สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ขยายฐานภาษี ตามจี้อี-คอมเมิร์ซ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ในปี 2559 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) คาดการณ์ว่า มูลค่าการค้าขายผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซไทย จะมีมูลค่ามากกว่า 2.2 ล้านล้านบาท จากเมื่อปี 2558 ที่ขยายตัวได้ถึง 2.1 ล้านล้านบาท ซึ่งประเทศไทยครองแชมป์ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่เติบโตเร็วที่สุดในอาเซียน

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปี 2559 มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซ จะพุ่งสูงแตะระดับ 2.3-2.4 แสนล้านบาท ขยายตัว 15-20% จากปี 2558 ที่มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซ อยู่ที่ 2 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 16.3% จากปี 2557

อย่าแปลกใจที่ตัวเลขมูลค่าการค้าไม่เท่ากัน เพราะตัวเลขของเอ็ตด้านั้นรวมยอดค้าขายของผู้ประกอบการกับผู้บริโภค (Business to Consumer - B2C) ผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ (Business to Business - B2B) ผู้บริโภคกับผู้บริโภค (Consumer to Consumer-C2C) และผู้ประกอบการกับภาครัฐ (Business to Government - B2G) ภาครัฐกับประชาชน (Government to Consumer - G2C) เข้าไปด้วย แต่ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้แยกออกมาเฉพาะของผู้ค้าขายที่ไม่เกี่ยวกับภาครัฐ

ตัวเลขการค้าขายผ่านอี-คอมเมิร์ซสูงจนน่าสนใจ โดยเฉพาะการค้าของผู้บริโภคกับผู้บริโภคผู้ค้าประเภทอื่นนั้นอยู่ในสายตาของกรมสรรพากรอยู่แล้ว ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ค้าขายออนไลน์จะจดทะเบียนเป็นผู้ค้าของกระทรวงพาณิชย์อย่างถูกต้อง เพราะค้าขายเป็นอาชีพ แต่การค้าของกลุ่ม C2C นั้นมักจะไม่ไปจดทะเบียนผู้ค้าอย่างถูกต้อง อาจคิดว่าการค้าขายเป็นรายย่อยเกินไป

แต่ในช่วงนี้กรมสรรพากรเริ่มหาแนวทางขยายการเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซให้ครบทุกกลุ่ม โดยพยายามให้กลุ่มที่ไม่เคยเสียภาษีเข้าสู่ระบบภาษี เพื่อให้เป็นไปตามการขยายฐานภาษีและการจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายไว้เมื่อปีที่ผ่านมา

ผู้ค้าขายสินค้าออนไลน์ในเว็บไซต์รายย่อยแห่งหนึ่ง ระบุว่า ช่วงนี้กรมสรรพากรเริ่มติดต่อผู้ค้ารายย่อยเพื่อสอบถามการค้าและบางรายมีการประเมินภาษีด้วยการขอดูรายการเงินเข้าออกจากบัญชีที่ได้ระบุในเว็บไซต์หรือในโซเชียลมีเดียที่ผู้ค้าไปประกาศขายสินค้าไว้ ซึ่งขอดูหลักฐานจากผู้ค้าไม่ได้ขอดูจากธนาคารพาณชย์ เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลลูกค้าได้ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายให้เชื่อมโยงข้อมูลออกมา ซึ่งกฎหมายขอเชื่อมโยงข้อมูลนั้นกรมสรรพากรได้เสนอขอให้รัฐบาลพิจารณาอยู่

“ที่ผ่านมา กรมสรรพากรพยายามที่จะเก็บภาษี โดยเน้นกลุ่มที่ขายสินค้าราคาแพง เช่น สินค้าแบรนด์เนมนำเข้าด้วยวิธีการรับพรีออร์เดอร์ เป็นต้น แต่ก็ไม่สามารถจะเก็บได้เพราะผู้ค้ารายย่อยที่ไม่ได้ขายเป็นเว็บไซต์ใหญ่ๆ ไม่มีหลักฐานการเงินให้ดู บางรายก็มีปัญหาใช้บัญชีขายของรวมกับบัญชีรายได้อื่น จึงวัดไม่ได้ว่าเป็นรายได้จากการขายของออนไลน์ ช่วงนี้ร้านค้าที่ขายของออนไลน์ส่งข่าวถึงกันว่ากรมสรรพากรเริ่มจี้ผู้ค้ารายย่อย” แม่ค้าออนไลน์รายนี้ กล่าว

อย่างไรก็ดี ผู้บริหารจากกรมสรรพากร ระบุว่า การเก็บภาษีผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ เป็นการดำเนินการปกติไม่แตกต่างจากผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลทั่วไป เพียงแต่การประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซไม่มีหน้าร้านเหมือนปกติทั่วไปเท่านั้น

ปัจจุบันผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ ก็อยู่ภายใต้ของกฎหมายกระทรวงพาณิชย์ต้องไปขึ้นทะเบียน มีหน้าที่ต้องยื่นแบบและชำระภาษีเหมือนผู้ประกอบการทั่วไปเช่นกัน

สำหรับการเก็บภาษีผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ ของกรมสรรพากรปัจจุบันจะเน้นผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการที่มีร้านค้าและขายผ่านเว็บไซต์ด้วย เช่น ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งไม่มีปัญหาการเก็บภาษีอยู่แล้ว เพราะผู้ประกอบการมีการลงรายได้รายจ่ายอย่างเป็นระบบและเป็นการจ่ายตรงให้กับสถานประกอบการ ไม่มีปัญหาเรื่องการเก็บภาษีซึ่งเป็นการดำเนินการตามปกติอยู่แล้ว

ทั้งนี้ หากเป็นผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซจริง ที่ไม่มีหน้าร้านไม่มีสถานประกอบการ กรมสรรพากรก็จะเข้าไปดูแต่รายใหญ่จริงๆ เท่านั้น ไม่ได้มุ่งที่รายเล็กรายน้อย เพราะเสียกำลังคนไม่ได้เม็ดเงินภาษี

การคำนวณอัตราภาษีอี-คอมเมิร์ซนั้น ผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่ใช่นิติบุคคล จะต้องนำรายได้จากการขายของผ่านช่องทางออนไลน์ไปรวมกับรายได้อื่นๆ เช่น เงินเดือนหรือดอกเบี้ย ถือว่าเป็นรูปแบบของเงินพึงประเมินที่ได้จากการขายสินค้า โดยจะเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาหรือตามความเป็นจริงก็ได้ ซึ่งอัตรารายได้นี้ถ้าไม่เกิน 1.5 แสนบาท จะได้รับการยกเว้น แต่ถ้าเริ่มต้นที่ 150,001-300,000 บาท จะเสีย 5% และเพิ่มขึ้นทีละ 5% สูงสุดอยู่ที่รายได้รวม 4 ล้านบาทขึ้นไป จะเสียที่อัตรา 35%

หากเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งแบบจดทะเบียนในประเทศไทยและนิติบุคคลต่างประเทศที่มีสาขาในไทย และมีรายได้จากการขายสินค้า หรือกิจการขนาดเอสเอ็มอีที่มีกำไรสุทธิ 1-3 แสนบาท จะได้รับการยกเว้น หากมากกว่า 3 แสน-1 ล้านบาท เสียภาษี 15% และ 1 ล้านบาทขึ้นไป เสีย 20%

สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นประเภทใด และเป็นตัวแทนจำหน่ายที่นำเข้าสินค้าหรือให้บริการ มีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งจัดทำรายการภาษีซื้อขายให้ชัดเจน ไม่ว่าผู้ประกอบการดังกล่าวจะมีรายรับหรือไม่ก็ตาม

ขณะที่การเก็บภาษีการค้าในกรณีของผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ เป็นลักษณะการซื้อมาขายไป กฎหมายของกรมสรรพากรหากไม่เกิน 1 ล้านบาท และมีภาระภาษีเสียไม่ถึง 5,000 บาท ก็ไม่ต้องเสียภาษีเลย ทำให้กรมสรรพากรไม่มีความจำเป็นต้องเข้าไปตรวจผู้ประกอบการกับรายเล็กรายย่อยตามที่ผู้ประกอบการจำนวนมากกังวลแต่อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ ที่จะทะเบียนก็มีหน้าที่ต้องยื่น หากไม่ยื่นและกรมสรรพากรตรวจพบก็ต้องเสียค่าปรับ 200 บาท ซึ่งกรมสรรพากรคงไม่ทุ่มกำลังของเจ้าหน้าที่จำนวนมากไปตรวจผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซที่ไม่ยื่นแบบรายการภาษีเพื่อหวังเงินค่าปรับ 200 บาท

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรยกตัวอย่างการตรวจสอบภาษีผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ รายใหญ่อย่าง LAZADA.COM ว่าไม่มีปัญหาใด เพราะมีการจดทะเบียนถูกต้อง ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินกับ LAZADA เท่านั้น ไม่ได้จ่ายให้กับบัญชีอื่นๆ แต่อย่างไร ซึ่งจะเห็นว่าการเสียภาษีของผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ เหมือนกับผู้ประกอบการปกติทุกอย่าง ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากกว่ากันหากมีการดำเนินการที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งกรมสรรพากรอาจจะสุ่มตรวจผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซไปโดนรายเล็กรายย่อยบ้างก็เป็นเรื่องปกติของการตรวจสอบภาษี ซึ่งผู้ประกอบการก็สามารถชี้แจงยืนยันการซื้อการขาย แม้ว่าจะถูกตรวจสอบบัญชีเงินฝากก็สามารถที่จะชี้แจงให้กับกรมสรรพากรรับทราบได้ เพราะหากรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีแวต และหากมีการซื้อมาขายไปไม่ถึง 1 ล้านบาท มีภาระภาษีไม่ถึง 5,000 บาท ก็ไม่ต้องเสียภาษีการค้า

ทั้งนี้ กรมสรรพากรยอมรับว่า มีผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ ที่มีรายได้ถึงต้องเสียภาษีและยังไม่เสียให้ถูกต้องอยู่บ้าง แต่เป็นจำนวนไม่มาก ส่วนหนึ่งที่ต้องการหลบเลี่ยงจริงๆ ในส่วนนี้กรมสรรพากรก็จะต้องเข้าไปตรวจสอบ และบางรายไม่รู้ว่ามีภาระต้องเสียภาษี กรมสรรพากรก็จะเข้าไปทำความเข้าใจให้ผู้ประกอบการดำเนินการให้ถูกต้อง

สุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท กรรมการผู้จัดการ แอดวานซ์ เอ็มเปย์ มองว่า การเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซนั้น ควรเร่งทำความเข้าใจกับธุรกิจรายย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคล เพราะร้านค้าออนไลน์จะเป็นรายบุคคลเป็นส่วนมากและในช่วงแรกไม่ควรเก็บภาษีที่สูงเกินไป อัตราแวตจากการใช้บริการและอัตรารายได้ส่วนบุคคลก็ควรอยู่ในระดับที่ผู้ขายรับได้ ในช่วงแรกควรจะเริ่มต้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่ไม่ควรเกิน 3% ก่อน เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยคุ้นเคยในระบบการชำระที่ถูกต้องเหล่านี้ จากนั้นในอนาคตค่อยจัดไว้ในอัตราที่เหมาะสมต่อไป


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ขยายฐานภาษี ตามจี้ อี-คอมเมิร์ซ

view