จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...วีรวินทร์ ศรีโหมด
หลังจากที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติม “พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ....” ผ่านการพิจารณาความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19เม.ย. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกครั้งเมื่อวันที่ 28เม.ย. ด้วยคะแนนเสียงอย่างราบรื่น 160 ต่อ 0 และงดออกเสียง 3 เสียง และขณะนี้ร่างแก้ไขฯ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวกำลังถูกนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญฯก่อนนำไปประกาศใช้ แต่ทะว่า” ยังไม่ทันเริ่มก็มีเสียงวิพากษ์ วิจารณ์เป็นอย่างมากถึงร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับนี้ที่ให้ รมว.ไอซีที สามารถตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการลงโทษกับผู้ใช้สื่อบนอินเทอร์เน็ตที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงสามารถปิดบล็อกเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น รวมถึงมาตรการเพิ่มบทลงโทษให้หนัก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่านี่อาจจะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นในการแสดงออกผ่านโลกออนไลน์ของประชาชนหรือไม่
ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ ให้ความเห็นว่า พรบ.ฉบับดังกล่าวสำหรับการแก้ไขข้อกฎหมายภาพรวมจากเดิมที่ไม่ชัดเจน ฉบับนี้หลายข้อถือว่าแก้ไขได้ค่อนข้างดี เช่น เรื่องการเพิ่มโทษที่เกี่ยวกับความมั่นคง หรือการดำเนินการสืบสวน สอบสวนกรณีที่เกี่ยวข้อง แต่ส่วนตัวก็ยังมองว่า พรบ.ฉบับแก้ไขใหม่นี้ ในมาตรา 20(4)ได้ให้อำนาจกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ (ไอซีที) มากเกินไปหรือไม่ คือ ให้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2ชุด อาทิ คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูล และคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ
ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะในส่วนคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูล ในมาตรา 20 ระบุว่าเมื่อคณะกรรมฯชุดนี้พิจารณาแล้วพบว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลพบว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรมมอันดี ก็มีอำนาจสามารถปิด บล็อกเว็บไซต์ข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ผ่านสื่อทุกประเภทได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ในกฎหมายฉบับเก่านั้น ระบุไว้ว่า เมื่อ รมว.ไอซีที เห็นข้อมูลความผิดที่เข้าข่ายสามารถรวบรวมพยานหลักฐานและขอให้ศาลสั่งปิดสื่อที่เข้าข่ายได้ ซึ่งเรื่องนี้หลายฝ่ายมองว่า คณะกรรมการฯดังกล่าวมีอำนาจค่อยข้างมาก ดังนั้นถ้าจะใช้หลักการตามร่างใหม่ ก็อยากให้มีการตั้งคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาเป็นคณะกรรมการชุดนี้ รวมถึงคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ จะต้องวางหลักเกณ์ที่ชัดเจน และน่าเชื่อถือ เช่น มาจากประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง หรือบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะซึ่งจะทำให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นและเพื่อคลายความกังวลจากสังคมให้ลดน้อยลง มิฉะนั้นสังคมอาจมองจะว่าเป็นเรื่องการฤทธิรอนสิทธิเสรีภาพก็เป็นได้ แต่ถึงอย่างไรส่วนตัวมองว่าถ้าสามารถตัด มาตรา 20(4) ได้ก็ควรตัดออกไป เพราะในมาตรา20(3) ทางกฎหมายก็ระบุแล้วว่า เมื่อมีผู้กระทำความผิดตามกฎหมายสามารถปิดสื่อออนไลน์ได้อยู่แล้วซึ่งเท่านี้น่าจะเพียงพอ
ด้าน บทลงโทษที่มากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ มองว่า ถ้ากระทำความผิดข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 - 400,000 บาทถือว่ารับได้ แต่ถ้าเป็นการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมฯพื้นฐานทั่วไปไม่ควรมีโทษถึงขั้นจำคุก เพราะเพียงแค่โทษปรับ หรือโทษทางแพ่งอย่างเดียวน่าจะเหมาะสม
ขณะที่ทางเสียงทางด้านกฎหมายจาก ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับ พรบ.ดังกล่าว ถ้ามีการเพิ่มบทลงโทษทั้งทางอาญา และทางแพ่งสูงขึ้น ตรงนี้น่าจะเป็นปัญหากับทั้งบุคคลและองค์กรทั่วไปรวมถึงสื่อมวลชนเพราะจะทำให้ทุกคนเกรง เรื่องการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นในอินเตอร์เน็ตให้ลดน้อยลง เนื่องจากกลัวว่าจะถูกฟ้องตามความผิด พรบ.ฯคอมฉบับใหม่ และเมื่อคนทั่วไปแสดงความคิดเห็นลดลง สื่อมวลชนทุกสำนักข่าวมีมาตราการป้องกันการสุ่มเสี่ยงการนำเสนอผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตมากขึ้น ก็จะทำให้มาตรการที่รัฐกำลังพยายามผลักดันเศรษฐกิจดิจิตอลอยู่ตอนนี้ได้รับผลกระทบ และมีแนวโน้มที่การให้อำนาจรัฐ ถ้ายิ่งสร้างความไม่แน่นอนในการบังคับใช้กฎหมาย ก็จะทำให้ผู้ประกอบการที่เริ่มธุรกิจ หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่กำลังเข้ามาลงทุนกับสื่อออนไลน์ แอพพลิเคชั่น หรือลงทุนในภาคอินเตอร์เน็ตรู้สึกไม่มีความแน่นอน ในการวางแผนลงทุนในประเทศไทยได้ ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มมีปัญหาเรื่องนี้ ก็อาจยิ่งทำให้ผู้ที่จะลงทุนพิจารณามากขึ้น หรือย้ายการลงทุนไปที่ประเทศอื่นในภูมิภาคที่มีความพร้อมกว่า เช่น สิงค์โปร หรือฮ่องกงที่ถือว่าได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งตรงนี้อาจทำให้ไทยเสียโอกาสทางการค้า
อาจารย์ทศพล กล่าวอีกว่า ส่วนที่ รมว.ไอซีที จะมีการตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมาตรวจสอบในเรื่องการใช้สื่อออนไลน์โดยเฉพาะ ไม่ควรทำให้ระบบการทำงานมีความซ้ำซ้อมกับหน่วยงานที่มีอยู่ และการใช้อำนาจควรดำเนินการตามหลักพื้นฐาน อาทิ ตรวจสอบ พิจารณา ประสานงานส่งเรื่องและให้ศาลวินิจฉัย ไม่ควรใช้อำนาจไปจำกัดสิทธิประชาชน ซึ่งการพิจารณาข้อกฎหมายควรให้ศาลเป็นผู้ตัดสินออกอำนาจเด็ดขาด แต่ถ้าคณะกรรมการเหล่านี้ใช้อำนาจวินิจฉัย และจำกัดสิทธิประชาชน อาจทำให้ประชาชนมาเรียกร้องภายหลัง ดังนั้นควรชี้แจง ทำความเข้าใจให้สังคมรับรู้ถึงรายละเอียดของ พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขนี้ เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความสับสน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงมาชี้แจง รณรงค์ทำความเข้าใจให้ชัดเจน
ส่วนบทลงโทษ อาจารย์ทศพล มองว่า ไม่ควรเพิ่มโทษทางอาญา หรือ การจำคุก แต่ควรเพิ่มเฉพาะโทษการปรับ หรือเรียกร้องค่าเสียหายทางกฎหมายแพ่งเท่านั้น เพราะการเพิ่มโทษทางอาญาอาจสร้างปัญหาตามมาภายหลัง
“เสรีภาพ หรือ อิสระภาพบนอินเทอร์เน็ตร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีจริง ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างระบบขึ้นมากำกับ แต่ระบบที่กำกับอินเทอร์เน็ตไทยที่มีแนวโน้มจำกัดสิทธิ์มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะส่งผลต้อผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ทำให้ไม่วางใจ ไม่มั่นใจ และอาจทำให้การใช้อิเทอร์เน็ตลดลง และอาจจะกระทบไปถึงผู้ประกอบการบริษัทในสื่ออินเทอร์เน็ตทั้งหมดที่กำลังเริ่มต้นไม่ให้เติมโต ซึ่งตรงนี้อาจเป็นการเสียโอกาสการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจไทยให้กับต่างประเทศ “ อาจารย์ทศพล กล่าว
ผู้ที่เกี่ยวข้องและกำลังทำงานในเรื่องนี้อย่าง ธานี อ่อนละเอียด สมาชิก สนช. ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญฯพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เปิดเผยว่า หลังจากที่ สนช.พิจารณาเห็นชอบ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ที่ประชุมกรรมาธิการฯ ได้มีการอธิบายพูดคุยถึงเนื้อหา และกำลังสั่งให้มีการรวบรวมเสียงวิจารณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาปรับแก้ไข ซึ่งถ้ามีข้อเสนอแนะที่ดีคณะกรรมาธิการฯ ก็พร้อมที่จะนำมาพิจารณาประกอบการแก้ไข แต่ถึงถึงอย่างไรขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของขั้นตอนการปรับแก้ของคณะกรรมาธิการฯ ก็อยากให้ฝ่ายต่างในสังคมเสนอความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเข้ามาเพื่อประกอบการการพิจารณาปรับแก้ไข
ส่วนวัตถุประสงค์การปรับแก้ พ.ร.บ.คอมฉบับนี้ ธานี ชี้แจงงว่า เพื่อแก้ไขกฎหมายเดิมที่ใช้มานานตั้งแต่ปี 2550ที่ยังไม่ครอบคลุมให้ทันสมัยขึ้นเพื่อจะได้ให้แก้ปัญหาภาพรวมที่เกี่ยวข้องได้ทุกด้าน ส่วนที่ระบุใน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวที่ให้ รมต.ไอซีที ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลโดยตรงยังเป็นเพียงข้อเสนอซึ่งคงต้องให้ทางผู้เสนอเข้ามาชี้แจง ซึ่งถ้าข้อเสนอไม่มีเหตุผลเพียงพอก็สามารถตีตกไปได้
"การแก้ไข พรบ.คอมฉบับนี้ที่หลายฝ่ายให้ความสนใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ตามหลักมนุษย์ ทุกคนมีเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย แต่ต้องดูว่าการใช้สิทธิเสรีภาพ นั้นจะทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือไม่ ซึ่งถ้ามีคนใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตและใครจะมาควบคุม ดังนั้นควรจะต้องมีกฎหมายมาควบคุมเพื่อให้มีจุดตรงกลาง เพื่อให้อยู่ในความพอดี"ธานี กล่าว
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน