สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พูดจาภาษา Startup (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Thai Startup Cafe โดย พงศ์พีระ ชวาลาธวัช www.facebook.com/thaistartupcafe

ผมมีโอกาสได้ไปคุยกับเถ้าแก่เจ้าของโรงงานแห่งหนึ่ง ผู้เริ่มกิจการจากศูนย์ แต่ด้วยความสามารถและจังหวะของโอกาสทำให้เขามีกิจการใหญ่โต มีลูกค้ามากมายจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผมได้ทราบว่าพื้นฐานและหลักการของการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น SMEs เป็น Enterprise หรือเป็น Startup นั้น ไม่ได้ต่างกันเลย

เราคุยกันอย่างมีอรรถรสในเรื่องของกำไร ขาดทุน กำไรสะสม เงินลงทุนแบบสะสม เงินปันผล การเจริญเติบโตของยอดขาย และการขยายกิจการ แต่สิ่งที่ทำให้ Startup แตกต่างและโดดเด่นจากประเภทธุรกิจอื่น คือเรื่องของความเร็วในการเจริญเติบโต ที่ต้องทำให้มันโตโดยเร็วที่สุดและมีผลกำไรสูงสุด หรือครอบคลุมตลาดได้มากที่สุด รวดเร็วที่สุดนั่นเอง

Startup ที่ประสบความสำเร็จ ที่เราเห็นกันนั้นส่วนใหญ่เป็น Internet Tech Startup ที่ใช้ Concept ของการ SharingEconomy โดยไม่ต้องลงทุนทรัพย์สินเป็นของตัวเอง เช่น Grab Taxi ก็ไม่ได้มีรถแท็กซี่เป็นของตนเอง หรือ Kaidee ก็ไม่ได้มีสินค้าเป็นของตัวเอง Food Panda ก็ไม่ได้มีร้านค้าเป็นของตัวเอง แต่เกิดจากการที่พวกเขาพยายามสร้างหน้าร้าน

ทีนี้ถามว่า Startup จะทำการขยายธุรกิจแบบค่อย ๆ ทำ โฆษณาออนไลน์ได้หรือไม่ ? ทำเท่าที่มีเงิน หรือหยุดทำเมื่อไม่มีเงิน

คำตอบคือไม่ได้ครับ เพราะถ้าตลาดคุณเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่แบบ Kaidee แต่คุณไม่ทุ่มเงินลงทุนในการนำลูกค้าเข้ามาให้ได้มากที่สุดและต่อเนื่อง สุดท้ายส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจคุณจะลดลง เพราะโดน Startup อีกตัวหนึ่ง ดึงฐานลูกค้าไปนั่นเอง จึงเกิด สงครามแย่งตัวลูกค้า ขึ้น อีกทั้ง Startup จำต้องแสดงศักยภาพให้กับนักลงทุนเห็นอย่างที่เคยได้สัญญาไว้ตอนขอระดมทุน และเพื่อให้นักลงทุนทำการลงทุนต่อ หรือต้องการ Exit หรือขายกิจการในอนาคต อาจจะฟังดูเหมือนจะต้องทุ่มเทและลงทุนเยอะ แต่ถ้าประสบผลสำเร็จมา ผลตอบแทนก็คุ้มค่ามากเลยครับ

ดังนั้นถ้าเราอยากจะเข้าวงการ Startup เราต้องเข้าใจศัพท์เทคนิคที่คนในวงการ Startup ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือนักลงทุนพูดกัน กลุ่มคำศัพท์พวกนี้เป็นกลุ่มคำที่ใช้บ่อย โดยผมได้รวบรวมมาจาก TechCrunchและ Forbe

ผมจะค่อย ๆ เล่าไป เพื่อปูพื้นให้คนไทยเข้าใจ และไม่แปลมาตรง ๆ เพราะเมื่อคนนอกวงการมาอ่านจะเข้าใจยากมากครับ

เริ่มตัวแรก Acqui-hire แปลตรงตัวได้ว่า "ซื้อตัว" คำนี้น่าจะเป็นคำแรก ๆ ที่เมื่อผมได้ศึกษากลยุทธ์จากพวก Venture ต่างประเทศแล้ว ได้พบว่าหลาย ๆ ครั้งที่ Startup นั้นไป Pitch หลาย ๆ ครั้งนักลงทุนจะปลื้มในความสามารถ การคิดวิเคราะห์และนำเสนอ แต่จะไม่ปลื้มในไอเดียที่มานำเสนอและจะเกิดการซื้อทั้งบริษัทมาเลย เพื่อซื้อตัวมาประกอบร่างกับ Startup อื่นที่กำลังรุ่งนั่นเอง

Accelerator หรือ Incubator แปลตรงตัวว่า ศูนย์บ่มเพาะกิจการ Startup โดยผมเองเคยทำงานกับศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งหนึ่ง เคยเข้าใจว่ามันคือการทำเครื่องเร่งอนุภาค ซึ่งก็ไม่ผิดครับ เพราะมันความหมายเดียวกัน เพียงแต่ต่างวงการกันเท่านั้นเอง

"ศูนย์บ่มเพาะ" นี้ หน้าที่จะมีตั้งแต่ให้ Angel Fund เล็ก ๆ น้อย ๆ การสอนธุรกิจ การเป็นที่ปรึกษาและนำพาให้ธุรกิจสามารถไปรอดในระดับที่พอจะเลี้ยงตัวเองได้ เพื่อนำพาตัวเองไประดมทุนในระดับต่อไป

Bootstrapping อันนี้ไม่มีคำแปลตรงตัว จะแปลเป็นไทยได้ว่า การใช้เงินที่ได้มาจากลำแข้งตัวเองในการเริ่มธุรกิจ Startup ซึ่งเวลาเราไประดมทุนมักจะมีนักลงทุนถามประจำว่า เราใช้เงินอะไรในการทำ Startup เราสามารถตอบได้ว่า Bootstrap อยู่ ถ้าใช้เงินตัวเอง

Burn Rate แปลได้ว่า อัตราการเผาผลาญ ซึ่งเป็นคำเลียนแบบมาจากอัตราการเผาผลาญแคลอรีของร่างกาย แต่ในที่นี้เราใช้กับเงินทุนที่บริษัท Startup มี (อยู่น้อยนิด) เช่น ถ้า Founders มีกันอยู่ 1 ล้านบาท แต่บริษัทมีค่าใช้จ่าย 1 แสนบาทต่อเดือน เท่ากับรับรู้ไว้ได้เลยว่า บริษัทนี้จะมีชีวิตได้ไม่เกิน 10 เดือน ถ้าไม่มีรายได้ใดเข้ามา เพราะฉะนั้น ผู้ก่อตั้งบริษัทควรจะรีบระดมทุนเสีย หรือหาทางลด Burn Rate ตัวเองลง ถ้าคิดว่ายังไม่สามารถระดมทุนได้เร็ว ๆ นี้

Failure แปลตรงตัวว่า "ความล้มเหลว" ซึ่งก่อนผมจะมาศึกษา Startup นั้น ความล้มเหลวสำหรับผมและกับหลาย ๆ คน คือความน่าอาย ความไม่ฉลาดพอ ความไม่เตรียมตัวให้พร้อม แต่สำหรับที่ Silicon Valley นั้น มันคือสิ่งที่น่ายกย่องชื่นชมและเชิดชู นั่นเพราะว่า โทมัส เอดิสันเคยกล่าวเอาไว้ว่า การพลาดนั้น ไม่ได้หมายถึงว่าคุณไม่เก่ง แต่หมายถึงว่าคุณได้ค้นพบวิธีที่ทำให้สิ่งที่คุณทำอยู่นั้นล้มเหลวได้อีกหนึ่งวิธี เพราะฉะนั้นจงล้มเหลวและเรียนรู้จากมันซะ

Cashflow Positive หมายถึง กระแสเงินสดที่อยู่ในแดนบวก หรือพูดภาษาเถ้าแก่ คือ กิจการยังกำไรอยู่นั่นเอง

Deck คำนี้จะมีคนใน Startup พูดอยู่ตลอดว่า Pitch Deck แปลภาษาชาวบ้านได้ว่า Presentation Slide เพียงแต่ถ้าเป็น Startup Style จะมีจำนวนหน้า Slide ไม่เยอะ ประมาณ 7-12 หน้า โดยเน้น Infographic มากกว่าข้อความเพื่อให้คนดูเห็นภาพและคล้อยตามได้ง่าย

Disruptive Technology คือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง เช่น เมื่อก่อนเราจะเดินทางด้วยรถแท็กซี่ เราก็จะเดินไปเรียก หรือโทร.เข้าศูนย์แท็กซี่ แต่ปัจจุบันมี Grab Application บนมือถือ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียกแท็กซี่

Pivot แปลตรงตัวว่า "การเปลี่ยนแปลง" เพราะ Startup นั้นเป็นรูปแบบธุรกิจที่ต้องโตเร็ว จึงทำให้ไม่สามารถที่จะอยู่กับความนิ่งของบริษัทได้นาน เพราะเพียงแค่นิ่งก็อาจจะหมายถึงความล้มเหลวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จึงต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง

เช่น คุณทราบหรือไม่ว่า AirBnB ก่อนที่จะดังขนาดนี้เคยขายไม่ออกมาก่อน นั่นเป็นเพราะว่าคนที่ถ่ายรูปบ้านมาลงนั้น ถ่ายแบบขอไปที ทำให้คนที่จะมาเช่าไม่สนใจ จน Founders ต้องไปช่วยถ่ายรูปเองเมื่อ Pivot เปลี่ยนรูปที่ลงแสดงให้คนเห็นกิจการก็เลยไปได้สวยดั่งรูป จนทุกวันนี้ธุรกิจ AirBnB มีมูลค่าหลักพันล้านเหรียญเข้าไปแล้ว


ครั้งหน้าเราจะมาต่อศัพท์เทคนิค "หมวดตัว P" ครับ เช่น Pre Post Money Valuation ถ้าใครไม่เข้าใจคำศัพท์ตัวไหน หรือมีคำศัพท์ที่ไม่ทราบความหมายและอยากสอบถาม สามารถเข้าไปสอบถามในเพจเฟซบุ๊กผมได้เลยครับ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พูดจาภาษา Startup (1)

view