จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...พรสวรรค์ นันทะ
สภาพ เศรษฐกิจที่ยังไม่เห็นแววจะฟื้นตัว ส่งผลให้สภาพคล่องในระบบล้นทะลักอย่างต่อเนื่อง จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า เงินฝากในธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในเดือน ก.พ. 2559 มีอัตราขยายตัวสูงกว่าสินเชื่อ โดยเงินฝากขยายตัว 5% มียอดคงค้างอยู่ที่ 17.48 ล้านล้านบาท และมีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะติดลบ 0.8% ก็ตาม
ทั้งนี้ เงินในระบบบางส่วนมีนักลงทุนไทยนำไปลงทุนในต่างประเทศ (ทีดีไอ) ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 ที่นำออกไปลงทุน 4,284 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2558 ออกไป 10,554 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ออกไปแล้ว 2,434 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็ตาม
แต่สภาพคล่องก็ยังเหลืออยู่อีกมาก เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อในระบบขยายตัวเพียง 4.8% คิดเป็นยอดคงค้าง 16.12 ล้านล้านบาท เมื่อดูส่วนต่างสินเชื่อกับเงินฝาก จะเห็นว่ามีสภาพคล่องส่วนเกินเหลืออยู่ประมาณ 1.37 ล้านล้านบาท
เงินก้อนนี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้ให้ก่อเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจใดๆ
ที่ สำคัญ คือ สภาพคล่องที่ล้นยังกลายเป็นภาระให้ ธปท. ต้องดูแลดูดซับให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับระดับอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย
ทำให้กลไกตลาดการเงินบิดเบี้ยวอีกต่างหาก
ทั้ง นี้ เนื่องจากในระบบเศรษฐกิจปกติ สภาพคล่องส่วนเกินนี้สถาบันการเงินจะนำไปปล่อยกู้ให้กับธุรกิจต่างๆ เพื่อการลงทุนใหม่ ขยายการลงทุน หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน การผลิต และอุปโภคบริโภค หมุนเวียนเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไป
แต่ปัจจุบัน สภาพคล่องส่วนเกินกลับค้างเติ่งอยู่ในระบบ ไม่ได้นำไปปล่อยกู้ให้กับธุรกิจ เนื่องจากความไม่เชื่อมั่นการฟื้นตัวทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ทำให้ธุรกิจต่างๆ ชะลอการลงทุนใหม่ หรือการขยายการลงทุน จึงไม่จำเป็นต้องใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน
ขณะที่ธุรกิจรายย่อย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหรือครัวเรือนที่ต้องการกู้เงิน มักจะไม่ได้รับเงินกู้ เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง จนมีความเสี่ยงในการชำระหนี้ได้
แล้วธนาคารพาณิชย์ทำอย่างไรกับสภาพคล่องส่วนเกินที่ค้างอยู่ในระบบถึง 1.37 ล้านล้านบาท และมีต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝากเป็นภาระอยู่
วิธี การ คือ ธนาคารพาณิชย์นำเงินมาซื้อพันธบัตร ผ่านการทำธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี ที่ ธปท.ใช้ดูดซับสภาพคล่อง โดย ณ วันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา ธปท.ดูดซับผ่านช่องทางนี้ร่วม 9 แสนล้านบาท ผ่านการออกขายพันธบัตรแบบทวิภาคี อายุ 1 วัน จำนวน 6.5 แสนล้านบาท อายุ 7 วัน 2.4 แสนล้านบาท และอายุ 14 วัน 7,830 ล้านบาท เป็นพันธบัตรที่จ่ายอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ต่อปี คิดเป็นภาระดอกเบี้ยที่ ธปท.ต้องจ่ายแต่ละปีเป็นหลักหมื่นล้านบาท
สภาพ คล่องส่วนเกินบางส่วนยังถูกนำเข้ามาฝากข้ามคืนไว้กับ ธปท. ผ่านหน้าต่าง Standing facilities ที่ ธปท.ต้องจ่ายผลตอบแทนให้แบงก์ ในอัตราดอกเบี้ยนโยบายลบ 0.50% ต่อปี หรือ 1% โดยเมื่อวันที่ 12 เม.ย. มีสภาพคล่องส่วนเกินเข้ามาฝากหน้าต่างนี้ 2.9 หมื่นล้านบาท
เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ระบุว่า ยังไม่อยากเรียกว่า กลไกตลาดบิดเบี้ยว เพราะเมื่อแบงก์มีสภาพคล่องเหลือก็เอามาลงทุนได้ แต่สภาพคล่องมันล้นมานานแล้วและดอกเบี้ยก็ผ่อนคลายมาตลอด แต่แม้จะผ่อนคลาย ดอกเบี้ยของไทยก็ยังสูงกว่าดอกเบี้ยในต่างประเทศ ส่วนการที่แบงก์นำเงินสภาพคล่องมาลงทุนใน 1 Day Repo กับ ธปท. ก็ไม่ได้หมายความว่าแบงก์ไม่ปล่อยกู้ หรือกลไกตลาดบิดเบี้ยว แต่ดอกเบี้ยลดแล้วจะช่วยให้ลงทุนเพิ่มหรือไม่ต้องรอดูต่อไป
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน