จากประชาชาติธุรกิจ
หลายปีที่ผ่านมานี้ ต้องถือว่า "โลกรถยนต์" โดนมรสุมกระหน่ำจนซวนเซ ตั้งแต่พิษ "ทาคาตะ" ซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่ทำเรื่องให้ค่ายญี่ปุ่นทั้งโตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน และอีกหลายยี่ห้อ ต้องระดมกำลัง "รีคอล" เรียกรถกลับเข้าศูนย์บริการเพื่อเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยเที่ยวนั้นทำเอาผู้ผลิตรถยนต์หลายยี่ห้อเสียรังวัด ไปพอสมควร
ตามมาด้วยค่ายรถยนต์ฝั่งยุโรป โฟล์คสวาเกน ยักษ์ใหญ่ของโลกจากเยอรมนี ถูกแฉว่ามี "ซอฟต์แวร์" ซึ่งสามารถโกงค่าไอเสียของรถโฟล์คที่ขายในสหรัฐอเมริกา เพื่อทำให้เสียภาษีต่ำลง
จนกระทั่งโฟล์คสวาเกนต้องออกมายอมรับในที่สุด ลุกลามไปถึงผู้บริหารต้องประกาศลุกออกจากที่นั่ง
และล่าสุดรอยเตอร์สรายงานว่าโฟล์คสวาเกนได้บรรลุข้อตกลงกับทางการสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนั้น โดยโฟล์คสวาเกนจะยอมจ่ายเงินคืนลูกค้ารายละ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็เป็นเพียงกระแสข่าวเท่านั้น ยังไม่เป็นทางการแต่อย่างใด
และที่เป็นข่าวฮือฮาไม่แพ้กัน หลัง "เทตสึโอ ไอคาวะ" ประธานและประธานฝ่ายปฏิบัติการ และผู้บริหารหลายคนของบริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ออกมาแถลงข่าวร่วมกันที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ยอมรับว่า มีการโกงผลการทดสอบค่าการประหยัดน้ำมันของรถยนต์มิตซูบิชิจำนวน 625,000 คัน ซึ่งรวมทั้งรถยนต์ที่มิตซูบิชิผลิตให้แก่นิสสันด้วย
แม้ว่าการยอมรับครั้งนี้จะกระทบต่อธุรกิจอย่างแรงส่งผลให้หุ้นมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ร่วงลงราว 20%รวมถึงการเบรกสายการผลิตรถยนต์บางรุ่นลง
มีนักวิเคราะห์ด้านยานยนต์คาดการณ์ว่า ความผิดในครั้งนี้ จะทำให้มิตซูบิชิต้องเสียเงินจำนวนมหาศาลซึ่งเป็นการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกค้าและคู่ค้าอย่างนิสสัน
แต่สิ่งที่น่าชื่นชมนั้นก็คือ การยืดอกยอมรับผิดแบบลูกผู้ชายคำขอโทษอย่างสุภาพ ที่บางครั้งกว่าจะหลุดออกจากปากของคนทำธุรกิจ
"ยากเย็นแสนเข็ญ" แต่สำหรับผู้บริหาร มิตซู ตรงกันข้ามหลายคนคงจำได้ว่า การ "รีคอล" ที่ค่ายรถยนต์พยายามชี้ให้เห็นว่าเป็น "สปิริต"
กล้ายอมรับผิดและรับผิดชอบเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่ให้ลูกค้าโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
แต่ถ้าเหตุการณ์ทำนองนี้เกิด "ซ้ำซาก" รับรองไม่มีใครให้อภัยได้บ่อยแน่นอน
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน