จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ คุยกับหมอพิณ โดย พ.ญ.พิณนภางค์ ศรีพหล
เธอแค่ขี้ลืม ?
คอลัมน์ คุยกับหมอพิณ
พ.ญ.พิณนภางค์ ศรีพหล
email:doctorpin111@gmail.com
สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านหรือคนใกล้ชิด เคยลืมโน่นลืมนี่
บ่อย ๆ จนโดนสงสัยกันบ้างไหมค่ะ ว่าอาการลืมแบบนี้มันเป็นลืมปกติ หรือจากสมองเสื่อม หรือจากอัลไซเมอร์
และก็แน่นอนค่ะ ว่าถ้าไม่ใช่เรื่องเหนือหัวเข่า ใต้สะดือ
แต่เป็นเรื่องเหนือลำคอ ใต้รากผม (หรือสมองนั่นเอง) หมอก็จะไม่ถนัด ดังนั้น วันนี้เราจะมาคุยกับคุณหมอโน้น นายแพทย์ชาวิท ตันวีระชัยสกุล อาจารย์จิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกันนะคะ
P : สมองเสื่อมคืออะไรแล้ว อัลไซเมอร์คืออะไรค่ะ
N : สมองเสื่อมเป็นกลุ่มอาการที่มีสมรรถภาพสมองแย่ลงครับ
เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุอันดับหนึ่ง
เมื่อพูดถึงสมองเสื่อมจึงมักนึกถึงแต่อัลไซเมอร์กัน
แต่ก็ยังมีสาเหตุอื่นที่พบบ่อยรองลงมานั่นก็คือ
โรคหลอดเลือดสมองตีบ แตก ตัน
นอกจากนี้ ยังมีบางสาเหตุที่สามารถแก้ไขได้ครับ
เช่น โรคติดเชื้อบางชนิด การขาดสารอาหารบางอย่าง หรือผลข้างเคียงจากยาบางกลุ่ม
ส่วนอัลไซเมอร์เป็นโรคที่มีความผิดปกติของโปรตีนในสมองครับ
P : แล้วเราจะแยกได้อย่างไรค่ะ ระหว่าง "ลืมทั่วไป" กับ "ลืมแบบสมองเสื่อม"
N : การลืมทั่วไปมักเกิดตามวัยที่เพิ่มมากขึ้นครับ
มักเป็นการลืมรายละเอียดของเหตุการณ์ หรือนึกชื่อคน และสถานที่ไม่ออก
แต่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลอื่น ๆ ของบุคคลหรือสถานที่นั้นได้
เช่น คนนั้นเป็นลูกคนโต ตัวสูง ๆ ที่อยู่โรงเรียนมัธยมแถวอโศก มีหมาสีขาวชื่อมะลิ แต่นึกชื่อคนไม่ออก เป็นต้น
การลืมนี้เมื่อได้รับข้อมูลที่ถูกต้องก็จะนึกออก (อ๋อ หมอพิณ)
และมักจะจำได้ว่าลืม (วันก่อนก็นึกชื่อหมอพิณไม่ออก)
การลืมนี้ไม่ส่งผลเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินใด ๆ ครับ
ส่วนการลืมของโรคสมองเสื่อม จะลืมแบบไม่ได้จำ เหมือนเหตุการณ์นั้นไม่เคยเกิดขึ้น
เมื่อเตือนหรือให้ข้อมูลก็จะไม่คุ้น
เมื่อลืมหลายเรื่อง หรือเรื่องที่สำคัญก็จะเห็นว่ามีผล
กระทบกับชีวิตได้
นอกจากลืมแล้วยังมักจะพบว่าสมรรถภาพสมอง
ด้านอื่นก็เสื่อมตามลงไปด้วย
เช่น การใช้ภาษา การบอกชื่อสิ่งของ ทิศทาง การตัดสินใจ
ซึ่งมักจะมีเหตุการณ์ยอดฮิตของผู้ป่วย
คือ ต้มอาหารแล้วทิ้งไว้จนหม้อไหม้หลายครั้ง
หลงทางกลับบ้านไม่ถูกในที่ที่คุ้นเคย
เรียกสิ่งต่าง ๆ ว่า ไอ้นั่น ไอ้นี่ พูดวนเวียนหรือเล่าเรื่องซ้ำ ๆ ซ้ำ ๆ ซ้ำ ๆ
รวมถึงเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ได้เลย เช่น การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่
จนกระทั่งการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันเริ่มบกพร่อง
อย่างไรก็ตาม ถ้าพฤติกรรมที่คล้าย ๆ กันนี้ (เช่น หลงทาง ชอบถามซ้ำ ๆ พูดวกวน เกลียดอุปกรณ์ไฮเทค) ที่เป็นมาตั้งนานแล้ว
เรียกว่าเป็นลักษณะส่วนตัว ก็ไม่นับว่าเป็นอาการของโรคนะครับ
นอกจากนี้ ยังมีภาวะที่เรียกว่า ความสามารถสมองถดถอยเล็กน้อย (Mild Cognitive Disorder ; MCI หรือ Minor Neurocognitive Disorder)
เป็นภาวะที่เริ่มมีสมรรถภาพสมองลดลง แต่ยังไม่มีผลกระทบต่อชีวิตมากนัก
บางคนที่มาถึงภาวะนี้ก็จะอยู่คงที่ และบางส่วนก็พัฒนาไปเป็นโรคสมองเสื่อมซึ่งปัจจุบันเป็นภาวะที่ทางการแพทย์ให้ความสนใจ
เนื่องจากอาจจะยังพอฝึกหรือป้องกันไม่ให้กลายเป็นสมองเสื่อมได้
แต่ยังไม่มียาหรือสมุนไพรที่ให้ผลชัดเจนนะครับ
ถ้าสนใจการฝึกสมองลองติดต่อ Cognitive Fitness ตึกสิรินทร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ครับ (ขอแอบโฆษณา)
P : ค่ะ วันนี้คุณผู้อ่านคงจะพอแยกได้ ระหว่างลืมทั่วไป กับลืมแบบสมองเสื่อมกันแล้วนะคะ
สัปดาห์หน้า เราจะมาคุยกับหมอโน้นกันต่อว่า ใครที่เสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมบ้าง
แล้วจะป้องกันอย่างไร รักษาอย่างไร และแค่ไหนที่ควรไปหาหมอได้แล้วนะคะ
สวัสดีค่ะ
อุต๊ะ...เกือบลืม !!! ขอบพระคุณนายแพทย์ชาวิท ตันวีระชัยสกุล
อาจารย์จิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน