จากประชาชาติธุรกิจ
นายประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอแก้ไข มาตรา 10 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อให้เจ้าหน้าที่สรรพากรสามารถเปิดเผยข้อมูลผู้เสียภาษีให้แก่หน่วย ราชการได้ เพื่อประโยชน์ในการประเมินภาษี ซึ่งการแก้ไขมาตรา 10 จะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สรรพากรสามารถเปิดเผยข้อมูลการเสียภาษีของผู้เสีย ภาษี เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการ เช่นเดียวกับกรมจัดเก็บภาษีอื่น โดยในบางกรณีที่กรมจัดเก็บภาษีอื่น เช่น กรมสรรพสามิตหรือกรมศุลกากร มีการประเมินผู้เสียภาษี แต่มีข้อมูลบางส่วนที่เกี่ยวพันกับกรมสรรพากร หากสามารถขอข้อมูลจากกรมสรรพากรมาประกอบในการประเมินภาษี ก็จะเป็นประโยชน์ต่อราชการ
"ปัจจุบันเจ้าหน้าที่สรรพากรไม่สามารถ ที่จะเปิดเผยข้อมูลของผู้เสียภาษีให้แก่บุคคลอื่นทราบได้ แม้แต่การเปิดเผยในหน่วยราชการด้วยกันก็ตาม หากแก้ไขกฎหมายแล้วเสร็จ ทำให้การตรวจสอบภาษีในภาพรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องเร่งรัดดำเนินการภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับการนำระบบจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เพย์เมนต์) มาใช้ในไทย ให้มีการจัดเก็บภาษีดีขึ้นที่จะเริ่มกลางปีนี้" นายประภาศกล่าว
แหล่ง ข่าวจากกระทรวงการคลังระบุว่า มาตรา 10 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติไว้ว่า "เจ้าพนักงานผู้ใดโดยหน้าที่ราชการตามลักษณะนี้ ได้รู้เรื่องกิจการของผู้เสียภาษีอากรหรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง ห้ามมิให้นำออกแจ้งแก่ผู้ใด หรือยังให้ทราบกันไปโดยวิธีใด เว้นแต่จะมีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย" จากตรงนี้ ทำให้กรมสรรพากรไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลของผู้เสียภาษีทั้งในส่วนบุคคล และในส่วนของนิติบุคคล แม้แต่กับกรมภาษีด้วยกันเอง เนื่องจากหากเปิดเผยข้อมูลเจ้าหน้าที่อาจถูกฟ้องร้องได้ ทำให้กรมสรรพสามิตและศุลกากรต้องขอความเห็นไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากตรวจพบความผิดปกติในการเสียภาษีของบริษัทบางแห่ง ซึ่งได้รับการยืนยันว่าสรรพากรต้องทำตามกฎหมาย คือ ห้ามเปิดเผยข้อมูลผู้เสียภาษี ดังนั้นการแก้กฎหมายน่าจะช่วยแก้ปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีได้ในระดับหนึ่ง
นสพ.มติชนรายวัน
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน