในอาเซียน

สอดคล้องกับ “ณภัทร เจริญกุล” กรรมการผู้จัดการกลุ่มรี เทล บริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด ระบุปรากฎการณ์ไทยไปลงทุนต่างประเทศเยอะ แน่นอนว่าเพื่อรักษาเวทีการแข่งขันทางการค้าไว้ เพราะการไปต่างแดนจะเกิด “คอนเน็กชั่น” และ “ซีนเนอร์ยี” ธุรกิจจากผู้ประกอบการตามมาอีกมากมาย เติมด้วยการถ่ายโอนเทคโนโลยี ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการได้อีกมาก

ส่วนไปยุโรปกันคึกคัก เพราะมองว่าเป็น “ขาลง” ของเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป ยกตัวอย่างธุรกิจค้าปลีก ออนไลน์เข้ามากินตลาดไปมาก ผนวกกับเศรษฐกิจไม่ดีซ้ำ

“เหมือนตอนเราฟองสบู่แตก ของเราถูกลง ต่างชาติวิ่งมาช้อป วันนี้มองว่าเราแข็งแกร่ง แต่สหรัฐ ยุโรป เริ่มถดดถอย มันเป็นโอกาสที่เราซื้อของที่เราขายให้เขากลับคืนมา และไปเทคโอเวอร์ ในสิ่งที่เขาไม่ไหวแล้วกลับมาด้วย มันเป็นวัฏจักร”

เขาบอกด้วยว่า กลุ่มธุรกิจค้าปลีกถูกเทียบเชิญจากนักลงทุนต่างชาติให้เข้าไปลงทุนในต่าง ประเทศอยู่ต่อเนื่อง แต่ต้องปฏิเสธ เพราะมองว่าตลาดในประเทศยังมีอะไรให้พัฒนาอีกมาก

“มีโอกาสเราก็อยากจะออกไปต่างประเทศ เพราะมีตลาดให้เล่นอีกเยอะ! แต่สิ่งที่เราต้องทำคือในเมืองไทย เพราะที่ดินของท่านประธาน(เจริญ สิริวัฒนภักดี) ยังมีอีกเยอะ แค่ทำในประเทศก็ไม่ไหวแล้ว”

การไปลงทุนต่างประเทศ “ณภัทร” ย้ำว่า ต้องให้ความสำคัญเรื่อง“พันธมิตรท้องถิ่น”เพราะไม่ว่าไทยไปเทศหรือเทศมาไทย ใช่ว่าทุกรายจะประสบความสำเร็จ เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภค ตลาดล้วนแตกต่าง หากปรับตัวไม่ได้ย่อมไม่รอด ดังนั้นการมีทุนท้องถิ่นจึงช่วยได้มาก หากเทียบกับนักธุรกิจไทยต้องไปฝังตัวเองในพื้นที่คงใช้เวลาหลายปีดีดัก!

ไทยออกตัวสตาร์ทลงทุนต่างแดนช้าไปไหม ณภัทร ฟันธงว่า

“ไม่มีอะไรที่ช้า เมื่อก่อนต่างชาติมาซื้อห้างค้าปลีกโลตัส บิ๊กซี ตอนนี้ทุนไทยก็ซื้อกลับหมด..ไม่มีอะไรช้าหรอกครับ” 

------------------------------------ 

เซ็นทรัล : สูตรสำเร็จ “ซื้อ-ควบรวมฯ”

แม้ทุนไทยลงทุนในต่างประเทศ “เชิงรุก” มากขึ้น แต่เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนนีเซีย ไทยออกสตาร์ท“สายไปถึง 15 ปี!!” มุมมองของ “ทศ จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด

แม้จะช้ากว่าชาวบ้าน แต่การลงทุน โดยเฉพาะการเจรจาซื้อและควบรวมกิจการต่างๆ ล้วนเลือนลั่นสนั่นวงการธุรกิจ

ปรากฎการณ์ที่ทุนไทยชอปปิงธุรกิจข้ามโลก แม้จะเพิ่งโด่งดังจนถูกกล่าวขานมากขึ้น ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา นั่นเป็นเพราะบริษัทไทยใหญ่ขึ้น และแข็งแกร่งขึ้น หรือนัยหนึ่งคือ กลายเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงทางการเงินสูง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ ภาคเอกชน ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2540 สถานการณ์กลับกันคือธุรกิจยักษ์ใหญ่ล้มครืนทั้งระนาบ

“พูดง่ายๆ คือว่าธุรกิจไทยมีเงินและเก่งขึ้นด้วย การบริหารจัดการดีขึ้น และเราก็เหมือนกับเพิ่งเริ่มรุกลงทุนในต่างประเทศ แต่จริงๆ เราไปสายมาก!(เสียงสูง) เพราะถ้าจะนับนะ..สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไปก่อนเราตั้งนานแล้วไปกัน 20 ปีที่แล้ว เรามาทีหลังสุดแล้ว และสายมา 15 ปี แต่ตอนนี้เราดังแล้ว เพราะแต่ละดีลทีดังสนั่น”

ทศ บอกอีกว่า กลยุทธ์การซื้อกิจการ เป็นกุญแจที่จะช่วยให้นักลงทุนไทยประสบความสำเร็จได้ในต่างประทศ ซึ่งมรรควิธีนี้ “ดีกว่าไปสร้างเอง”

แม้เขาไม่บอกงบลงทุนซื้อกิจการ แต่วิวัฒนาการดีลของเซ็นทรัลก็เห็นชัดว่า “ไซส์” ใหญ่ขึ้น จากเดิมคุยกันระดับพันถึงหมื่นล้าน แต่ดีลบิ๊กซีในไทยขยับไปถึงแสนล้าน 

“มันกลายเป็นสเกลนั้นไปแล้ว” หากแต่ไซส์ขนาดนี้คงไม่มีใครทำได้บ่อยๆ เว้นแต่จะเป็น2เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์

“2 ท่านนี้ใหญ่สุดๆเงินเยอะ เขาทำดีลแสนล้าน เซ็นทรัลยังไม่เคยทำดีลแสนล้าน”

-------------------------------- 

เอ็มเค : พันธมิตรดี คือ ชัยชนะ

เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่ “เอ็มเค” แบรนด์สุกี้ชื่อดังของไทย เข้าไปลงทุนในต่างประเทศ ประเดิมแดนอาทิตย์อุทัยเป็นแห่งแรก ในการให้สิทธิ์ขยายธุรกิจเฟรนไชส์แทนการเข้าไปลงทุนด้วยตัวเอง “ประวิทย์ ตันติวศินชัย” รองกรรมการผู้จัดการสายการบัญชีและการเงิน บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้มุมมอง

ส่วนสาเหตุที่ออกไปลงทุนนอกบ้าน แน่นอนว่า “มองการเติบโตและขยายอาณาจักร” เมื่อมองเห็นว่าถึงจุดหนึ่งตลาดใน ประเทศเริ่มอิ่มตัว เติบโตช้าลง ขยายธุรกิจหรือเปิดสาขาต่อไปไม่ได้แล้ว “หากศึกษาตลาดและพบว่ามีโอกาสอยู่มาก ธุรกิจที่ดำเนินอยู่มีศักยภาพก็ไป”

“ถ้าเราต้องการเติบโต การไปต่างประเทศจำเป็น เพราะมองในแง่ทิศทางการเติบโตเศรษฐกิจของเราถดถอย หากพึ่งพาในประเทศไม่โต แต่ต่างประเทศก็มีโอกาสโตสูง”

จะไปลงทุนต่างประเทศ มีอุปสรรคมากมายให้ประมือ เริ่มแรกขอมองผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นที่ “ต้องการ” ของตลาดและผู้บริโภคหรือไม่ อย่างธุรกิจอาหารค่อนข้างลำบาก เพราะมีโจทย์รสชาติ รสนิยม ของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกันเอาเสียเลย จึงต้องทำการสำรวจตลาด(Market survey) เพื่อตีโจทย์ให้แตก เพราะหากจะไปเปิดร้านอาหารในอินโดนีเซีย ชาติอิสลาม จะไปขายหมูย่อมไม่ได้ ขณะเดียวกันมีธุรกิจอาหารจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย มานำเสนอให้บริษัทบุกตลาดในไทย ก็ไม่สนใจ เพราะรสชาติที่แตกต่าง อาจไม่ตอบโจทย์ลูกค้า แม้อาหารดังกล่าวจะมีชื่อเสียงและดังมากในประเทศนั้นๆ

“พันธมิตร” ก็สำคัญ ต้องเลือกจับมือกับคนที่ใช่ เข้าใจธุรกิจเป็นอย่างไร มีเงินทุนหรือสายป่านสั้นยาว แค่ไหน เพราะหลายครั้งที่ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จเพราะ “เงินทุนไม่เพียงพอ”

ปัจจุบันเอ็มเค ขยายธุรกิจไปหลายประเทศทั้งญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ฯ แต่ที่หินสุดยกให้แดนซามูไร เพราะประเทศที่เจริญ มีร้านอาหารครบครัน ดี สะอาด สด คุณภาพ เมื่อทุนไทยเข้าไปจึงไม่มีจุดเด่นใดๆ“ญี่ปุ่นยากสุดแล้ว เพราะสิ่งที่เรามีอยู่ไม่ได้สร้างความได้เปรียบคู่แข่งได้เลย กลับเสียเปรียบด้วยซ้ำ”

แม้ยังไม่แผนรุกต่างแดนระยะ 3-5 ปียังไม่คลอด เพราะไม่อยากกดดันแต่เอ็มเค ก็มีแต้มต่อคือเชี่ยวชาญธุรกิจร้านอาหารเครือข่าย(เชน)รู้ระบบ องค์ความรู้ เพราะธุรกิจอาหารเปิด 1 ร้านไม่ยาก แต่หากต้องขยายเป็นสิบๆสาขา จะต้องนำระบบเข้ามาใช้เพื่อรักษาคุณภาพอาหารและบริการแต่บริษัทก็เล็งประเทศ ที่มีศักยภาพในการเข้าไปลงทุนในอนาคตด้วยการจดเครื่องหมายการค้าแบรนด์ร้าน อาหารในต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว เช่น เยอรมัน ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือ ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ถามว่าสนใจลงทุนซื้อและควบรวมกิจการบ้างไหม ประวิทย์ ขอดูความพร้อมและโอกาส เพราะมรรควิธีดังกล่าวทำให้ธุรกิจโตเร็ว สร้างเองต้องใช้เวลานาน ซึ่งวิธีนี้ต่างประเทศใช้กันมานานมาก แต่ไทยเพิ่งเริ่ม!

-----------------------------------

ไทยเบฟ : รู้หน้าตัก-ไม่มือเติบ

ไทยเบฟ เป็นบริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของไทยที่ “บุกลงทุนทั่วโลก” อย่างหนัก และมีชื่อโผล่หลายดีลในต่างประเทศ อย่างล่าสุดคือดีลซื้อเบียร์ดังในอิตาลี ที่พลาดให้อาซาฮีไป มีดีลซื้อเอฟแอนด์เอ็นหลักแสนล้านบาท ที่ทำให้กลายเป็น 1 ใน 5 ผู้นำเครื่องดื่มเอเชีย 

ทว่า ก็เผชิญปัญหาลงทุนแล้วสานต่อกิจการเบียร์ในเมียนมาไม่ได้ สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสมีมากพอๆกับอุปสรรคและความเสี่ยง

การลงทุนของไทยเบฟและประสบความสำเร็จ“ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน)เคยกล่าวไว้ว่าพิมพ์เขียวของความสำเร็จ (blueprint for success) มี 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.ให้ความสำคัญการทำกำไรขั้นต้น เพื่อสะท้อนขีดความสามารถการแข่งขัน ต้นทุนธุรกิจและบริการ 

2.การบริหารกระแสเงินสด แม้การสร้างรายได้เป็นสิ่งสำคัญ การมุ่งขายสินค้ามากจนทำให้ผู้ประกอบการเร่งปล่อยสินค้าให้แก่ลูกค้าในระยะ เวลาหนึ่ง(เครดิตเทอม)และอาจกระทบการเรียกเงิบค่าสินค้าที่ยากขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะช็อต เงินตึงตัว อาจกระทบแผนธุรกิจในอนาคต

3.รู้งบดุลหรือฐานะทางการเงินของบริษัท เพื่อทราบเงินบนหน้าตักว่าพร้อมที่จะทำการค้าขายในสเกลไหน 4.ควบคุมรายจ่าย ธุรกิจที่เติบโตต้องระมัดระวังการใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทอย่างแท้ จริง กรณีไทยเบฟผนึกทีซีซีแอสเสทส์ซื้อและควบรวบกิจการเอฟแอนด์เอ็น ทำให้ได้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เข้ามา แต่ไทยเบฟจะไม่เข้าไปลงทุนอสังหาฯเด็ดขาด เพราะไม่ใช่ธุรกิจหลัก(คอร์บิสสิเนส) และ5.การสร้างทีมงานมืออาชีพ พลรบนนายกองขับเคลื่อนไทยเบฟสู่ความสำเร็จ

“บางทีธุรกิจเติบโต แต่ไม่ได้หมายถึงเราจะมือเติบนะ การทำเอ็มแอนด์เอก็ได้มือเติบ เพราะหากการดำเนินการดังกล่าวอยู่ในพื้นฐานที่เรารับได้ และเป็นประโยชน์ เช่น กรณีไทยเบฟ ลงทุนซื้อกิจการเอฟแอนด์เอ็น เรานึดถือวินัยทางการเงินอย่างนิ่ง ดูความสามารถในการกู้ยืม และการจ่ายคืนเงินกู้ โดยพิจารณาจากระแสเงินสดของบริษัท เพื่อไม่สร้างภาระให้บริษัทถือเป็นสิ่งสำคัญ” และการจะลงทุนใดก็ต้องมั่นใจว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่บริษัท ไม่ผลีผลาม นี่เป็นกลวิธีรักษาความสมดุลหนุนให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ปี 2020 และเพิ่มรายได้ต่างประเทศให้เป็น50%จาก25%

------------------------

แผนที่ลงทุนไทย

ตัวอย่างธุรกิจไทยที่ไปลงทุนทั่วโลก เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) ทำ ธุรกิจเกษตร, ปศุสัตว์, อาหาร, ค้าปลีก,ยานยนต์, เวชภัณฑ์, โทรคมนาคม, การเงินและธนาคารฯ อยู่ในอาเซียน, จีน, อินเดีย, ตุรกี, เบีลเยี่ยมฯ

ทีซีซี กรุ๊ป มีธุรกิจเกษตร, โรงงานผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค โรงงานกระป๋อง-แก้ว, เครื่องดื่ม, จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า, อสังหาฯ อยู่ใน อาเซียน, อังกฤษ สก๊อตแลนด์, จีน และออสเตรีเลีย

บุญรอด บริวเวอรี่ มีธุรกิจเครื่องดื่ม, โรงแรม, ร้านอาหาร, อาหารอยู่ในอาเซียน, อังกฤษ, เยอรมัน, รัสเซีย เล็งทุนเพิ่มในสเปน

กลุ่มเซ็นทรัล มีธุรกิจค้าปลีก, โรงแรม, เทรดดิ้ง ในอาเซียน, มัลดีฟท์, บังกลาเทศ, เยอรมัน, อิตาลี เดนมาร์ก เล็งลงทุนเพิ่มในตะวันออกกลาง

เครือสหพัฒน์ มีโรงงานผลิตอาหาร, สิ่งทอ, โลจิสติกส์ ในอาเซียน, ฮังการี, บังกลาเทศ

ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีธุรกิจโรงแรม,รับบริหารโรงแรม อาหาร,แฟชั่น ในอาเซียน, จีน, ตะวันออกกลาง, ออสเตรเลีย,โมร็อกโก

ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ผลิตและส่งออกอาหาร ญี่ปุ่น, เยอรมัน, นอร์เวย์, โปแลนด์, ทั่วโลกคิงพาวเวอร์สโมสรฟุตบอลในอังกฤษแลนด์แอนด์เฮ้าส์มีอสังหาริมทรัพย์ใน อาเซียน, สหรัฐดุสิตธานีมีโรงแรม, รับบริหารโรงแรมในสิงคโปร์, มัลดีฟท์, เคนย่า, สหรัฐ

สามมิตรมอเตอร์ส แมนูแฟคเจอร์ริ่ง มีโรงงานผลิตชิ้นส่วน, เทรดดิ้ง จีน, ออสเตรเลีย เล็งลงทุนเพิ่มในแอฟริกาเอ็มเคมีร้านอาหาร, เฟรนไชส์ ในญี่ปุ่น, อาเซียน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ถอดสูตร ทุนไทย ผงาด แผนที่โลก

view