สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดร่าง พ.ร.บ. ความผิดคอมพิวเตอร์

จากประชาชาติธุรกิจ

หมายเหตุ – ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างฯ มีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้


1.กำหนดโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท สำหรับผู้ที่ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่น โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้ อันเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีอำนาจกำหนดแนวทางเกี่ยวกับลักษณะและวิธีการส่ง และลักษณะและปริมาณของข้อมูล ความถี่และวิธีการของการส่ง ซึ่งไม่ถือเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับก็ได้ (ร่างมาตรา 4 เพิ่มมาตรา 11 วรรคสอง และวรรคสาม)

2.กำหนดโทษจำคุก ตั้งแต่ 1 ปี ถึง 7 ปี และกำหนดโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 140,000 บาท สำหรับผู้ที่เข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ โดยมิชอบ หรือผู้ที่ล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำ ขึ้นเป็นการเฉพาะไปเปิดเผยโดยมิชอบ หรือผู้ที่เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ โดยมิชอบ หรือผู้ที่ดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งใน ระบบคอมพิวเตอร์ หรือผู้ที่ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่บุคคลอื่นโดย ปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูล อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุขซึ่งถือว่าเป็น การกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความ มั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะและกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท สำหรับผู้ที่กระทำความผิดดังกล่าวที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อข้อมูล คอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของ ประเทศ ฯลฯ (ร่างมาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 12)

3.กำหนดโทษสำหรับผู้ที่ทำให้เสียหาย ทำลายแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ หรือผู้ที่กระทำการเพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้โดยมิชอบ ดังต่อไปนี้

3.1 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และกำหนดโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท ในกรณีที่การกระทำความผิดดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น

(ร่างมาตรา 6 เพิ่มมาตรา 12/1)

3.2 กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 300,000 บาท ในกรณีที่การกระทำดังกล่าวกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ฯลฯ (ร่างมาตรา 6 เพิ่มมาตรา 12/2)

3.3 กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 400,000 บาท ในกรณีที่การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน หรือน่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ฯลฯ (ร่างมาตรา 6 เพิ่มมาตรา 12/3)

4.กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับผู้จำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับผู้ที่เข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะโดยมิชอบ หรือผู้ที่นำมาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะไปเปิดเผยโดยมิชอบ หรือผู้ที่เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะโดยมิชอบ หรือผู้ที่ดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ หรือผู้ที่ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์โดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูล หรือผู้ที่ทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ทั้งนี้ ผู้จำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็น เครื่องมือในการกระทำความผิดอื่น จะต้องรับผิดทางอาญาที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นนี้ เฉพาะเมื่อผู้จำหน่ายหรือเผยแพร่ได้รู้หรืออาจเล็งเห็นได้ว่าชุดคำสั่งที่ จัดทำขึ้นโดยเฉพาะจะนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดดังกล่าว (ร่างมาตรา 7 เพิ่มมาตรา 13 วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่และวรรคห้า)

5.กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับผู้ที่นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน หรือนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศความปลอดภัยสาธารณะความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ฯลฯ (ร่างมาตรา 8 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 14)

6.กำหนดโทษสำหรับผู้ให้บริการที่ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ให้ได้รับโทษเช่นเดียวกันกับผู้กระทำความผิด ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีออกประกาศ กำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ และถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีแล้วผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ (ร่างมาตรา 9 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 15)

7.กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท สำหรับผู้ที่นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่นและภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการ สร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใดโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย รวมถึงในกรณีที่เป็นการกระทำต่อภาพของผู้ตาย และการกระทำนั้นน่าจะทำให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ทั้งนี้ หากการกระทำดังกล่าวเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยสุจริต อันเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ผู้กระทำไม่มีความผิด (ร่างมาตรา 10 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 16)

8.กำหนดเกี่ยวกับกรณีที่มีคำพิพากษาว่าจำเลย มีความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่นที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อเติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือด้วยวิธีการอื่นใด ทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ยึดและทำลายข้อมูลที่มีภาพดังกล่าว หรือให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสื่อที่ใช้ข้อมูล อิเล็กทรอนิกส์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ ตามที่ศาลเห็นสมควร โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา พร้อมทั้งกำหนดโทษกึ่งหนึ่งจากอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท สำหรับผู้ที่รู้ว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในความครอบครองของตนเป็นข้อมูลที่ ศาลสั่งให้ยึดและทำลาย แต่ไม่ทำลายข้อมูลดังกล่าว (ร่างมาตรา 11 เพิ่มมาตรา 16/1 และมาตรา 16/2)


9.กำหนดให้คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับดังกล่าวให้มีจำนวน 3 คน โดยเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำนวน 1 คน (ร่างมาตรา 12 เพิ่มมาตรา 17/1)

10.กำหนดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้า หน้าที่เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ หรือความผิดอาญาต่อกฎหมายอื่นซึ่งได้ใช้ระบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูคอมพิวเตอร์เป็นองค์ประกอบหรือเป็นส่วนหนึ่งใน การกระทำความผิด (ร่างมาตรา 13 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 18)

11.กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยความเห็นชอบจาก รัฐมนตรีมีอำนาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มี คำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะตามที่กำหนด ไว้ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ และกำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง มีจำนวน 5 คน โดยเป็นผู้แทนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 คน (ร่างมาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 20)

12.แก้ไขเพิ่มเติมนิยามคำว่า “ชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์” ตามมาตรา 21 (ร่างมาตรา 15 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 21 วรรคสอง)

13.กำหนดให้ข้อมูล ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตาม พ.ร.บ.นี้ หรือที่พนักงานสอบสวนได้มาจากการร้องขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้ตามมาตรา 18 วรรคสอง ให้อ้างและรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยานได้ แต่ต้องเป็นชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการ

จูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น (ร่างมาตรา 16 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 25)

14.กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่า 90 วัน นับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในกรณีจำเป็น กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้บริการเก็บรักษาข้อมูลดังกล่าวไว้เกิน 90 วัน แต่ไม่เกิน 2 ปี เป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายและเฉพาะคราวได้ และให้ผู้ให้บริการมีสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ร่างมาตรา 17 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 26 วรรคหนึ่ง)

15.กำหนดให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ (ร่างมาตรา 18 เพิ่มมาตรา 28 วรรคสอง และวรรคสาม)

16.กำหนดให้มีระเบียบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการสืบสวน การแสวงหาข้อมูลและรวบรวมพยานหลักฐานในคดีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การดำเนินการตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง (4) (5) (6) (7) หรือ (8) และการดำเนินการอื่นใดอันจำเป็นแก่การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ร่างมาตรา 19 เพิ่มมาตรา 31)



ที่มา มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 1 พ.ค. 2559


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดร่าง พ.ร.บ. ความผิดคอมพิวเตอร์

view