จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
พระปรมาภิไธยที่น้ำตกธารมะยมในคราวเสด็จครั้งต่อๆมา
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสทางทะเลภาคตะวันออก เพื่อทอดพระเนตรความเป็นไปในพระราชอาณาเขตร์ ทรงเผชิญกับโจรสลัดที่ใช้เรือติดปืนขนาดใหญ่ดักปล้นเรือสินค้า พอขึ้นฝั่งก็ทรงพบรอยเท้าเสือใหม่ๆ ต้องช่วยกันโห่ไล่ แต่เจ้าป่ากลับคำรามรับ ทรงบุกบั่นขึ้นเกาะช้างถิ่นดงเสือได้ จารึกพระปรมาภิไธยไว้ที่น้ำตกธารมะยม
เรื่องราวผจญภัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในขณะพระชนมายุ ๒๓ พรรษานี้ ปรากฏอยู่ในหนังสือ “ประชุมพระบรมราชประวัติ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง” รวบรวมเรียบเรียงโดย “พระยาอณุชิต” โรงพิมพ์ศิริอักษรพิมพ์จำหน่ายในปี พ.ศ.๒๔๗๔ หนา ๗๓๖ หน้าในราคาเล่มละ ๒ บาท ซึ่งในตอนหนึ่งได้เล่าเรื่องที่เสด็จประพาสหัวเมืองภาคตะวันออกทางทะเลโดย เรืออรรคราชวรเดช ออกจากพระนครในเช้าวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๑๙ เมื่อถึงเกาะสีชังในตอนเย็น เครื่องจักรเรือเกิดมีปัญหาต้องจอดทอดสมอ จึงเสด็จลงเรือบต ๑๒ กรรเชียงขึ้นฝั่ง ทอดพระเนตรไร่ทับทิม ไร่น้อยหน่า และบ่อเงินซึ่งมีตำนานว่า มีผู้ได้ลายแทงว่ามีเงินฝังอยู่ตรงนั้น เมื่อขุดไปก็พบเงินจริง แต่พอจะหยิบเงินก็ลั่นครืดไปเสีย จึงกลายเป็นบ่อน้ำจืดให้ชาวบ้านอาศัยใช้ประโยชน์
เช้าจึงออกจากเกาะสีชัง สายๆก็ถึงเกาะล้านและแหลมพัทยา ตอนนั้นยังไม่มีตึกเหมือนตอนนี้ จึงทอดพระเนตรเห็นแต่ต้นไม้เขียวชอุ่ม มีภูเขาและหาดทราย
เมื่อถึงเกาะเกล็ดแก้ว ได้เสด็จขึ้นประทับบนดาดฟ้าเรือ ทอดพระเนตรเห็นธรรมชาติอันงดงาม จึงเสด็จลงเรือบท ๑๒ กรรเชียงให้เรือบุษบกลากเข้าไปในช่องหลังเกาะ ที่ฝั่งมีภูเขาซับซ้อนเป็นชั้นๆ นับยอดได้ประมาณ ๑๑-๑๒ ยอด พอเรือเข้าไปก็ทอดพระเนตรเห็นยอดเขาซ้อนๆกันเป็นคลื่น ป่าไม้ก็เขียวขจี บางแห่งเป็นเหลี่ยมศิลาลาดสะอาดเกลี้ยงปราศจากต้นไม้แลเป็นเกร็ด ดูเป็นหน้าผาย้อยลงมาถึงท้องน้ำ ทำให้ทรงเกิดอารมณ์กวี ทรงพระราชนิพนธ์โคลงชมเกล็ดแก้ว ๒ บทคือ
เรือน้อยลอยล่องเลี้ยว หลังเกาะ
ตามช่องชื่อไพเราะห์ เกล็ดแก้ว
ผายื่นคลื่นซัดเซาะ เซ็นซ่า
ชายหาดสอาดแผ้ว ผ่องพื้นทรายขาว
พิศเพ่งพนัศพื้น ภูผา
หลายส่ำแสงเศลา เลื่อมพร้อย
ไม้ฉอุ่มพุ่มลัดา- วัลิล่าม เลื้อยแฮ
เฉกชะนิดฉากน้อย ช่างฟ้าผจงเขียน
ตอนบ่ายเรือพระที่นั่งจอดทอดสมอที่สัตหีบ ทรงเรือบทกรรเชียงไปขึ้นที่หน้าบ้านสัตหีบ ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้เป็นกองทัพเรือ เสด็จประทับที่ศาลา ชาวบ้านรู้ว่าเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็มาเฝ้า เอาหอยกับเบี้ยขัดมาถวาย พระเจ้าอยู่หัวทรงไต่ถามทุกข์สุขแล้วพระราชทานเงินให้ชาวบ้านที่เอาของมา ถวาย คนละบาทสองบาท เด็กๆคนละสลึงสองสลึงบ้าง สิ้นเงินไป ๑๐ บาท แล้วเสด็จไปประทับที่พลับพลาซึ่งเมืองบางละมุงมาสร้างไว้รับเสด็จ ประพาสตามชายหาดก่อนเสด็จกลับ
รุ่งขึ้นวันอังคารที่ ๒๖ ธันวาคม เวลาย่ำรุ่ง เรือพระที่นั่งใช้ฝีจักรออกเดินไปทอดสมอที่ช่องแสมสาร เสด็จประทับเรือบทไปขึ้นหาด เสด็จเก็บเปลือกหอยที่ชายหาดเรื่อยไป แต่เมื่อเสด็จไปพลับพลาที่ประทับ ก็ทอดพระเนตรเห็นมีจีนหลายคนถูกคุมตัวอยู่ที่ปรำข้างพลับพลา รับสั่งถามได้ความว่า จีนพวกนี้เป็นโจรสลัด คอยดักปล้นเรือสินค้าที่ผ่านไปมา เมื่อเช้าได้ปล้นเรือลำหนึ่ง คือเรือจีนจำปา ซึ่งเป็นที่ขุนประมูลราชทรัพย์กองส่วยส่ง ได้ออกจากกรุงเทพฯจะไปเมืองจันทบุรี มีเงินติดมาประมาณ ๔,๐๐๐ บาท กับสินค้าอีกจำนวนมาก พวกโจรสลัดลงเรือเล็ก ๓ ลำไปดักหน้า พอเรือขุนประมูลราชทรัพย์เข้ามาใกล้ พวกโจรที่แอบอยู่ในเรือฉลอมก็ยิงทันที กระสุนตกข้างเรือ ขุนประมูลราชทรัพย์รีบแล่นเรือเข้าฝั่ง ได้พบพระศรีสมุทรโภค เจ้าเมืองระยองที่มารับเสด็จ จึงแจ้งให้ทราบ พระศรีสมุทรโภครายงานท่านกรมท่า คือเจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี ซึ่งมารับเสด็จพอดี จึงส่งคนเอาเรืออรรคเรศไปตามจับกลุ่มโจรสลัดมาได้
ปรากฏว่าโจรสลัดกลุ่มนี้ไม่ธรรมดา เป็นคนจีน ๙ คน ส่วนเรือใหญ่นั้นติดปืนใหญ่ขนาดกระสุน ๒ นิ้วถึง ๕ กระบอก ปืนหามแล่น ๑ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒ กระบอก และยังมีดินดำสำหรับทำกระสุนปืนอีกจำนวนมาก พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้พระศรีสมุทรโภคคุมตัวโจรสลัดกลุ่มนี้เข้ากรุงเทพฯ
ตอนบ่าย เรือพระที่นั่งออกจากช่องแสมสาร ไปทอดสมอที่ช่องเสม็ดเมื่อ ๑๗.๐๐ น.แล้ว แต่พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรโรงทำเยื่อเคย จึงเสด็จลงเรือบตให้เรือภิรมย์เร็วจรลากไปประมาณครึ่งชั่วโมงก็ถึงฝั่ง ที่หาดแห่งนี้เป็นทรายแน่นเดินสบาย ไม่มีหอยเล็กๆมีแต่หอยใหญ่เช่นหอยสังข์ และมีต้นสนมาก เมื่อทอดพระเนตรโรงทำเยื่อเคยแล้วจึงเสด็จกลับเรือพระที่นั่ง
วันรุ่งขึ้น ๒๗ ธันวาคม เรือพระที่นั่งถอนสมอออกจากเกาะเสม็ดแต่เช้าตรู่ ผ่านเกาะทะลุ ซึ่งที่หัวเกาะด้านตะวันตกภูเขาได้ทะลุเป็นช่องใหญ่กว้าง ๘ ศอกถึงน้ำ เรือผ่านไปมาได้ ผ่านเกาะมันซึ่งเรียงกันอยู่ ๓ เกาะเข้าหาฝั่ง ผ่านทุ่งกระเบนที่ริมหาดมีน้ำจืดอยู่บ่อหนึ่ง เพราะถูกตาน้ำ แต่ถ้าคลื่นลมจัดจะพัดน้ำเค็มลงไปเต็มบ่อ ชาวบ้านต้องช่วยกันวิดน้ำออกจากบ่อ น้ำจืดจึงไหลขึ้นมาแทนให้กินใช้ได้ต่อไป ตอนนี้จะเหลืออยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้
เวลา ๑๐.๐๐ น.เรือพระที่นั่งเข้าเขตจันทบุรี ถึงเกาะนมสาว แหลมสิงห์ ปากอ่าวเมืองจันทบุรี เรือพระที่นั่งใช้ฝีจักรแล่นไปเรื่อยๆ ผ่านเกาะจุฬา แลเห็นเขาสอยดาวอยู่บนฝั่งตรงอ่าวจันทบุรี ผ่านเกาะเปริด เกาะหนู เกาะแมว เกาะกวาง เกาะนางรำ เห็นเขาสระบาปตั้งอยู่บนฝั่งเป็นทิว ถึงปากน้ำเมืองขลุง (บ้างก็เรียกว่า ปากน้ำเวน) มีเกาะจิกอยู่ตรงหน้าเหมือนเป็นลับแลบังไว้ แลเห็นเขาก้นหอยอยู่บนฝั่ง บ่าย ๑๓.๐๐ น. เรือพระที่นั่งมาถึงแหลมลิง ข้างซ้ายมือเป็นเกาะปุย ข้างขวาเป็นเกาะช้างน้อย หน้าเกาะช้างมีศิลากลางน้ำ เรียกว่า “ขี้ช้าง” เวลาบ่าย ๑๔.๐๐ น.เรือพระที่นั่งทอดสมอที่หน้าเกาะช้าง เกาะนี้เห็นเป็นเขาใหญ่กว่าทุกเกาะในภาคตะวันออก หลายยอดซับซ้อนกัน มีคนอยู่หลายร้อยคน ทำอาชีพหาไม้หอม เช่นไม้กฤษณา และตัดไม้ ทำหวาย ทำพวน ทำรง ทำนา แต่ข้าวไม่พอกิน ต้องซื้อข้าวเมืองตราดมากิน คนทำไม้ในป่ามักจะถูกเสือกัดบ่อยๆ เสือนั้นข้ามไปมากับฝั่งได้ น้ำตกบนเกาะนี้มีหลายสิบแห่ง ที่เป็นน้ำตกใหญ่เรียกว่า "คลองมะยม" บนเกาะเป็นที่ทำการด่าน นายด่านมีบรรดาศักดิ์เป็น พระสาครคชเขตร์
บ่าย ๑๔.๓๐ น. สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จลงเรือบตลำเล็ก ให้เรือภิรมย์เร็วจรลากไป เสด็จขึ้นประทับพลับพลาที่พระยาตราจัดไว้รับเสด็จ พระยาตราดและกรมการนำเอาของหลายสิ่งมาถวาย มีดินนวลหรือดินสอพอง ซึ่งพระยาตราดกราบทูลว่าแถบนี้มีอยู่ ๓ แห่ง ที่อ่าวสลักเพชรนั้นขาวมาก อีกแห่งที่แหลมมะขาม อีกแห่งที่เกาะปุย
พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะเสด็จประพาสทอดพระเนตรน้ำตกคลองมะยม แต่ในแถบนั้นมีเสือชุกชุมมาก จึงตรัสชวนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการไปด้วยกัน ที่มีปืนไปด้วยก็คือ
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มีปืนเอ๊กสปรดกระสุนแตก ๑ กระบอก
กรมหลวงอดิศรอุดมเดช มีปืนวินเชสเตอร์ ๑ กระบอก
พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ มีปืนโกเล็กนิด ๒ กระบอก
เจ้าหมื่นไวยวรนาถ มีปืน๑๒ นัด ๑ กระบอก
รวมปืน ๕ กระบอก คนตามเสด็จ ๘ กลาสีอีก ๔
เมื่อเสด็จขึ้นชายหาด ทอดพระเนตรเห็นรอยเท้าเสือตามหาดหลายแห่ง แห่งหนึ่งตรงริมน้ำเป็นรอย
ใหม่ๆตะกายเข้าป่าเหมือนเพิ่งจากไป โปรดให้กลาสี ๒ คนเฝ้าเรือไว้ อีก ๑๑ คนเข้าป่าโดยทำเสียงดังโห่เฮ้วไปตลอดเพื่อจะให้เสือตกใจหนีไป แต่เจ้าป่ากลับคำรามตอบมา พระเจ้าอยู่หัวตรัสร้อง “เอ๊ะ!” ทั้งหมดจึงเงียบหยุดฟังทันที เมื่อฟังชัดว่าเป็นเสียงเสือคำรามแล้ว จึงพากันโห่ร้องขึ้น แต่เสือก็ยังคำรามตอบมาอีก ๒ ครั้ง และยังมีเสียงกิ่งไม้หักดังโผงผาง ทำเอาต่างสะดุ้งพระทัย แต่ก็ทรงมุมานะต่อไป ปีนป่ายไปตามทางแคบๆรกและชัน พร้อมกับเอาเสียงเป็นเพื่อนไปตลอด เมื่อไปถึงตำบลคลองมะยมแล้วปีนขึ้นไปบนเขา เห็นรอยเท้าสัตว์ต่างๆปรากฏอยู่มาก รอยเท้าเสือก็มี จนปีนขึ้นไปถึงน้ำพุ เห็นเป็นทางน้ำไหลตามซอกเขาลงมา แต่ไม่เห็นต้นน้ำบนสุดที่สูงเกินสายตา เห็นแต่สายน้ำที่หลั่งตกพลั่งๆลงมา ไหลตามหน้าผาลงเป็นสายน่าทัศนีย์เป็นอย่างยิ่ง สายน้ำไหลลงมากระทบศิลาเสียงดังเสมอไม่ขาด น้ำนั้นสะอาดใสเย็นจืดสนิทแท้
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชดำริจะทำกองศิลาเป็นที่ระลึกไว้สักที่ หนึ่ง แต่จะทำโตก็ไม่ได้ เพราะคนไปมีน้อย พื้นที่ก็เล็ก จึงรับสั่งให้ช่วยกันขนศิลาเล็กบ้างใหญ่บ้าง แล้วเอากระดาษของกรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์เขียน มีข้อความว่า
“เราสมเด็จพระปรมินทรมหา จุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าแผ่นดินสยามรัชกาลที่ ๕
๑๒
ได้มาถึงที่นี่ ๒ ครั้งๆหนึ่งเมื่อปีระกา เบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕ กับครั้งนี้ วัน ค่ำ ปีชวด อัฐศก ศักราช
๔ฯ๒
๑๒๓๘ เราทั้งปวงบรรดาที่มาพร้อมกัน ได้ลงชื่อไว้ท้ายหนังสือนี้”
จุฬาลงกรณ์
ภาณุรังสี
กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์
กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช
กรมขุนบดินทรไพศาลโสภณ
ภาษกรวงศ์
เจ้าหมื่นไวยวรนารถ
นอกจากนี้เจ้าหมื่นไวยวรนารถยังศรัทธานำตลับยาสูบเงินของนอกตลับ หนึ่ง มาวางหนังสือลงในนั้น แล้วบรรจุไว้ในถ้วยน้ำชาของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงซึ่งมีตรา เอาจานปิดข้างบนตั้งลงกับพื้นภูเขา แล้วเอาศิลาก้อนใหญ่บ้างก้อนเล็กบ้างกองทับไว้ ที่ตั้งศิลาจารึกนี้อยู่บนชะง้อนศิลาที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงประทับขณะนั้น
นี่ก็เป็นเหตุการณ์ตอนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่มหาราชพระองค์นี้ทรงมีพระวิริยะอุสาหะบุกบั่นเข้าไปในถิ่นทุรกันดารที่ เป็นดงเสือ แต่แทนที่จะมีองครักษ์หน่วยอารักษ์ขาห้อมล้อม กลับต้องทรงโฮ่ไล่เสือด้วยพระองค์เอง ซึ่งเป็นประวัติที่มีคุณค่ายิ่งของน้ำตกแห่งนี้
ลงเรือเล็กขึ้นประทับชายหาดในคราวประพาสภาคตะวันออก
เรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช
ฉายพระรูปที่น้ำตกธารมะยม
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน