สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปีละ 2 แสนล้าน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย เมตตา ทับทิม

เคยเห็นไหม ? อากาศกรุงเทพฯ เย็นกว่าเชียงใหม่สืบเนื่องจากสงกรานต์ปีนี้ (2559) ขึ้นไปท่องเที่ยวและพักอาศัยอยู่เชียงใหม่ 4 วันอุณหภูมิวัดได้ 41-43 องศา วันเดียวกันทราบมาว่า อุณหภูมิกรุงเทพฯ 38 องศาเซลเซียส

ธรรมชาติที่แปรปรวนนับวันจะจับต้องได้มากขึ้น ชัดเจนขึ้นทุกวัน เดินเข้าร้านอาหารประเภทโอเพ่นแอร์ ถามไถ่เจ้าของร้านหลายรายส่วนใหญ่พูดจาตรงกัน อย่างร้านแก่นชัย สาขา 2 เลียบคลองชลประทาน มีโต๊ะเก้าอี้น่าจะ 40-50 โต๊ะ แต่เดินเข้าร้านมี 2-3 โต๊ะ เจ้าของร้าน (ไม่ได้ถามชื่อ) เดินเข้ามาต้อนรับ และคงถือโอกาสระบายความอัดอั้น บอกว่าปีนี้คนหายไปไหนหมด สงสัยเพราะ 1.เศรษฐกิจไม่ดีจริง ๆ 2.ประสบภัยแล้ง อากาศร้อนจัด คนไม่มีอารมณ์ออกมานั่งกินอาหารนอกบ้าน

ถึงแม้ว่าเทศกาลสงกรานต์เชียงใหม่ปีนี้ ทางชลประทานแม่แตงจะปล่อยน้ำเข้ามาช่วย 5 หมื่นลูกบาศก์เมตร ก่อนหน้าเทศกาล 1-2 สัปดาห์ แต่ก็จำกัดขอบเขตเพียงรองคูเมืองสี่ด้าน ข้างนอกยังแห้งขอดบ่อ ในขณะที่จับสังเกตว่ามีการตักน้ำในคูเมืองมาเล่นกันน้อยกว่าที่คิด อาจเป็นเพราะก่อนหน้านี้มีคำถามกระซิบกระซาบเกี่ยวกับคุณภาพน้ำ เพราะเห็นด้วยตาเปล่าจะเป็นสีเขียว ๆ อื๋อ ๆ ถ้าโดนสาดใส่คงจะคันกันมั่งแหละ

เหลือบไปเห็นเอกสารบนโต๊ะ หัวข้อ "การจัดการน้ำยั่งยืน" ของเครือเอสซีจี ซึ่งอันที่จริงองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ล้วนแต่ทำเรื่องนี้ด้วยกันทั้งนั้น ในมุมของเอสซีจี เขาทำออกมาเป็น 5 กลยุทธ์ด้วยกัน กล่าวคือ 1.การลดความเสี่ยงเรื่องความขัดแย้งกับชุมชนและกฎหมาย 2.การลดความเสี่ยงเรื่องภัยธรรมชาติ 3.การลดการใช้ทรัพยากรน้ำจากธรรมชาติด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต 4.การนำน้ำเสียผ่านการบำบัดกลับมาใช้งาน 5.การพัฒนาความสามารถของบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านน้ำ

หัวข้อน่าสนใจมากที่สุดที่อยากรู้ตอนนี้ อะไรคือองค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำเกี่ยวกับ "การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ" ซึ่งขอฟันธงว่าคือ ภัยแล้ง+น้ำท่วม เพราะดูเหมือนจะคาดเดาลำบาก และทำให้การเตรียมแผนตั้งรับทำได้ยากเย็นขึ้นทุกวัน

ตัวอย่างที่ยกมาเป็นน้ำจิ้มก็มีทาง "เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง" มองหาในเรื่องการจัดหาน้ำสำรองเพิ่มเติม, "โรงปูนซิเมนต์ไทย แก่งคอย" ลงทุนทำบ่อเหมืองดินดาน สำรองน้ำฝนกับแหล่งน้ำสำรอง ความจุ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เห็นบอกว่าถ้าวิกฤตหนักข้อจริง ๆ จะสำรองน้ำใช้ได้นาน 4 เดือน

"โรงงานในกลุ่มเซรามิก" มีการจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติม สำหรับไว้ใช้กรณีวิกฤตจะต้องมีปริมาณใช้นาน 20 วันขึ้นไป อีกตัวอย่างก็จะมี "เอสซีจี แพ็กเกจจิ้ง" ที่เมืองกาญจน์ มีการขุดบ่อบาดาลที่มีปริมาณน้ำสำรอง 3,200 ลูกบาศก์เมตร/วัน เป็นต้น จะเรียกว่าเป็นปฏิบัติการไล่ล่าน้ำสุดหล้าฟ้าเขียวก็ว่าได้

ทำให้นึกแวบไปถึงรัฐวิสาหกิจน้ำอีกองค์กรหนึ่ง "กปน.-การประปานครหลวง" ซึ่งผู้บริหารสูงสุด หรือผู้ว่าการ กปน. "ธนศักดิ์ วัฒนฐานะ" จะเป็นข่าวดังทุกครั้งในหน้าแล้ง เพราะคนวิตกหวั่นไหวว่าเห็นภัยแล้งแล้ว น้ำเพื่อการเกษตรขาดแคลน น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมก็มีปัญหาคุณภาพน้ำดิบ จนเลยเถิดกลัวกันว่าน้ำกินน้ำใช้จะไม่พอ ตัดตอนเฉพาะพื้นที่รับผิดชอบของ กปน. ในเขต 3 จังหวัด "กรุงเทพฯ-นนทบุรี-สมุทรปราการ" ทั่นรับประกันไม่มีปัญหาแน่นอน

ในขณะที่ปัญหาน้ำดิบ หรือน้ำต้นทุน "ผู้ว่าฯธนศักดิ์" ปรารภให้ฟังทุกครั้งว่า ฝนที่ตกในเขตประเทศไทยนั้น ทุกปีเราปล่อยน้ำฝนลงทะเลปีละ 2 แสนล้านลูกบาศก์เมตร ฟังแล้วไม่ต้องตีความอะไรเพิ่มเติมอีก น้ำฟรี หรืออีกนัยหนึ่ง น้ำฝนน้ำฟ้ามีเหลือเฟือ แต่ปล่อยทิ้งลงทะเลไปซะเยอะ

ฟังมาแบบนี้ โจทย์ใหญ่ของภัยแล้งทางรัฐบาลน่าจะหาเวลาว่าง รวบรวมคนเก่ง คนรักชาติทั้งหลาย ทั้งคนของรัฐ-เอกชน-เอ็นจีโอ มาระดมสรรพกำลังหาทางออกร่วมกัน ประกาศสงครามกับภัยแล้งให้เป็นวาระแห่งชาติไปเลยยิ่งดี


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปีละ 2 แสนล้าน

view