จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...วงศ์สุภัทร์ คงสวัสดิ์
ยังคงต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน 20 โครงการ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เบิกทางให้มีการเปิดประมูลโครงการต่างๆ คู่ขนานไปกับการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้
ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมเสนอโครงการรถไฟทางคู่ระยะแรก 4 เส้นทาง ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือน เม.ย.นี้ ได้แก่ ทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน ทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ทางคู่ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร และทางคู่มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ จากที่ก่อนหน้านี้ รฟท.ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างกิจการร่วมค้าซีเคซีเอช ก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี และจะเปิดให้บริการในปี 2561 จึงเท่ากับว่าในช่วงที่เหลือของปี 2559 จะมีการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ 4 เส้นทาง
ขณะที่การลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง ขนาดราง 1.435 เมตร ซึ่งภาครัฐต้องการให้เอกชนเข้ามาลงทุนตั้งแต่แรก 2 โครงการ คือ รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง 1.52 แสนล้านบาท และเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน 9.46 หมื่นล้านบาทนั้น วุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ รฟท. ระบุว่า
“ขณะนี้อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณา ก่อนเสนอเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ดพีพีพี) และ ครม.อนุมัติภายในกลางปีนี้ จากนั้น รฟท.จะดำเนินการตามมาตรา 35 พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 โดยจะคัดเลือกเอกชนและผู้รับเหมาให้แล้วเสร็จภายใน 9 เดือน”
ส่วนโครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งเป็น 1 ใน 20 โครงการเร่งด่วน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม บอกว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นกรุงเทพฯ-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-จีน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประชุมร่วมกับ หลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2559 และได้ข้อสรุปโครงการว่าไทยจะดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กม. เป็นเส้นทางแรก เนื่องจากมีความพร้อมมากที่สุด ซึ่งรถไฟความเร็วสูงช่วงนี้จะออกแบบเป็นรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ใช้ความเร็วสูงสุด 250 กม./ชั่วโมง และใช้เทคโนโลยีจากจีน
“ไทยขอให้จีนพิจารณาปรับราคาค่าก่อสร้างลงใกล้เคียงกับประมาณราคาค่าก่อสร้างของไทย คือ 1.7 แสนล้านบาท โดยคำนึงถึงการใช้วัสดุอุปกรณ์และการออกแบบที่จำเป็น สำหรับแหล่งเงินนั้นไทยอาจจะพิจารณากู้เงินจากจีน ในเงื่อนไขเงินกู้และดอกเบี้ยที่ดีที่สุดสำหรับไทย และเมื่อมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนใหม่ ทางคณะกรรมการเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน จะปรับแผนการดำเนินการโครงการขยายระยะเวลาการประชุมออกไปอีก 4-5 เดือน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณารายละเอียดให้รอบคอบ และคาดว่าการก่อสร้างจะเริ่มได้หลังเดือน ก.ย.ไปแล้ว” อาคม กล่าว
ด้านโครงการความร่วมมือการก่อสร้างรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ และกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง อาคม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างศึกษาแนวเส้นทางเพื่อเสนอแนวทางปรับปรุงที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาเป็นเส้นทางขนส่งสินค้า ช่วงกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ และกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง โดยเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2559 ไทยและญี่ปุ่นได้ทดลองเดินรถขนส่งสินค้าจากหนองปลาดุก-แหลมฉบัง เพื่อทดสอบรางขนาด 1 เมตร
“เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะก่อสร้างเป็นรถไฟความเร็วสูง ทางญี่ปุ่นอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ เบื้องต้นจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้ โดยเส้นทางดังกล่าวจะนำเทคโนโลยีชินคันเซนของญี่ปุ่นมาใช้ในการศึกษา ส่วนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ช่วงแรก กรุงเทพฯ-พิษณุโลก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เสนอรายงานอีไอเอ ต่อมาทางคณะกรรมการชำนาญการได้ขอให้แก้ไขทบทวนผลกระทบด้านเสียงและพื้นที่อ่อนไหวเพิ่มเติมอีก ช่วงที่สอง พิษณุโลก-เชียงใหม่ สนข.อยู่ระหว่างแก้ไขเพิ่มเติมรายงานอีไอเอ” อาคม ระบุ
สำหรับความคืบหน้าของโครงการระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร หรือรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 4 โครงการ พบว่ามีความคืบหน้าไปมาก โดยล่าสุด ครม.มีมติโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ซึ่งในขั้นตอนต่อไป รฟม.จะต้องตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนและเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้
เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอ ครม.เพื่อปรับลดกรอบวงเงินก่อสร้างเหลือ 9.25 หมื่นล้านบาท จากเดิม 9.5 หมื่นล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 1.01 แสนล้านบาท ที่บอร์ด รฟม.จะพิจารณาอนุมัติ และจะเสนอ ครม.ต่อไป โดยคาดว่าจะมีการเปิดประมูลรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทางในช่วงครึ่งปีหลัง
ด้านโครงการรถไฟที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นช่วงที่เชื่อมต่อกับส่วนที่ขาด หรือรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน-สีแดงเข้ม (บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง) ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาเห็นชอบแล้ว รฟท.อยู่ระหว่างเสนอให้กระทรวงคมนาคม ก่อนขออนุมัติจาก ครม.ต่อไป
ในส่วนการลงทุนโครงการมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง คือ เส้นพัทยา-มาบตาพุด กรมทางหลวงได้เปิดประกวดราคาและได้ผู้รับเหมาแล้วทั้งหมด 13 สัญญา คาดลงนามในสัญญาได้ทั้งหมดในเดือน เม.ย.นี้ ส่วนเส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา ได้แบ่งเป็น 40 สัญญา โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2559 จะประกวดราคาหาผู้รับเหมาให้ได้ 20 สัญญา ที่เหลืออยู่อีก 20 สัญญาจะประกวดราคาปี 2560 และเส้นบางใหญ่-กาญจนบุรี แบ่งเป็น 25 สัญญา คาดว่าจะประกวดราคาได้ทั้งหมดเดือน พ.ค.
นอกจากนี้ ในส่วนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) นิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ระบุว่า ขณะนี้ได้ประกาศขายซองประกวดราคาสุวรรณภูมิเฟส 2 ไปแล้ว 2 สัญญา จากทั้งหมด 7 สัญญา โดยมีเอกชนรายใหญ่เข้าร่วมประมูลเป็นจำนวนมาก เช่น สเตท คอนสตรัคชั่น บริษัท ช.การช่าง บริษัท อิตาเลียนไทยฯ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง และห้างหุ้นส่วนจำกัด นภาก่อสร้าง เป็นต้น และที่เหลืออีก 5 สัญญา เช่น งานจ้างก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก งานจ้างก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค และงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (เอพีเอ็ม) เป็นต้น จะเปิดประกวดราคาให้ได้ภายในกลางปีนี้
จึงเท่ากับในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีโครงการที่อยู่ระหว่างการประกวดราคาและจะเปิดประกวดราคาทั้งสิ้น 16 โครงการ
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน