อย. เผยผู้ผลิต"ไส้กรอก" ต้องทำตามกฎหมาย พบวัตถุเจือปนโทษปรับ-จำคุก
จากประชาชาติธุรกิจ
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มูลนิธิผู้บริโภคออกมาเปิดเผยผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ไส้กรอก จำนวน 15 รายการ พบว่ามีการใช้ไนเตรท ไนไตรท์ ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จำนวน 3 รายการ นั้น อย. ขอแจ้งว่าไน เตรทและไนไตรท์ จัดเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้ในการผลิตเพื่อการเก็บรักษา หรือปรุงแต่งรสชาติอาหารและเพิ่มสีสัน โดยเป็นสารวัตถุกันเสียเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม คลอสทริเดียม โบทูลินั่ม ซึ่งเจริญได้ดีในสภาวะที่ไม่มีอากาศ หรืออาหารที่อยู่ในภาชนะปิดสนิท หรือเป็นสารตรึงสีทำให้เนื้อมีสีแดงสดสวยงามดูน่ารับประทาน
นพ.ไพศาล กล่าวว่า การใช้ไนเตรทและไนไตรท์ในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเพื่อวัตถุประสงค์เป็นวัตถุกันเสียและตรึงสี ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องวัตถุเจือปนอาหาร หากตรวจพบการใช้วัตถุเจือปนอาหารเกินกฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท กรณีตรวจพบว่า มีการใช้ในปริมาณที่มากจนอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ มีคำสั่งให้งดผลิตหรืองดนำเข้าจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามที่กฎหมาย กำหนด และจะมีการประกาศผลการตรวจพิสูจน์อาหารให้ประชาชนทราบต่อไป
“อย. มีแผนเฝ้าระวังสถานที่ผลิตและผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น เป็นประจำทุกปี โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่าง ณ สถานที่จำหน่ายเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุกันเสีย (ได้แก่ กรดเบนโซอิค กรดซอร์บิก) ไนเตรท ไนไตรท์ และชนิดและปริมาณสีสังเคราะห์ โดยในปีงบประมาณ 2559 ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ จำนวน 200 ตัวอย่าง ขณะนี้ได้รับผลการตรวจวิเคราะห์เป็นผลิตภัณฑ์ไส้กรอก จำนวน 26 ตัวอย่าง ไม่พบวัตถุกันเสีย แต่พบผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ไนไตรท์และไนเตรท ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จำนวน 1 ตัวอย่าง โดยได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบสถานที่ผลิตและสุ่มเก็บตัวอย่าง ณ สถานที่ผลิตแล้ว และอยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบ กรณีผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 รายการ อย.ร่วมกับสำนักสาธารณสุขจังหวัดตรวจสอบสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว” นพ.ไพศาล กล่าว และว่า ขอฝากไว้สำหรับผู้บริโภค ควรเลือกซื้อไส้กรอกที่มีสีไม่แดงจัดผิดไปจากธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ ก่อนซื้อควรสังเกตชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตหรือ หมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. และมีการเก็บรักษาในอุณหภูมิเย็นตลอดการจำหน่าย เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค
ที่มา มติชนออนไลน์
อย.เร่งสอบแหล่งผลิต “ไส้กรอก” ใส่สารกันบูดเกินมาตรฐาน
โดย MGR Online
สธ. เร่งสอบไส้กรอก 3 ยี่ห้อ ใส่ “สารไนเตรท - ไนไตรท์” เกินกำหนด แจงใส่สารเหล่านี้ช่วยยับยั้งพิษโบทูลินัมในอาหารปิดสนิท รับปริมาณตามกำหนดไร้อันตราย แนะกินธัญพืช ไข่ ผัก ผลไม้ มีวิตามินซีและอีสูง ช่วยป้องกันสารกันเสียเกิดพิษต่อร่างกาย ด้าน อย. เร่งตรวจสอบ เผยปี 59 ตรวจไส้กรอกพบไนเตรท ไนไตรท์ เกินค่า 1 ตัวอย่าง
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ. กล่าวถึงกรณีข่าวพบสารไนเตรท และ ไนไตรท์ หรือสารกันบูดเกินมาตรฐานในไส้กรอก 3 ยี่ห้อ ว่า ได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย สืบค้นข้อมูลกรณีดังกล่าวแล้ว และประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ สารไนเตรท และ ไนไตรท์ หรือ “ดินประสิว” เป็นวัตถุกันเสียที่นำมาใช้ในการถนอมอาหาร เพื่อทำให้เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน แหนม กุนเชียง เนื้อเค็ม มีสีสดเป็นสีแดงอมชมพู ช่วยให้อาหารคงสภาพอยู่ได้นาน ไม่เน่าเสีย ซึ่ง European Food Safety Authority (EFSA) ได้บ่งชี้ว่า การใช้เกลือไนไตรท์ปริมาณที่พอเหมาะ คือ 50 - 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จะควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียกลุ่มคลอสตริเดียมโบทูลินัม ซึ่งเจริญเติบไตได้ดีในภาชนะที่ปิดสนิท หรือไม่มีอากาศ และสร้างสารพิษที่มีอันตรายถึงชีวิต
“สธ. ได้ออกประกาศกระทรวงฉบับที่ 281 กำหนดประมาณการใช้เกลือไนเตรท หรือ ไนไตรท์ ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมัก ให้ใช้เกลือไนไตรท และ ไนไตรท์ ได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหาร เกลือไนเตรท และ ไนเตรท์ ใช้ได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหาร เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชน อย่างไรก็ตาม ในแต่ละวันร่างกายจะได้รับสารไนไตรท์จากการกินอาหารเนื้อสัตว์แปรรูปประมาณ ร้อยละ 10 อีกร้อยละ 90 ได้จากการกินพืชและแหล่งอื่น ๆ ที่มีสารไนเตรท ซึ่งปกติแล้วสารนี้ไม่มีพิษ หากกินในปริมาณที่กำหนดจะไม่เกิดอันตราย แต่ถ้ากินมากเกินไปอาจทําให้เกิดอาการท้องร่วงรุนแรงได้ และสารไนเตรทจะถูกแบคทีเรียในกระเพาะอาหารและลําไส้เปลี่ยนให้เป็นไนไตรท์ ทําให้ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ไม่นําพาออกซิเจนไปใช้ได้ หากมีระดับฮีโมโกลบินสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 2 - 25 จะทําให้อ่อนเพลีย ตัวเขียว หัวใจเต้นเร็ว แต่หากสูงถึงระดับร้อยละ 50 - 60 จะทําให้หมดสติและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็ก แต่ประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะขนาดที่จะทําให้เป็นอันตรายถึงตายได้มีขนาดสูงพอควร ต้องกินเข้าไปจํานวนมาก” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ขอแนะนำให้กินอาหารที่มีวิตามินซีและวิตามินอีสูง หลังมื้ออาหารเป็นประจํา ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดไนโตรซามีนในกระเพาะอาหารได้ โดยอาหารที่มีวิตะมินอีสูง เช่น นม ไข่ ธัญพืช ถั่วลิสง ผักโขม น้ำมันพืช ส่วนวิตามินซีจะมีมากในผักผลไม้เช่น ผักคะน้า กะหล่ำปลี ขึ้นฉ่าย มะเขือเทศสีดา ผักกวางตุ้ง ข้าวโพดอ่อน บรอกโคลี่ ดอกกะหล่ำ ชะอม ฝรั่ง เงาะ มะละกอ มะขามป้อม พุทรา และให้กินอาหารหลากหลาย ไม่กินอาหารซ้ำซาก เพราะหากอาหารที่ชอบกินชนิดใดชนิดหนึ่งมีไนเตรท หรือ ไนไตรท์ สูงเป็นประจํา และกินซ้ำทุกวัน ร่างกายจะได้รับสารเหล่านี้มากเกินไป เสี่ยงต่อการเกิดไนโตรซามีนในร่างกายได้
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีทีมลงพื้นที่ไปตรวจสอบยังสถานที่ผลิตไส้กรอกทั้ง 3 ยี่ห้อแล้ว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา อย. ได้ตรวจสอบการผสมสารต่าง ๆ ในผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์เป็นประจำอยู่แล้ว โดยในปี 2559 ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ทั้งหมด 200 ตัวอย่าง ส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจหาสารไนเตรท ไนไตรท์ ซอร์บิกแอซิด และ โปแตสเซียมซอร์เบต (วัตถุกันเสีย) และการผสมสี เป็นต้น ล่าสุด ผลตรวจไส้กรอกเสร็จแล้ว 26 ตัวอย่าง ซึ่งพบว่ามีสารไนเตรท ไนไตรท์เกินค่ามาตรฐาน 1 ตัวอย่าง แต่ไม่สามารถบอกยี่ห้อได้ เพราะอยู่ระหว่างตรวจสอบสถานที่ผลิตว่าได้มาตรฐาน มีสารดังกล่าวเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ หากพบว่าเกินถึงจะเป็นเหตุผลที่สอดคล้องกัน และสามารถเปิดเผยชื่อยี่ห้อได้อย่างเป็นทางการ ส่วนผลการตรวจ สารซอร์บิก ซอร์เบต และสีนั้นไม่พบถูกใช้เป็นส่วนผสมแต่อย่างใด
นพ.ไพศาล กล่าวว่า ส่วนข้อเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนฉลากแสดงส่วนประกอบนั้น ความจริง อย. ได้มีการออกประกาศเรื่องฉลากอาหาร ฉบับที่ 367 กำหนดให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องแสดงทั้งเลขรหัส และชื่อสาร หรือกลุ่มที่ใช้ ทำหน้าที่อะไรบ้าง เป็นต้น แต่ประกาศตัวนี้จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธ.ค. 2559 ดังนั้นฉลากผลิตภัณฑ์เดิมที่ออกก่อนหน้านี้ 2 ปี ยังสามารถใช้ได้ ดังนั้นขอให้ประชาชนหมั่นอ่านฉลากอาหารก่อนตัดสินใจซื้อ อย่างไส้กรอกถ้าสีผิดธรรมชาติมาก ๆ ก็ไม่ควรซื้อมารับประทาน
“ส่วนกรณีที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไทยแพน (Thai-PAN :Thailand Pesticide Alert Network) ตรวจพบผัก ผลไม้ปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหลาย ๆ ประเภท แม้กระทั่งตัวที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Q จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และออร์แกนิก ไทยแลนด์ (Organic Thailand) ก็พบการปนเปื้อนด้วย ว่า อย. จะตรวจสอบ ดูแลผัก ผลไม้ในช่วงปลายทางที่มีการวางขายตามท้องตลาดแล้ว ไม่ได้ลงไปดูในพื้นที่ปลูก หรือผลิต เพราะเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนข้อมูลจากไทยแพนก็ต้องมีการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ซึ่งมี อย. กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้มีการยกร่างประกาศ กำหนดให้ผล ผลไม้ที่บรรจุในภาชนะบรรจุต้องผ่านเกณฑ์ไพมารี่จีเอ็มพี และสามารถตรวจสอบย้อนหลังไปยังต้นทางที่แหล่งผลิตได้ โดยในส่วนของต้นทางก็ต้องทำให้มีมาตรฐานจีเอพีหรือเทียบเท่า เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในประเทศได้” รองเลขาธิการ อย. กล่าว
ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ประเภทอาหารและสุขภาพ ฉบับที่ 181 ไนเตรท และ ไนไตรท์ ใน “ไส้กรอก”
จาก เวปไซต์ ฉลาดซื้อ
ไนเตรท และ ไนไตรท์ ใน “ไส้กรอก”
ไส้กรอก ถือเป็นของกินยอดฮิตของยุคนี้ ด้วยความที่เป็นของหากินง่าย แค่เดินเข้าร้านสะดวกซื้อก็มีไส้กรอกให้เลือกซื้อเลือกกินแบบละลานตา รับประทานง่าย รสชาติอร่อย จะจัดให้เป็นเมนูอาหารเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น หรือเป็นของทานเล่นระหว่างวันก็ยังได้
มูลค่าการตลาดของผลิตภัณฑ์ ไส้กรอกในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 35,000 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณเท่ากับ 3 แสนตัน แบ่งเป็นกลุ่มไส้กรอก 49% และกลุ่มสไลด์ (โบโลน่า,แฮม,เบคอน) 45% และอื่นๆ 6%
ไส้กรอกเป็นอาหารแปรรูปที่ผ่าน กรรมวิธีการผลิตที่ต้องพึ่งสารเคมีหลายตัวในการผลิต 1 ในนั้นคือ “ไนเตรท และ ไนไตรท์” ซึ่งเป็นสารที่ช่วยในการคงสภาพของไส้กรอก ทั้งเป็นสารกันบูดช่วยยืดอายุอาหารและช่วยทำให้สีของไส้กรอกดูสวยงามน่ารับ ประทาน ซึ่งเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นสารเคมีนอกจากจะไม่มีคุณค่าทางอาหารใดๆ ต่อร่างกายของเราแล้ว ยังอาจเป็นโทษต่อสุขภาพของเราถ้าหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป
เพราะปัจจุบันเรารับประทานไส้กรอกกัน มากขึ้น “ฉลาดซื้อ” จึงขอนำเสนอผลทดสอบปริมาณสาร “ไนเตรท และ ไนไตรท์ ในไส้กรอก” ลองมาดูสิว่าเราเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายของ ไนเตรท และ ไนไตรท์ จากการรับประทานไส้กรอกยี่ห้อต่างๆ ที่วางจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไปมากน้อยแค่ไหน
สรุปผลการทดสอบ
- จากทั้งหมด 15 ตัวอย่าง มีเพียง 1 ตัวอย่างที่ไม่พบการเจือปนของ ไนเตรทและไนไตรท์ คือ ไทยซอสเซส ค๊อกเทลซอสเซส ของ บ.ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักท์ จำกัด
- พบ 3 ตัวอย่าง ที่มีการใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ รวมกันเกินกว่าค่าที่อนุญาตให้ตามข้อกำหนดของ โคเด็กซ์ ที่ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม คือ 1.ตราเอโร่ ไส้กรอกฮอทดอก พบไนเตรท 50.45 มก./กก. พบไนไตรท์ 40.82 มก./มก. รวมแล้วเท่ากับ 91.27 มก./กก., 2.NP ไบร์ทหมู พบไนเตรท 54.86 มก./กก. พบไนไตรท์ 77.47 มก./กก. รวมแล้วเท่ากับ 132.33 มก./กก. และ 3.บางกอกแฮม ไส้กรอกหมูคอกเทล พบไนเตรท 77.13 มก./กก. พบไนไตรท์ 71.48 มก./กก. รวมแล้วเท่ากับ 148.61 มก./กก.
- ข้อสังเกตสำคัญที่ได้จากการทดสอบครั้งนี้ก็คือ เรื่องการแสดงข้อมูลบนฉลาก ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ที่กำหนดไว้ว่าถ้าหากมีการใส่วัตถุเจือปนลงในอาหาร บนฉลากต้องมีการแสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับชื่อเฉพาะ หรือแสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับตัวเลขจำแนกชนิดวัตถุ เจือปนอาหาร International Numbering System : INS for Food Additives ถ้ามีการใช้หรือมีวัตถุเจือปนอาหารติดมากับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหาร เป็นส่วนประกอบของอาหารในปริมาณที่เกิดผลตามวัตถุประสงค์ของการใช้วัตถุเจือ ปนอาหาร
จากตัวอย่างไส้กรอกที่สำรวจพบว่ามีแค่ 6 จาก 15 ตัวอย่าง ที่แสดงข้อมูลการใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ คือ 1.ไทยซอสเซส, 2. S&P, 3.เซเว่น เฟรช, 4.มิสเตอร์ ซอสเซส, 5.TGM และ 6.บุชเชอร์ แต่ทั้ง 6 ตัวอย่างแสดงข้อมูลว่า ใช้เพื่อ “เป็นสารคงสภาพของสี” และทุกตัวอย่างไม่ได้บอกว่าเป็น ไนเตรทและไนไตรท์ แต่ใช้รหัส INS for Food Additives หมายเลข 250 ซึ่งเป็นรหัสของ โซเดียมไนไตรท์ แทน
การแสดงข้อมูลแบบนี้ดูจะไม่เป็นประโยชน์ กับผู้บริโภคสักเท่าไหร่ เพราะคงมีผู้บริโภคน้อยรายที่รู้เรื่องรหัสจำแนกชนิดวัตถุเจือปนอาหาร INS for Food Additives เท่ากับว่าผู้บริโภคที่รับประทานไส้กรอกก็ได้รับ ไนเตรทและไนไตรท์ ไปโดยไม่รู้ตัว แถมผลิตภัณฑ์ที่แสดงข้อมูลว่ามีการใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ มีเพียงแค่ 6 จาก 15 ตัวอย่าง ไม่ถึง 50% ซะด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่กฎหมายกำหนดว่าต้องแสดง
หมายเลข INS for Food Additives
ของ โฟเทสเซียไนไตรท์ คือ 249
ของ โซเดียมไนไตรท์ คือ 250
ของ โซเดียมไนเตรท คือ 251
ของ โฟเทสเซียมไนเตรท คือ 252
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/International_Numbering_System_for_Food_Additives#Numbering_system
- มีเพียงแค่ 1 ตัวอย่างจากตัวอย่างไส้กรอกทั้งหมดที่นำมาทดสอบ ที่แจ้งว่ามีการใช้สารกันบูด คือ ยี่ห้อ My Choice ไส้กรอกจูเนียร์ ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่มีการแจ้งเรื่องการใช้สารกันบูด แม้จะมีการใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ เพราะอย่างที่บอกไว้ว่าผลิตภัณฑ์ไส้กรอกส่วนใหญ่ แจ้งว่าใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ เพื่อทำหน้าที่เป็นสารคงสภาพสี
- อย่างที่ฉลาดซื้อเราเคยนำเสนอไปแล้วเรื่องการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ไส้กรอกว่า ไส้กรอกในปัจจุบันหลายยี่ห้อทำจากเนื้อหมูผสมกับเนื้อไก่ ซึ่งจากการสำรวจก็พบว่ามี 6 ตัวอย่างจาก 15 ตัวอย่าง ที่แจ้งไว้บนฉลากว่าใช้ทั้งเนื้อหมูและเนื้อไก่เป็นส่วนประกอบ และมี 5 ตัวอย่าง ที่บอกว่าใช้เนื้อหมูเพียงอย่างเดียว
ที่น่าสังเกตคือมี 2 ตัวอย่าง ที่แจ้งเพียงว่า ใช้เนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ แต่ไม่ได้บอกลายระเอียดว่าเป็นเนื้อสัตว์ชนิดใด คือ 1.ตราเอโร่ และ 2.เบทาโกร (บอกว่าใช้เนื้อสัตว์อนามัย) ส่วน บางกอกแฮม มีการแจ้งรายละเอียดส่วนประกอบอยู่ 2 ส่วน ตรงด้านหน้าแจ้งว่าใช้เนื้อหมู แต่ที่ด้านหลังซองแจ้งแค่ว่าใช้ เนื้อสัตว์
นอกจากนี้มีอยู่ 1 ตัวอย่าง คือ NP ไบท์หมู แม้ชื่อจะบอกว่าเป็น ไบท์หมู แต่บนบรรจุภัณฑ์ไม่มีจากแจ้งข้อมูลรายละเอียดส่วนประกอบใดๆ เลย
-ในการวิเคราะห์ตัวอย่างไส้กรอกครั้ง นี้เราได้ดูเรื่องการปนเปื้อนของสีผสมอาหารด้วย ซึ่งผลออกมาว่า ไม่พบการปนเปื้อนของสีในทุกตัวอย่าง
ฉลาดซื้อแนะนำ
- ตัวอย่างไส้กรอกที่นำมาทดสอบส่วนใหญ่ยังใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ ในปริมาณที่ไม่เกินจากที่กฎหมายกำหนด เท่ากับว่าเรายังรับประทานไส้กรอกได้ตามปกติ แต่แน่นอนว่าต้องรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากเกินไป เพราะแม้จะปลอดภัยจาก ไนเตรทและไนไตรท์ แต่ก็เสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมจากเครื่องปรุงรสที่อาจสูงเกินความจำเป็นของ ร่างกาย ส่วนประโยชน์จากโปรตีนก็เทียบไม่ได้กับเนื้อสัตว์ธรรมดาทั่วไป เพราะฉะนั้นต้องเลือกกินอาหารให้หลากหลาย อย่ากินจำเจ กินแต่พอดี
- องค์การอนามัยโลกออกคำเตือนตามคำแนะนำของหน่วยงานด้านวิจัยนานาชาติ (International Agency for Research) ว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น เบคอน ไส้กรอก แฮม ฯลฯ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งสำไส้และกระเพาะอาหาร ซึ่งสร้างความตกใจให้กับที่ชอบกิน เบคอน ไส้กรอก ทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลกต้องออกมาชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นแค่คำเตือนเพื่อให้ ทุกคนกิน เบคอน ไส้กรอก ในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกินไป ไม่ได้เป็นการออกมาบอกว่าห้ามกินโดยเด็ดขาด นอกจากนี้สาเหตุของโรคมะเร็งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ใช่เพียงแค่การกินเบคอนและไส้กรอกเพียงอย่างเดียว
ข้อมูลประกอบบทความ :
1.แนวทางการใช้วัตถุเจือปนอาหารและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2556) สำนักงานอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา,
2.บทความพิเศษ อันตรายจากการรับประทานอาหารที่มีสารไนเตรทและไนไตรท์: แสงโฉม ศิริพานิช สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค,
3.บทความ ดินประสิว : ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต นิตยสารหมอชาวบ้าน www.doctor.or.th/article/detail/6552
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
ทำไม? ต้องใส่ ไนเตรทและไนไตรท์ลงในไส้กรอก
ไน เตรท และ ไนไตรท์ มีชื่อเรียกที่รู้จักกันหลายชื่อทั้ง โซเดียมไนเตรท โซเดียมไนไตรท์ หรือ โพแทสเซียมไนเตรท โพแทสเซียมไนไตรท์ และรวมถึงชื่อบ้านๆ ที่คนไทยเรารู้จักกันมานานอย่าง ดินประสิว ไนเตรทและไนไตรท์ สารทั้ง 2 ชนิด นอกจากจะถูกนำมาใช้เพื่อการถนอมอาหารแล้ว ยังใช้ในอุตสาหกรรมอย่างการทำดอกไม้ไฟ ทำดินปืน ใช้ชุบโลหะ นอกจากนี้ยังนิยมนำมาเป็นสารผสมในปุ๋ยเคมีเพื่อใช้ในการเกษตร
ไนเตรทและไนไตรท์ ถูกนำมาใช้ในอาหารเนื่องจากมีคุณสมบัติในการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของ เชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม คลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่มักจะเจริญเติบโตได้ดีในอาหารที่อยู่ในภาชนะปิดสนิท ไม่มีอากาศถ่ายเท เช่นพวกอาหารที่มีพลาสติกห่อปิดไว้อย่างเช่น ไส้กรอก หมูยอ ทำให้ช่วยยืดอายุของอาหารออกไปได้อีก นอกจากนี้ ไนเตรทและไนไตรท์ ยังมีคุณสมบัติในการรักษาสีของเนื้อสัตว์ให้ยังคงสีแดงสดสวยงามดูน่ารับ ประทาน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม ไนเตรทและไนไตรท์ ถึงเป็นที่นิยมนำมาใช้ในการผลิตเนื้อสัตว์แปรรูป ไม่เฉพาะแค่ ไส้กรอก แฮม หรือ เบคอน แต่ยังรวมถึงพวก เนื้อแห้ง หมู/ไก่ยอ แหนม กุนเชียง ปลาแห้ง
อันตรายของ ไนเตรทและไนไตรท์
แม้ ว่ากฎหมายจะอนุญาตให้ใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ ในผลิตภัณฑ์อาหารได้ แต่ก็มีการควบคุมปริมาณที่ใช้อย่างเข้มงวด เพราะถ้ารับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพถึงขั้นเสีย ชีวิตได้เลย อันตรายของ ไนเตรทและไนไตรท์ จะส่งผลเสียต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เวียนหัว รู้สึกปวดท้องรุนแรง ท้องร่วง ถ่ายเป็นเลือด
นอกจากนี้ ไนเตรทและไนไตรท์ เมื่อเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากยังส่งผลต่อการทำงานของ ฮีโมโกลบิน ในเม็ดเลือดที่ค่อยทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้การนำพาออกซิเจนในร่างกายมีปัญหา จะส่งผลให้ผิวหนังและริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ รู้สึกอ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว คนที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจถึงขั้นหมดสติหรือเสียชีวิตได้ เด็กๆ จะมีความความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่
ผลการทดสอบ
ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร
ไนเตรทและไนไตรท์ จัดเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่นำมาใส่เพื่อประโยชน์ในการผลิต การเก็บรักษา หรือปรุงแต่งรสชาติและเพิ่มสีสัน ส่วนใหญ่จะไม่มีคุณค่าทางสารอาหารใดๆ ซึ่ง ไนเตรทและไนไตรท์ ถูกใส่ลงในไส้กรอกก็เพื่อผลในการถนอมอาหารและเพิ่มสีสัน
ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ได้กำหนดให้กำหนดปริมาณการใช้ของวัตถุเจอปนอาหารโดยยึดตามเกณฑ์ของ โคเด็กซ์(Codex General
Standard for Food Additives) หรือ มาตรฐานอาหารสากล ฉบับล่าสุด ซึ่งผลิตภัณฑ์ไส้กรอก จัดอยู่ในกลุ่มอาหารเนื้อสัตว์แปรรูปสับบดที่ผ่านความร้อน (Heat-treated processed comminuted meat, poultry, and game products) ที่ได้มีการกำหนดปริมาณของ “ไนไตรท์” ได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม แต่ไม่ได้มีการกำหนดปริมาณของ “ไนเตรท” ที่อนุญาตให้ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเอาไว้ จึงต้องใช้การอ้างอิงจากมาตรฐานที่ในบ้านเราเคยกำหนดไว้ในท้ายประกาศของ สำนักงานอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจอปนอาหาร ที่อนุญาตให้ใช้ ไนเตรท ในผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่ม ไส้กรอก และ แฮม ได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม
ทั้งนี้ในประกาศของสำนักงานอาหารและยา ฉบับดังกล่าว ได้ระบุเพิ่มเติมไว้ว่า “การใช้วัตถุเจือปนอาหารในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ต้องมีปริมาณรวมกันแล้วไม่เกินปริมาณของวัตถุเจือปนอาหารชนิดที่กำหนดให้ใช้ ได้น้อยที่สุด” หมายความว่า ถ้าผลิตภัณฑ์ไหนเลือกใช้ ไนไตรท์ เพียงอย่างเดียวก็ควรมีได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม หรือถ้าเลือกใช้ ไนเตรท เพียงอย่างเดียว ก็อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้าผลิตภัณฑ์ใดมีการใช้ทั้ง ไนไตรท์ และ ไนเตรท ปริมาณที่ใช้เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม
ไนไตรท์ ใช้ได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม (ตามข้อกำหนดของโคเด็กซ์)
ไนเตรท ใช้ได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม (ตามประกาศของสำนักงานอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจอปนอาหาร)
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน