จากประชาชาติธุรกิจ
การเลี้ยงดูเด็กให้มีการเจริญเติบโต และพัฒนาการที่ดีมีองค์ประกอบ 3 ส่วน (3N) ได้แก่ พันธุกรรม (Nature) โภชนาการ (Nutrition) และการเลี้ยงดู (Nurture)
ภาวะโภชนาการที่ดีของเด็กเริ่มต้นจากสุขภาพที่ดีของมารดา และบิดาตั้งแต่ก่อนปฏิสนธิ นอกจากนั้นสุขภาพและภาวะโภชนาการของมารดาขณะตั้งครรภ์ก็มีความสำคัญเช่นกัน รวมทั้งการดูแลให้นม และอาหารตามวัยที่เหมาะสมในช่วงวัยทารก วัยก่อนเรียน วัยเรียน จนกระทั่งวัยรุ่น
เมื่อพิจารณาถึงภาวะโภชนาการของมารดาก่อนตั้งครรภ์ น้ำหนักตัวของมารดาที่ผิดปกติ คือ มารดาที่มีภาวะทุพโภชนาการหรือภาวะอ้วนก็จะส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ และทารกในครรภ์ จากข้อมูลการศึกษาทางระบาดวิทยาที่ประเทศอังกฤษพบว่าทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อยจะเกิดโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่มากกว่าทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวปกติ นอกจากนั้นข้อมูลงานวิจัยของประเทศเยอรมนี และบราซิล พบว่าทารกที่มีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็วภายในช่วงอายุ 1-2 ปี จะมีโอกาสเป็นโรคอ้วนเมื่อเป็นเด็กวัยเรียนมากกว่าทารกที่มีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวปกติ
ในปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคอ้วนในเด็กเพิ่มมากขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โรคอ้วนในเด็กก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและจิตใจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดความทุกข์ทรมานและอายุขัยสั้นลง รวมทั้งมีการสูญเสียงบประมาณของประเทศในการดูแลรักษาพยาบาลมากขึ้น ปัญหาสุขภาพดังกล่าว ได้แก่ การอุดกั้นทางเดินหายใจและการหยุดหายใจ กระดูกต้นขา และกระดูกบริเวณข้อเข่าผิดรูป ภาวะรังไข่เป็นถุงน้ำ ไขมันสะสมที่ตับ และตับอักเสบซึ่งนำไปสู่ภาวะตับแข็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด โรคหัวใจและหลอดเลือด และปัญหาพฤติกรรมและจิตใจ ดังนั้นโรคอ้วนในเด็กจึงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการป้องกันหรือแก้ไขตั้งแต่แรกพบ เพื่อป้องกันหรือลดโรคแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นต่อไป
ในขณะเดียวกันปัญหาภาวะทุพโภชนาการจากการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมยังพบได้ในเด็กทั้งที่ไม่มีโรคประจำตัว หรือมีโรคประจำตัวระบบต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การเจริญเติบโตที่ไม่สมวัย พัฒนาการช้า และความไม่ก้าวหน้าในการรักษาโรคประจำตัว
นอกจากนั้นเด็กแพ้โปรตีนนมวัวก็ทวีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน โรคแพ้โปรตีนนมวัวมีอาการ และอาการแสดงใน 3 ระบบ ได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร ระบบผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ เด็กอาจแสดงอาการในระบบใดระบบหนึ่ง หรือมีทุกระบบ การดำเนินโรคในเด็กบางคนที่แพ้นมวัวอาจก่อให้เกิดการแพ้โปรตีนในอาหารอื่น อีกหลายชนิดเมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้นแต่เด็กแพ้โปรตีนนมวัวส่วนใหญ่สามารถ กลับไปดื่มนมวัวและกินอาหารที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบได้ภายในอายุ 3-4 ปี
ปัญหาการกินอาหาร (Eating disorders) ที่มักพบในวัยรุ่น ได้แก่ ภาวะเบื่ออาหารเหตุจิตใจ (anorexia nervosa) และ ภาวะอาการหิวไม่หาย (bulimia nervosa) ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในหลายระบบ บางรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตได้
โดยสรุป ภาวะโภชนาการที่ดีในเด็กเป็นสิ่งที่ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการแพทย์ต้องให้ความใส่ใจดูแล ซึ่งเริ่มตั้งแต่ก่อนการปฏิสนธิจนกระทั่งทุกช่วงวัยของเด็กจนถึงวัยรุ่น การป้องกันและดูแลรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้เด็กมีภาวะโภชนาการที่ดี และมีสุขภาพดีตามมา
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน