สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มองผ่านเลนส์ แรงศรัทธา 100 ปีชาตกาล อ.ป๋วย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย วิไล อักขระสมชีพ oilday@yahoo.com

งานฉลอง 100 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในระดับภูมิภาค เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นในการประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางระดับภูมิภาค หรือ SEACEN Conference ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับฝั่งธนาคารกลางแห่งมาเลเซีย ซึ่งมีผู้ว่าฯ "Dr.Zeti" เป็นแม่งาน

ขณะเดียวกันในประเทศไทย ทาง ธปท.ก็ได้จัดงานฉลองนี้ขึ้นก่อนในวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมากมายด้วยศิษย์สายตรงและลูกน้องที่เคยร่วมงาน และสืบสายไปถึงรุ่นลูกหลาน ที่ต่างหลั่งไหลเข้าร่วมงานกันคับคั่งภายในรั้ววังบางขุนพรหม

อ.ป๋วยได้รับการยกย่องเป็น "บุคคลสำคัญของโลก" โดย "UNESCO" ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ได้เล่าถึงที่มาว่า อาจารย์อัมมาร สยามวาลา ได้เขียนประวัติอย่างละเอียดลออ และดึงจุดเด่นของผลงานอาจารย์ป๋วยขึ้นมาให้เห็นได้ชัดเจน ที่สำคัญคือ ความเป็นคนดีมีคุณธรรมและจริยธรรมในการทำงานที่สูงส่ง ซึ่งอ.ป๋วย ได้รับยกย่องผลงานดีเด่นด้านการศึกษา ในฐานะคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังได้รับยกย่องผลงานด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์อีกด้วย ซึ่งหมายถึงว่า อ.อัมมารสามารถดึงผลงานที่ชี้ให้เห็นความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดความถูกต้องเป็นหัวใจการทำงาน และมีความกล้าหาญที่จะยืนหยัดต่อสู้กับผู้มีอำนาจเพื่อรักษาความถูกต้องของงานที่อาจารย์ทำ ออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน ถึงได้รับการยกย่องมากถึง 3 ด้านทีเดียว

ส่วนผลงานเด่นด้านเศรษฐศาสตร์ของอ.ป๋วย ก็โดดเด่นระดับโลกเช่นกัน เพราะสั่งสมประสบการณ์ทำงานตรงในหลายหน่วยงานรัฐ อาทิ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เป็นต้น แต่เนื่องจากทางยูเนสโกไม่มีด้านเศรษฐศาสตร์หรือพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นแล้ว อาจารย์ป๋วยคงได้รับการยกย่องอีกด้านหนึ่งอย่างแน่นอน

โดยผลงานในระดับภูมิภาคของ อ.ป๋วย ก็คือ ผู้ที่ริเริ่มให้มีการประชุม SEACEN Conference ตั้งแต่ปี 2509 ซึ่งปัจจุบันจัดประชุมทุกปี และยังริเริ่มให้มีหลักสูตรสอนนายธนาคารกลาง ซึ่งบ่มเพาะ "หน่อใหม่" ผู้ว่าการธนาคารกลางขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้

มุมมอง ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. รุ่นใหม่ ที่กล่าวในงานฉลองฯ ด้วยการออกตัวว่า แม้ตนจะไม่เคยได้พบกับอ.ป๋วย และไม่มีโอกาสได้เรียนหรือทำงานกับท่าน แต่ตนก็ได้รับอิทธิพลแนวความคิดด้านเศรษฐศาสตร์ของอาจารย์ป๋วยผ่านครูบาอาจารย์หลายท่านที่เป็นนักเรียนของอาจารย์ป๋วยในเวลานั้น และเมื่อตนได้มาทำงานที่ ธปท. ก็พบว่า ท่านผู้ว่าการป๋วยได้วางรากฐานที่มั่นคงทั้งด้านบุคลากร องค์ความรู้ กรอบกฎหมาย และที่สำคัญที่สุด "มาตรฐานด้านคุณธรรมจริยธรรม" แม้สถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงจากอดีตมาก แต่ก็สามารถเรียนรู้และนำแนวคิดหลักการมาประยุกต์ใช้ได้ดี

เพราะ "ความน่าเชื่อถือ" คือหัวใจของธปท. ดังที่อาจารย์ป๋วยเคยกล่าวไว้ว่า "หลักการของธนาคารก็เช่นเดียวกับหลักการธนาคารทั่ว ๆ ไป คือ เครดิต และ Faith (ศรัทธา) เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือซึ่งกันและกัน ทั้งภายในภายนอก ถ้าขาดเครดิตแล้ว เลิกพูดเรื่องการธนาคารได้"

เป็นคำพูดที่มีความหมายกว้างไกลมาก เพราะในระยะข้างหน้านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานของรัฐด้านเศรษฐกิจจะต้องเร่งสร้างเครดิตและศรัทธา เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในหมู่ประชาชน ถ้าหากไม่ได้รับการยอมรับความน่าเชื่อถือแล้ว ยากที่ไทยจะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะใหม่ ๆ หรือปฏิรูปประเทศให้เกิดผลขึ้นได้อย่างแท้จริง

และอีกมิติที่สำคัญของ ธปท. คือ การสร้างความสมดุลและให้ความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ภายใต้ภาวะปัจจุบันที่ความผันผวนจากภายนอกประเทศเกิดถี่ขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น การสร้างความสมดุลและภูมิคุ้มกันสำคัญมากขึ้น ซึ่ง อ.ป๋วยได้อธิบายแนวทางดูแลเศรษฐกิจและการเงินผ่านทฤษฎีลูกโป่ง ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของนโยบายการเงินนโยบายการคลัง และการเงินระหว่างประเทศ โดยในช่วงที่เคยเป็นผู้ว่าการ ธปท. 12 ปี ได้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
เงินไม่เฟ้อหรือฝืดเงิน

"ดร.วิรไท" ตบท้ายในมิติของคนไทยรุ่นหลัง ที่มองไปข้างหน้าว่า แม้สังคมไทยอาจจะหาปูชนียบุคคลแบบ "อาจารย์ป๋วย" ได้ยากขึ้น เพราะเป็นผู้ที่มีมาตรฐานด้านคุณธรรมจริยธรรม ความสามารถและมุ่งมั่นที่จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมไทยดีขึ้น แต่ก็เชื่อมั่นว่า ถ้าคนไทยรุ่นหลังได้มีโอกาสเรียนรู้และนำเอาหลักคิดหลักการใช้ชีวิตของอ.ป๋วยมาถือปฏิบัติแล้ว เราก็จะเกิดแรงบันดาลใจและเห็นแนวทางช่วยกันทำให้สังคมไทยก้าวไปสู่สังคมมั่นคงและยั่งยืน

แม้ในโลกแห่งความจริงทุกวันนี้ สังคมไทยมีช่องว่างคนรวยคนจนที่สูง ความไม่เท่าเทียมกันที่ทำให้ชีวิตยิ่งอยู่ยากขึ้นทุกทีในโลกดิจิทัล ผู้เขียนก็หวังว่าหากทุกคนยืนหยัด "ความซื่ิอสัตย์และถูกต้อง" สังคมก็อยู่ง่ายขึ้น


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มองผ่านเลนส์ แรงศรัทธา 100 ปีชาตกาล อ.ป๋วย

view