จากประชาชาติธุรกิจ
การหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะเมียนมา มีความน่าสนใจไม่น้อย โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประมาณการจำนวนแรงงานเมียนมาทั้งถูกและไม่ถูกกฎหมายในประเทศไทยสูงถึง 2.3 ล้านคน ทำให้แรงงานกลุ่มนี้กลายเป็นหนึ่งในตลาดที่น่าจับตามอง สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดงานสัมมนาการตลาด ภายใต้หัวข้อ "เจาะตลาดอย่างไร ให้ตรงใจแรงงานเมียนมาในไทย" โดยนายบุริม โอทกานนท์ รองคณบดีงานสนับสนุนการศึกษา และอาจารย์ประจำสาขาการตลาดระบุว่า หลังการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน ชาวเมียนมาในไทยเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งในกลุ่มแรงงานเมียนมาทั้ง 2.3 ล้านคน มีเม็ดเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท จากรายได้เฉลี่ยของแรงงานที่ 9,000 บาทต่อเดือน
จากรายงานสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มสินค้าที่เป็นที่ต้องการของแรงงานเมียนมามากที่สุด คือ 1.ของใช้ในครัวเรือน 2.เสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว 3.เครื่องดื่มชูกำลัง 4.อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ 5.ทองคำ
ในแต่ละเดือนแรงงานเมียนมาใช้จ่ายในสินค้ากลุ่มนี้เฉลี่ย 3,000 บาท หรือราว 30% ของรายได้ โดยจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เคยเห็นในเมียนมา ทั้งยังพบว่า ผู้ที่มีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อสินค้าคือ คนใกล้ชิด
ฉะนั้น การทำตลาดแบบ "ปากต่อปาก" (Word of Mouth) จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องใช้เจาะกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ การตลาดออนไลน์ ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจ เพราะแรงงานเมียนมากว่า 60% เล่นเฟซบุ๊ก และนิยมซื้อสินค้าด้วยเงินสดถึง 92%
ที่น่าสนใจคือ พฤติกรรมการซื้อสินค้ากลับประเทศ ซึ่งแรงงานเมียนมาจะเดินทางกลับภูมิลำเนา 1-2 ครั้งต่อปี และในแต่ละครั้งจะนิยมซื้อสินค้าไทยเป็นของฝาก โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และทองคำ ชาวเมียนมาจะชื่นชอบทองคำของไทย เพราะมีสีเหลืองทองอร่ามกว่าทองคำของเมียนมา ที่มีสีเหลืองเขียวเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นทองคำที่มีเปอร์เซ็นต์เนื้อทองต่ำกว่า 90% ขณะที่ในไทย จะอยู่ราว 96.5%
"ทุกๆ ปี จะมีเงินจากแรงงานเมียนมาที่หมุนเวียนในไทย และสะพัดออกนอกประเทศรวมทั้งสิ้น 2.7 หมื่นล้านบาท หากเราสามารถเจาะตลาดกลุ่มนี้ได้มากขึ้น แทนที่เงินจำนวนหนึ่งจะไหลออกนอกประเทศ ก็จะกลายเป็นรายได้ของผู้ประกอบการไทย"
ด้าน น.ส.ชัญญพัชร บุนนาค ตัวแทนโครงการวิจัย ระบุถึงพฤติกรรมการซื้อสินค้าของชาวเมียนมา ส่วนใหญ่จะนิยมซื้อสินค้าเป็นกลุ่ม ซื้อจากความเคยชิน และราคาถูก โดยใช้เวลาไม่นานในการตัดสินใจซื้อ อย่างไรก็ตาม แรงงานเมียนมายังมี "ความกลัว" เป็นพื้นฐานจิตใจ ดังนั้น จากการลงพื้นที่สำรวจพฤติกรรมแรงงานจึงนำไปสู่กลยุทธ์ 7 ข้อ ภายใต้คอนเซ็ปต์ "NO FEARS" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเจาะกลุ่มกำลังซื้อใหม่มากขึ้น
ประกอบด้วย N (Network) สินค้าหรือบริการจะต้องเป็นที่รู้จักผ่านเพื่อนหรือคนใกล้ชิด ในหมู่แรงงานเมียนมา, O (Open-minded) เปิดใจว่าแรงงานเมียนมาก็เหมือนคนไทย ไม่ควรเลือกปฏิบัติ, F (Fairness) ให้ความเท่าเทียม, E (Experience) เปิดโอกาสให้ได้ทดลองใช้, A (Awareness) ลดปัญหาเรื่องการสื่อสาร และสนับสนุนการรับรู้ด้วยภาษาเมียนมา, R (Relationship) สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และความไว้ใจให้กับกลุ่มเป้าหมาย และ S (Sim-ple) ทำการตลาดด้วยวิธีง่ายๆ ไม่ซับซ้อน
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 200 คน พบกว่า 96% ของแรงงานเมียนมา คิดว่าไทยทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น 52% ของแรงงานเมียนมามีแผนจะอยู่ในไทยมากกว่า 5 ปีขึ้นไป และ 66% วางแผนจะอยู่ในไทยหากได้รับใบอนุญาตถาวร ยิ่งกว่านั้น แรงงานระบุความต้องการท่องเที่ยวต่างจังหวัดมากถึง 62% คาดหวังว่าจะมีแคมเปญทัวร์เฉพาะกลุ่มแรงงาน 54% โดยพัทยา, หัวหิน และอยุธยา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม
ทั้งนี้ นายณรงค์ศักดิ์ อัศวสกุลไกร ผู้จัดการกองสินค้า ตัวแทนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลัง เอ็ม-150 เสริมว่า แรงงานเมียนมาในไทยเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ตนต้องการเจาะตลาดมากในเวลานี้ หัวใจหลักของการทำการตลาด คือ "การผูกมิตรอย่างเข้าใจ" โดยทีมวิจัยการตลาดได้ลงไปศึกษาพฤติกรรมความต้องการของแรงงานพบว่า การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างตรงจุดจะทำให้เจาะกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น อาทิ การใช้พิธีกรชาวเมียนมา เลือกของรางวัลเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดที่ถูกใจกลุ่มแรงงานเมียนมา เช่น หม้อหุงข้าว ไมโครเวฟ หม้อนึ่ง พัดลม เป็นต้น
นอกจากนี้ เอ็ม-150 ยังเข้าร่วมเป็นสปอนเซอร์ในงานบุญต่างๆ เพราะพบว่าชาวเมียนมาชอบร่วมงานบุญมากกว่างานรื่นเริง โดยผลลัพธ์ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างมาก อันเห็นได้จากยอดขายสินค้าในบริเวณที่มีแรงงานเมียนมาเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน
ถึงแม้ว่าชาวเมียนมาจะไม่ไว้ใจคนไทย และมีความหวาดกลัวอยู่มาก แต่ด้วยคุณภาพของสินค้าไทยที่แรงงานเมียนมามองว่าเป็นสินค้า "High-end" โอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะต่อยอดตลาดให้เฟื่องฟูมากขึ้นคงไม่ยาก เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจวิถีชีวิต และพฤติกรรมความชื่นชอบของกลุ่มเป้าหมายให้ถ่องแท้
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน