จากประชาชาติธุรกิจ
โดย พงศ์พีระ ชวาลาธวัช www.facebook.com/thaistartupcafe
วันนี้ก่อนเราคุยกันเรื่อง Hardware Startup กับงาน SOLIDWORKS WORLD ผมขออธิบายคำจำกัดความของคำว่า Hardware Startup ก่อนนั่นคือ Startup สายทำสิ่งของที่จับต้องได้ ยกตัวอย่างเช่น สร้างหุ่นยนต์ และเครื่องบินพวก UAV เป็นต้น
ส่วนสาย Software Platform Base คือ Startup สายสร้างของที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งมีตัวอย่างเยอะมาก เช่น Facebook และ Google เป็นต้น
Startup สาย Hardware นั้น เป็นสายที่คนมักจะทำกันน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับสาย Software Platform Base ที่มีข้อได้เปรียบทางด้านการเจริญเติบโตที่เร็วกว่าสาย Hardware ซึ่งสาย Hardware เองนั้นต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยตรง งานHardware ในหลาย ๆ ครั้งยังเสี่ยงต่อการโดนลอกเลียนแบบค่อนข้างสูง โดยผู้ที่ทำสายHardware ต้องปรับตัวเร็วและจะพึ่งพาเพียงฟังก์ชั่นการใช้งานจาก Hardware อย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องพึ่งพาการเชื่อมข้อมูลเข้ากับ Internet of Things และต้องมีการจดคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างรัดกุม
Hardware หลาย ๆ ชิ้นนั้นก่อนที่จะคลอดออกมาให้ใช้งานกันได้ ต้องผ่านกระบวนการออกแบบกันมาแทบทั้งสิ้น โดยทางบริษัท Dassault Systemes และบริษัท Metro Systems Corp PLC ภายใต้การดำเนินงานของ Metro SOLIDWORKS ได้เชิญผมไปศึกษางานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในงาน SOLIDWORKS WORLD Dallas ที่มีวิศวกรเข้าร่วมถึง 5,000 กว่าคนจากทั่วโลก เพื่อมาร่วมกันเรียนรู้และแชร์ประสบการณ์ในการออกแบบ Hardware
ในงานนี้แบ่งออกเป็นโซนหลัก ๆ 3 โซน คือ 1.ห้องโถงกลางสำหรับการสัมมนาใหญ่ในหัวข้อหลัก 2.พาวิเลียนสำหรับการแสดงผลงานของ Startup และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ 3.ห้องสัมมนาย่อยที่มีวิทยากรที่เก่งเฉพาะด้าน เช่น การวิเคราะห์ชิ้นงานชั้นสูงมาบรรยายให้ฟัง แต่นั่นยังไม่ใช่ Highlight ที่ผมอยากจะเล่าให้ฟัง เพราะส่วนที่เด็ดจริง ๆ น่าจะเป็น Guest Speakers ที่ทางงานได้เชิญมา ไม่ว่าจะเป็น
Yves Behar CEO ของ Fuseproject และนักออกแบบยอดเยี่ยมของ Time Magazine ปี 2015, Neil Gershenfeld ผู้อำนวยการศูนย์ MIT′s Center for Bits & Atoms, 1 ใน 50 ผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ของอเมริกา และผู้อำนวยการมูลนิธิ Fab Foundation, David Pogue ผู้ก่อตั้ง Yahoo Tech และอดีตเจ้าของคอลัมน์ Technology จากหนังสือพิมพ์ New York Times, Shuichi Ohno ประธานสมาคม Japan Space Elevator หรือลิฟต์อวกาศ และ Devin Jacobson ผู้ประสานงานการต่างประเทศ
Speaker คนแรกที่ผมอยากเล่าให้ฟัง คือ Shuichi Ohno ประธานสมาคม Japan Space Elevator กำลังสร้างสรรค์ผลงานที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกอยากเห็นความสำเร็จมาก นั่นคือ การทำ ลิฟต์อวกาศ ที่ประเทศญี่ปุ่น โดย Shuichi Ohno ประธานสมาคมเป็นผู้ประสานงานการต่างประเทศ เขาเริ่มจากการเล่าว่า ทำไมเราถึงต้องการ Space Elevator นั่นก็เพราะว่าเราจะประหยัดต้นทุนในการขนส่งและเดินทางขึ้นไปสู่ชั้นอวกาศได้อย่างมาก ซึ่งหลักการของการทำลิฟต์อวกาศนั้นไม่มีอะไรมาก มีเพียงแค่สายเคเบิล, ลิฟต์, สถานีส่งแรง, สถานีปรับระดับความตึง และแน่นอน ท้ายสุดคือที่ขึงเคเบิล ซึ่งก็คือสถานีบนสุดหรือปลายทางนั่นเอง
โครงการนี้มีการพูดถึงตั้งแต่สมัย Arthur C. Clark ในปี 1979 จนมาถึงปี 1991 ที่บริษัท NEC ทำการค้นพบ Cabon Nanotube ซึ่งมีความแข็งแรงเท่าเหล็กกล้า แต่มีน้ำหนักเบาพอที่จะใช้ในอวกาศได้ในปี 2002 แม้แต่ทาง NASA เองก็ออกมาศึกษาในโครงการนี้ด้วยเช่นกัน และได้เริ่มการจัดการแข่งขันการสร้างลิฟต์อวกาศขึ้นตั้งแต่ปี 2005 โดยปัจจุบันโครงการยังไม่สามารถสร้างลิฟต์ที่ว่านี้ได้จริง เนื่องจากการเดินทางขึ้นไปสู่อวกาศโดยมีเพียงแค่สายเคเบิลนั้นมีความท้าทายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพายุซึ่งมีผลกระทบต่อการขนส่งและน้ำหนักของที่จะส่ง ไหนจะเรื่องความร้อนที่ต่างกันในแต่ละชั้นบรรยากาศ เป็นต้น จึงทำให้โครงการนี้ยังดำเนินการคิดค้นวิธีแก้ปัญหาที่ว่ามานี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะแก้ปัญหาได้หมดซึ่งหากเวลานั้นมาถึงจริงเราคงได้ขึ้นไปชั้นอวกาศในราคาที่ถูกลงกว่าปัจจุบันอย่างมาก
Speakerคนถัดมาจะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ คุณนีล (Neil) ปัจจุบันคุณนีลดำรงตำแหน่งที่ศูนย์ Bits and Atoms ของสถาบัน MIT ซึ่งสิ่งที่คุณนีลเล่าให้ฟังนั้นมีความน่าสนใจอย่างมากสำหรับใครที่คิดจะทำ ศูนย์บ่มเพาะ ขึ้นมาสักแห่ง โดยที่มีความเกี่ยวข้องกับการประสานงานระหว่างสิ่งของและข้อมูลตรงตามชื่อของศูนย์ คือ Bits and Atoms
ทางศูนย์มาแนะแนวทางในการดำเนินศูนย์บ่มเพาะที่ชัดเจนมากว่า ทางศูนย์มีความตั้งใจที่จะศึกษาการเปลี่ยนจากข้อมูลเป็นสิ่งของ และจากสิ่งของเป็นข้อมูล โดยล่าสุดคุณนีลได้เล่าให้ฟังว่า เขาทดลองทำไปถึงขั้นให้คอมพิวเตอร์สร้างเครื่องจักร และให้เครื่องจักรสร้างเครื่องจักรอีกต่อหนึ่งแล้ว โดยที่ศูนย์จะบริหารพื้นที่บ่มเพาะ เริ่มต้นโครงการวิจัยเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษา และทำงานร่วมกับภาคเอกชนที่สนับสนุนด้านการเงิน ทุนสร้าง Startup และส่งเข้าไปอยู่ในตลาดที่ดำเนินธุรกิจได้จริง ได้แก่ Dassault SolidWorks, Google, Airbus, Cisco, Sun Microsystems, Microsoft เป็นต้น ซึ่งภายหลังศูนย์แห่งนี้ได้บ่มเพาะลูกศิษย์ออกไปอยู่ตามบริษัทชั้นนำต่าง ๆ เช่น Mr.Jason Taylor รองผู้อำนวยการการวางแผนโครงสร้างของ Facebook และ Mr.Max Lobovsky ผู้ก่อตั้งFormlabs 3D Printer
ผลงานของศูนย์แห่งนี้ได้สร้างบริษัท Startup ออกไปถึง 10 บริษัท โดยบริษัทที่คนไทยสาย Hardware น่าจะรู้จักมากที่สุดคงเป็น Formlabs 3D Printer นั่นเอง
จะเห็นได้ว่า Hardware Startup ต่างประเทศนั้นไม่ว่าจะเป็นอเมริกาหรือญี่ปุ่น จะมีการทำงานที่ครบทุกความต้องการ ตั้งแต่การพัฒนาคนไปถึงการพัฒนาสินค้าเพื่อไปสู่ตลาดจริง โดยบริษัทผู้สนับสนุนจริง ซึ่งในบ้านเราขณะนี้กำลังจะเริ่มมี "ศูนย์บ่มเพาะ" ที่ว่ามาพอสมควร แต่ยังอยู่ในระดับกำลังเจริญเติบโต
ผมได้ข่าวมาว่าทางภาครัฐกำลังให้การสนับสนุนการเจริญเติบโตของศูนย์บ่มเพาะสายHardwareแบบครบวงจร ซึ่งถ้าผมมีข้อมูลใหม่เพิ่มเติม จะรีบนำมาเล่าให้เป็นประโยชน์กับ Startup สาย Hardware Tech ให้ฟังในคราวต่อไปครับ
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน