จาก โพสต์ทูเดย์
เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล
ผลการสำรวจจำนวนประชากรสุนัขประจำปี 2559 ของสำนักงานปศุสัตว์ทั่วประเทศ พบว่า เมืองไทยมีสุนัขมากกว่า 6.7 ล้านตัว ในจำนวนนี้เป็นสุนัขมีเจ้าของ 6.05 ล้านตัว สุนัขไม่มีเจ้าของ 7.5 แสนตัว และมีแนวโน้มว่าจำนวนสุนัขจรจัดจะทะลุหลักล้านตัวภายในสิ้นปีนี้
สุนัขจรจัดเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน ส่งผลกระทบด้านต่างๆมากมาย ตั้งแต่เห่าหอนเสียงดังสร้างความรำคาญ วิ่งตัดหน้ารถเสี่ยเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน คุ้ยขยะ ขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง ถูกมองว่าเป็นพาหะทำให้เกิดโรคระบาด โดยเฉพาะพิษสุนัขบ้า ทั้งยังเป็นถูกโยนบาปว่าต้นเหตุความขัดแย้งเรื่องหมากัดคน คนทำร้ายหมา อันปรากฎเป็นข่าวครึกโครมบ่อยครั้ง ทั้งหมดนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ ทำงานภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานหลายภาคส่วน
พูดง่ายๆคือ ยกระดับจากปัญหาข้างถนนสู่วาระแห่งชาติอย่างจริงจัง
หมาจรจัด...ภัยคุกคามสังคม?
"สุนัขจรจัด" ในความรู้สึกนึกคิดของคนส่วนใหญ่ หนีไม่พ้นหมาขี้เรื้อนผิวกระดำกระด่าง ร่างผอมมอมแมม เนื้อตัวเหม็นสาบ นั่งๆนอนๆตามตรอกซอกซอย คุ้ยถังขยะหาอาหารประทังชีวิต รูปลักษณ์ไม่น่าพิสมัยและไม่น่าไว้วางใจของมันทำให้คนจำนวนไม่น้อยต่างพากันหลีกหนี ส่งเสียงไล่ เขวี้ยงหินใส่ เลยเถิดถึงขั้นคว้าไม้ไล่ตีเพราะรำคาญ
คำถามคือ หมาจรจัดเป็นภัยคุกคามต่อสังคมจริงหรือ
โรเจอร์ โลหะนันท์ นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ ผู้ทำงานคลุกคลีกับสุนัขจรจัดมานานกว่า 30 ปี อธิบายว่า สุนัขจรจัดแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆคือ "สุนัขเร่ร่อน" พบได้ตามข้างถนน ตามทุ่ง ไม่มีใครให้อาหาร จึงต้องคุ้ยเขี่ยตามถังขยะ พวกนี้อายุสั้น ไม่รถชนตาย ก็ป่วยเป็นโรคขาดสารอาหารตาย ส่วน "สุนัขชุมชน" เป็นสุนัขจรจัดที่มีคนใจดีคอยให้อาหาร จับทำหมัน ฉีดวัคซีน แต่มักไม่มีใครอ้างตัวเป็นเจ้าของ"
"หมาจรจัดไม่ใช่หมาป่า เป็นหมาเลี้ยง หรือหมาบ้านมาก่อนทั้งนั้น ส่วนใหญ่เป็นหมาที่เจ้าของเลี้ยงแบบปล่อยปะละเลย ไม่ฉีดวัคซีน ไม่ทำหมัน ให้ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านแล้วเกิดผสมพันธุ์กับหมาจรจัดตัวอื่นจนออกลูก หรือหมาที่ถูกเจ้าของทอดทิ้ง รวมถึงฟาร์มเพาะเลี้ยงไม่มีจรรยาบรรณที่เพาะหมามาขายตามตลาดนัดที่เรียกว่า 'หมากล่อง' ราคาถูกแต่มักมีปัญหาสุขภาพ พอมีปัญหาเจ้าของจะคืนก็คืนไม่ได้ ก็ต้องทิ้ง
"ทัศนคติที่ว่าหมาจรจัดเป็นภัยคุกคามสังคม ถ้าเช็คให้ดีจะพบว่า สุนัขที่สร้างปัญหาล้วนเป็นสุนัขบ้านมีเจ้าของทั้งนั้น ไม่ใช่สุนัขจรจัด ข่าวหมากัดคนก็หมาบ้านทั้งนั้น จูงออกมาข้างนอกก็กัดเด็ก เลี้ยงไว้ในบ้านก็กัดคนแก่ ส่วนหมาจรจัดเขาคุ้นเคยกับคน คนมา เขาก็ลุกหนี เรื่องมลพิษ หมาชอบคุ้ยขยะจริง แต่ไม่ได้มีแค่หมาที่คุ้ย ตะกวดก็คุ้ย คนก็คุ้ยมากกว่าหมาอีก เรื่องอึเรี่ยราดบนถนน ถ้าเทียบกับสัตว์อื่นอย่างนก แมว ปริมาณอึหมาน้อยกว่าด้วยซ้ำ ส่วนมลพิษทางเสียง คนเลี้ยงหมาจะทราบดีกว่า หมาเห่าเสียงดังน่ารำคาญคือหมาที่ถูกกักขัง หมาจรจัดจะไม่เห่าหอนเพราะเขาชินกับคน
ส่วนเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า เราผิดตั้งแต่ใช้คำว่า 'พิษสุนัขบ้า' แล้ว เพราะมันทำให้เข้าใจผิดว่ามีแต่ในหมา ทั้งที่ในแมว ในวัวก็ถือว่าสูงไล่เลี่ยกัน ลองไปถามสัตวแพทย์ตามคลีนิกดูว่าหมาที่อุ้มๆไปทำหมัน ฉีดวัคซีน เป็นหมาจรจัดทั้งนั้น เพราะคนใจบุญ หรือนักสังคมสงเคราะห์ทั้งหลายเขาพยายามจะลบภาพลักษณ์ที่ไม่ดี หมามีเจ้าของต่างหากที่ไม่ค่อยเข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะเจ้าของคิดว่าเลี้ยงอยู่ในบ้าน ปลอดภัยแน่ แต่ลืมว่าเขาก็ปล่อยมันออกไปนอกบ้าน"
นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ ให้ความเห็นว่า ภาครัฐต้องทำงานร่วมกับชุมชนในการนำสุนัขเลี้ยง หรือแม้แต่ไล่จับสุนัขจรจัดมาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
"ทุกคนรู้ว่าการแก้ปัญหาประชากรสุนัขต้องควบคุมตัวสุนัขที่ถูกนำมาปล่อย สุนัขตามฟาร์ม และสุนัขเลี้ยงถูกเลี้ยงแบบปล่อยๆ การขึ้นทะเบียนสุนัขจะช่วยได้มาก กทม.ออกบัญญัติการเลี้ยงและปล่อยสุนัขมาตั้งแต่ปี 2548 แต่ปรากฎว่าทุกวันนี้ยังไม่มีสุนัขไปขึ้นทะเบียนเลย เพราะข้าราชการทำงานแปดโมงเช้าเลิกสี่โมงเย็น เวลาจะไปถามชาวบ้านว่ามีหมากี่ตัว ขึ้นทะเบียนหรือยังก็จะเจอแต่บ้านเปล่าๆ เพราะเขาออกไปทำงานกันหมด จะให้ชาวบ้านนำหมาไปขึ้นทะเบียนเองก็ไม่มีใครว่าง เพราะทุกคนต้องทำงานทำการทั้งนั้น ถ้ายังไม่เน้นทำงานร่วมกับชุมชน ไม่ขอความร่วมมือกับลุงๆป้าๆข้างถนนที่ให้อาหารสุนัขจรจัดมาช่วยชี้ช่องระบุตัวสุนัข ก็ไม่มีทางขึ้นทะเบียนสุนัขได้"
ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ โรเจอร์เผยความคืบหน้าล่าสุดว่า วันที่ 20 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ ก็จะครบวาระการประชุม หลังจากนั้นจะมีการยื่นข้อสรุปแนวทางการดำเนินการของคณะกรรมาธิการฯต่อรัฐสภา หลักการสำคัญอยู่ตรงการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง โดยจะนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯมหานคร ขณะเดียวกันเตรียมออกกฎหมายควบคุมฟาร์มสุนัข ร้านเพ็ทช็อป รวมทั้งร้านขายสัตว์แปลกด้วย
"ต้องจดทะเบียนสุนัขแรกเกิดเหมือนจดทะเบียนรถยนต์ตั้งแต่โรงงาน ส่งไปต่อไปไหน อย่างไร ถ้าเจ้าของรู้ว่าหมาตัวเองมีทะเบียน เขาจะมีความรับผิดชอบในการเลี้ยงมากขึ้น ขณะเดียวกันสุนัขจรจัดที่มีอยู่เดิม ก็อาจใช้วิธีจับทำหมันไปก่อน ส่วนสุนัขที่มีปัญหา เช่น ดุร้าย ป่วย มีลูกอ่อน ก็ส่งไปยังศูนย์พักพิง ซึ่งศูนย์พักพิงสุนัขต่างๆก็ควรจะมีไว้สำหรับหมาที่ไม่สามารถอยู่ในที่สาธารณะได้เท่านั้น เช่น นิสัยดุร้าย ชอบกัดคน ไม่ใช่สร้างกันพร่ำเพรื่อ จับดะทุกตัว จับไปขังเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด พวกหมาหน้าเซเว่น หน้าตลาด ปล่อยเขาอยู่ไปเถอะ แต่ทำหมัน ฉีดวัคซีน แล้วให้เขาใช้ชีวิตไปตามอายุขัย ในต่างประเทศถ้ามีหมาจรจัด โอกาสรอดน้อยมาก เพราะบ้านเขาระบบสุขอนามัยดี ไม่มีขยะให้คุ้ย คนไม่ให้อาหาร สุดท้ายก็อดตายไปตามธรรมชาติ ขณะเดียวกันบ้านเขาก็มีฝ่ายเทศบาลที่จับจริง มันจึงไม่มีโอกาสที่จะเพิ่ม ศูนย์พักพิงต่างๆเองก็ต้องควบคุมประชากรด้วย บางประเทศเขาใช้วิธีการุณยฆาต หากไม่มีคนมารับไปเลี้ยงเกิน 3 เดือนจะฉีดยาให้ตาย ถือเป็นการกระตุ้นสังคมด้วยว่าถ้าไม่อยากให้หมาตายก็มาเอาไปเลี้ยง"
โรเจอร์บอกว่า การทะเบียนสัตว์เลี้ยงและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด คนเลี้ยงต้องมีจิตสำนึกความรับผิดชอบ ทำหมัน ฉีดวัคซีน ควบคุมฟาร์มเพาะเลี้ยงและเพ็ทช็อป จัดระเบียบศูนย์พักพิงสัตว์ หากทำพร้อมกันทั้งหมดนี้ได้ จำนวนสุนัขบนท้องถนนก็จะไม่เพิ่มขึ้น ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็ปล่อยให้ใช้ชีวิตต่อไปจนกว่าจะหมดอายุขัย
"ฟาร์มขายหมาเถื่อน"...วงจรอุบาทว์ทารุณสัตว์
เพราะความน่ารัก เชื่อง เป็นมิตร กตัญญูรู้คุณ และหาซื้อง่าย ทำให้สุนัขกลายเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยม
ปิยะวรรณ ตั้งสกุลสถาพร แห่งเพจเฟซบุ๊ก A Call for Animal Rights Thailand เล่าว่า ทุกวันนี้คนจำนวนไม่น้อยชอบเลี้ยงตามแฟชั่น สายพันธุ์ไหนดัง มาแรง ก็แห่กันไปซื้อมาเลี้ยง
"ยกตัวอย่างดาราเซเลบอุ้มหมาตัวเล็กๆน่ารักใส่กระเป๋าสะพาย ถ่ายรูปลงอินสตาแกรม หมาพันธุ์เล็กอย่างชิวาวาก็ขายดิบขายดี ข่าวหมาพันธุ์บางแก้วจับขโมย หมาพันธุ์บางแก้วก็ได้รับความนิยมถล่มทลาย ไม่ผิดหรอกค่ะที่อยากเลี้ยงหมา ปัญหาอยู่ตรงเห่ออย่างเดียว แต่ไม่ศึกษาหาข้อมูลทำการบ้านว่าสุนัขแต่สายพันธุ์เป็นอย่างไร ต้องการการเลี้ยงดูแบบไหน
อยากเลี้ยงบางแก้ว ถามว่าคุณจะดูแลได้ไหมไม่ให้ไปกัดใคร เพราะบางแก้วดุมาก อยากเลี้ยงปอมเปเรเนียนขนฟูฟ่อง แต่ที่บ้านไม่มีแอร์ อยากเลี้ยงไซบีเรียนฮัสกี้ ซึ่งเป็นสายพันธุ์หมาป่า ชอบวิ่งพล่านไปทั่ว แต่กลับเลี้ยงบนคอนโด แบบนี้ทรมานสัตว์หรือเปล่า ถ้าคุณเลี้ยงไม่เป็น เลี้ยงไม่ดี เขาก็ป่วยและตาย หรือพอหมดกระแส เลิกเห่อ สุดท้ายก็เอาไปทิ้งตามถนน"
ในฐานะผู้ทำงานด้านต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ เธอมองว่า ปัญหาน่ากังวลที่สุดขณะนี้หนีไม่พ้นบรรดาฟาร์มสุนัขเถื่อนและร้านเพ็ตชอปที่ไม่ได้มาตรฐาน
ฟาร์มสุนัขเถื่อน (Backyard Breeder) จะมีการเพาะพันธุ์สุนัขในที่ลับ เพราะต้องการปิดบังไม่ให้ใครรู้ว่าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม่ใช่พันธุ์แท้ สถานที่อยู่สกปรกคับแคบ คนเพาะพันธุ์ไม่ได้มองสุนัขเป็นสิ่งมีชีวิต แต่เป็นเครื่องจักรผลิตลูกสุนัข จุดประสงค์เดียวคือทำกำไรให้ได้มากที่สุด นั่้นหมายถึงการจับสุนัขผสมทุกครั้งที่ถึงฤดูติดสัด ให้กินเศษอาหารเหลือ ไม่มีการอาบน้ำแต่งขน ไม่มีการทำความสะอาดกรง ไม่ได้ฉีดวัคซีน ไม่ต่างอะไรจากขุมนรก
"สุนัขจะถูกขังกรงตลอดเวลา ไม่มีวันได้ออกไปไหนจนวันตาย บางตัวพิการ ตาบอด เล็บยาวจนทะลุเนื้อออกมา ขนก็ไม่ได้ตัด บางตัวเป็นอัมพาตเดินไม่ได้แต่ยังถูกเก็บไว้ผสมพันธุ์จนกระทั่งผสมพันธุ์ไม่ได้เขาก็เอาไปกำจัด ไม่ก็ปล่อยให้ป่วยตาย บางคนธุรกิจเจ๊ง เลี้ยงไม่ไหวก็ขายถูกๆ หรือเอาไปปล่อยข้างถนน ทุกวันนี้ปัญหามาจรจัดส่วนหนึ่งก็มาจากเจ้าของฟาร์มที่ไร้ความรับผิดชอบนี่แหละ โดยเฉพาะร้านเพ็ตชอปบางร้านที่จตุจักรที่ตัวดี ลูกสุนัขจะนอนโชว์อยู่ในตู้กระจกทั้งวันทั้งคืน ฉี่อึอยู่ในนั้นแหละ ไม่เคยได้วิ่งเล่น ไม่เคยตรวจสุขภาพ ตัวไหนตายช่างมัน ที่แย่กว่านั้นคือ ธรรมชาติของลูกหมาจะต้องนอนทั้งวันทั้งคืน แต่ลูกหมาที่อยู่ในร้านขายสุนัขมันคึกอย่างกับใส่ถ่าน เพราะเขาฉีดยากระตุ้น ถ้าสงสารแล้วซื้อไปเลี้ยง ผ่านไปวันสองวัน ซึม โรคต่างๆก็ตามมา พอป่วยนำไปคืนก็ไม่ได้ สุดท้ายก็ตาย"
ทุกวันนี้ฟาร์มเพาะหมาเถื่อนกับร้านเพ็ตชอปไม่ได้มาตรฐานมีกลาดเกลื่อนในอินเตอร์เน็ต เพราะลงทุนน้อย แค่ซื้อหมาตัวผู้ตัวเมียมาผสมพันธุ์กันแล้วเอาไปขาย คนซื้อหมาก็ใช้วิธีจิ้มเอาจากภาพถ่ายเหมือนซื้อเสื้อผ้า เธอบอกว่า การรับสิ่งมีชีวิตเข้ามาเป็นสมาชิกในบ้านด้วยวิธีซื้อจากโซเชียลเป็นอะไรที่ตลกและน่าหดหู่มาก
"บ้านเราไม่มีการเก็บภาษีสัตว์เลี้ยง ทั้งที่ควรเก็บตั้งนานแล้ว เพราะนี่คือรายได้ประเทศ เดี๋ยวนี้สุนัขไม่ใช่ตัวละ 200-300 บาท แต่เป็นพัน หมื่น จนถึงหลักแสน เมื่อไม่มีการเก็บภาษีฟาร์มเพาะสุนัขและร้านเพ็ตชอป ก็เลยไม่มีการถูกตรวจสอบว่าแหล่งเพาะพันธุ์นั้นมีการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีหรือไม่ สัตว์มีคุณภาพหรือไม่ ร้านค้าได้มาตรฐานและจดทะเบียนอย่างถูกต้องหรือไม่ ที่สำคัญเมื่อลูกหมาตัวนั้นถูกขายไปควรมีการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงด้วย นี่คือวิธีที่จะช่วยลดปัญหาสุนัขจรจัด นอกจากนี้เมืองไทยควรตั้งกรมสัตว์เลี้ยง ทำหน้าที่ดูแลเรื่องสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ ทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ นักวิชาการ เอ็นจีโอ สัตวแพทย์ มีการตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจสัตว์เลี้ยง ให้มีอำนาจในการตรวจค้น ยึด จับกุม ลงโทษ กรณีมีเหตุทารุณกรรมสัตว์เกิดขึ้น"
แค่จับขังไม่ช่วยแก้ปัญหา
ประโยคที่เคยได้ยินกันบ่อยครั้งคือ รัฐต้องดูแลคนเสียภาษี มียุงต้องไปกำจัดยุง มีหนูต้องไปกำจัดหนู หมาจรจัดก็ถือเป็นอีกภาระหนึ่งที่ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องแบกรับ
ทุกๆปีจะมีประชาชนร้องเรียนผ่านสายด่วน 1555 ของกทม.มากกว่า 4,500 เรื่อง ปัญหาที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ 1.หมาบ้า สงสัยว่าติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า 2.ดุร้าย เป็นอันตรายต่อคน 3.สร้างความเดือดร้อนรำคาญ เช่น เห่าหอนเสียงดัง กัดกัน ขับถ่าย คุ้ยขยะ ขั้นตอนหลังได้รับแจ้งไม่เกิน 7 วัน จะมีการส่งสายตรวจลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ร้องเรียน สอบถามปัญหา เจรจากับเจ้าของสุนัข หากสุนัขตัวนั้นไม่มีเจ้าของหรือตกลงกันไม่ได้ จะส่งเจ้าหน้าที่มาจับ โดยการจับสุนัขจะใช้วิธีต้อนเข้าที่แคบก่อนใช้สวิงครอบ แล้วส่งไปที่ศูนย์พักพิงสุนัขประเวศ หลังจากนั้นสุนัขจะถูกนำมาฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค โดยจะรอ 7 วันให้เจ้าของมารับสุนัขคืน หากไม่มีใครมารับคืนก็จะย้ายไปอยู่คอกเลี้ยงรวมอีก 7 วัน พอครบ 14 วันก็จะส่งไปยังศูนย์พักสุนัขที่จ.อุทัยธานี
"ปัจจุบันมีสุนัขจรจัดอยู่ในการดูแลของกทม.ทั้งหมด 5,500 ตัว กทม.ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูถึงปีละ 24.5 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าอาหาร 500 ตัน 12 ล้านบาท ค่าวัคซีน 40,000 โดส 6 ล้านบาท ค่าทำหมัน 6.5 ล้านบาท เป้าหมายของเราคือ เลี้ยงเขาไปจนกว่าจะหมดอายุขัย ขณะเดียวกันก็หวังว่าจะมีผู้เลี้ยงมารับคืนหรือมีผู้ใจบุญนำไปอุปการะ แต่ที่ผ่านมามีคนเข้ามารับไปน้อยมาก"
คำชี้แจงของ นายสัตวแพทย์ศิวะ ไม้สนธิ์ หัวหน้ากลุ่มควบคุมและพักพิงสุนัขประเวศ กทม.
นสพ.ศิวะ มองว่า การจับหมามากักขังแค่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเท่านั้น แต่ไม่สามารถแก้ไขต้นตอปัญหาสุนัขจรจัดได้
"ประเด็นอยู่ตรงการควบคุมคุณภาพการเลี้ยง คุณต้องรู้ก่อนว่า องค์ประกอบของสัตว์เลี้ยงคือ ต้องมีที่อยู่ มีอาหาร และมีเจ้าของ ดังนั้นการจะเลี้ยงสุนัขสักตัวหนึ่งต้องมีการสร้างมาตรฐานจิตสำนึกก่อนเลยว่า คุณต้องรับผิดชอบชีวิตเขา ดูแลให้กินอิ่ม นอนหลับ มีบ้านอยู่ ป่วยก็ต้องพาไปรักษา ดูแลให้ความรักความเอาใจใส่ ให้เขามีความสุข และถ้าหมาคุณไปกัด หรือสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น คุณก็ต้องรับผิดชอบ ต่อมาคือต้องคุมกำเนิด วงจรชีวิตหมา 6 เดือนก็เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์สามารถมีลูกได้ คลอดลูกได้ครั้งละ 5-10 ตัว ปีหนึ่งมีลูกได้ 2 ครั้ง และอายุขัยของหมาอยู่ที่ 15 ปี ฉะนั้นการทำหมันสำคัญมาก ควรณรงค์ให้ความรู้แก่คนเลี้ยงว่า ถ้าไม่ทำหมันคุมกำเนิดจะมีผลอย่างไร หน่วยงานรัฐอาจต้องช่วยสนับสนุนส่งหมอไปทำหมันสุนัขตามชุมชนด้วย
ในต่างประเทศที่เขาแก้ปัญหาสำเร็จเพราะหลายปัจจัย เช่น อากาศหนาว คนไม่ให้อาหาร บ้านเมืองสะอาดเรียบร้อยไม่มีขยะ ทำให้หมาที่อยู่ตามท้องถนนมีโอกาสรอดน้อย ขณะเดียวกันศูนย์พักพิงเขาควบคุมประชากรด้วยการใช้วิธีการุณยฆาต รมยา ฉีดยาให้ตาย แต่บ้านเราไม่ยอมรับวิธีนี้ จุดเด่นคนไทยคือใจบุญ ผมมองว่าคงต้องหาวิธีที่เหมาะกับความใจดีของคนไทยนี่แหละ เช่น ถ้าคุณให้อาหารสุนัขจรจัดกิน ก็ลองคิดต่อว่าเขาก็อาจอยากมีบ้าน อยากมีเจ้าของ อยากไปอยู่กับคุณด้วย คุณจะหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ถึงที่สุดไหม ไม่ใช่แค่เอาอาหารมาให้ พาไปทำหมัน ฉีควัคซีนแล้วปล่อย ประชาชนจะช่วยลดจำนวนสุนัขจรจัดได้เยอะมาก อย่าคิดว่าเป็นภาระของภาครัฐฝ่ายเดียว"
"ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง"ทางออกที่ยั่งยืน
"กรมปศุสัตว์" ถือเป็นอีกหน่วยงานที่ถูกมองว่ามีบทบาทหลักในการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด ทว่าภารกิจเต็มไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากต้องรับผิดชอบการควบคุมดูแลสัตว์ทุกชนิด
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ปัญหาสุนัขจรจัดถือเป็นวาระระดับชาติ เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่กรมปศุสัตว์จะทำเพียงกรมเดียว
"ที่ผ่านมา หน้าที่หลักของกรมปศุสัตว์จะเน้นเรื่องป้องกันโรคติดต่อ โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้า ต้องลดจำนวนประชากรสุนัขจรจัดให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อไม่ให้แพร่ขยายด้วยการฉีดยาคุมกำเนิด ฉีควัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และผ่าตัดทำหมัน แต่ละปีกรมปศุสัตว์มีแผนทำหมัน 8 หมื่นตัวทั่วประเทศ แต่ก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ต้นเหตุแท้จริงอยู่ที่ผู้เลี้ยงไม่มีจิตสำนึกความรับผิดชอบ
อุปสรรคอีกอย่างที่พบคือ สุนัขจรจัดจับยากมาก เราหาทุกวิถีทาง ใช้สวิงครอบ ยิงยาสลบ แต่พอเจอฝูงใหญ่ 10 ตัว ก็ยิงได้แค่ตัวเดียว ต้องรออีกนานกว่าจะไปจับใหม่ เพราะบุคลากรเราไม่เพียงพอ ถ้าพลาดก็ไปออกลูกอีกเยอะ ถ้าไม่บูรณาการทั้งระบบมันก็จะแก้ปัญหาวนๆเวียนๆอยู่แค่นี้ เพราะกรมปศุสัตว์ต้องดูสัตว์ทุกชนิด มีภารกิจอื่นๆอีกมากมาย คนส่วนใหญ่มักคิดว่าอะไรที่เกี่ยวกับสัตว์ กรมปศุสัตว์ต้องจัดการอยู่หน่วยงานเดียว"
แผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดของกรมปศุสัตว์ แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือ การควบคุมสุนัขจรจัดที่มีอยู่เดิมไม่ให้เพิ่มจำนวน และ ป้องกันไม่ให้เกิดสุนัขจรจัดเพิ่ม
"การควบคุมสุนัขจรจัดที่มีอยู่เดิมไม่ให้เพิ่มจำนวน ต้องทำหมันเพื่อลดการเพิ่มปริมาณ แต่เนื่องจากคนเราน้อย และงบมีจำกัด จึงต้องใช้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งสาธารณสุข กทม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอ็นจีโอ ประชาชน ส่วนการป้องกันไม่ให้เกิดสุนัขจรจัดเพิ่ม ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง นั่นคือ พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และจัดสวัสดิภาพสัตว์ พศ.2557 มาตรา 23 ห้ามไม่ให้เจ้าของปล่อย ละทิ้ง หรือทำการใดๆให้พ้นจากการดูแลโดยไม่มีเหตุอันควร ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบผู้ปล่อยทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ สามารถแจ้งตำรวจให้จัดการได้เลย มีโทษปรับ 40,000 บาท"
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เสนอทางออกการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดว่า อยากให้มีการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเสียที พร้อมๆกับการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการทารุณกรรมสัตว์ ลงโทษคนเลี้ยงที่ปล่อยปะละเลย
"ในต่างประเทศที่เขาประสบความสำเร็จก็เพราะมีการขึ้นทะเบียนสุนัข ฝังไมโครชิพ ผู้เลี้ยงต้องเสียภาษี สามารถย้อนกลับไปหาเจ้าของได้ เช่น หมาหาย หมาถูกทิ้ง หมาไปกัดคน การขึ้นทะเบียนสุนัขก็เหมือนเวลาซื้อรถยนต์ ต้องจดทะเบียน จะได้รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ รู้รายละเอียดของสุนัขแต่ละตัว รู้จำนวนที่แท้จริง ผมอยากให้การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงเป็นวาระแห่งชาติเลย มีสมุดทะเบียนชัดเจน เหมือนบัตรประชาชนของคนนี่แหละ ไม่ใช่ปล่อยสะเปะสะปะไร้การควบคุม มีเรื่องทีก็ทะเลาะโยนความผิดกันไปมา จนสุนัขจรจัดเต็มบ้านเต็มเมืองแบบนี้"
ทั้งหมดนี้คือความคืบหน้าล่าสุดในการร่วมกันแก้ปัญหาสุนัขจรจัดระดับชาติ คงต้องติดตามกันต่อไปว่าทางออกของวิกฤตครั้งนี้จะเป็นอย่างไร
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน