จากประชาชาติธุรกิจ
สัมภาษณ์พิเศษ
ในช่วงที่ข่าวคราววงการตำรวจในฐานะ "ต้นทาง" กระบวนการยุติธรรม ปรากฏขึ้นเป็นข่าวเรื่องการ "ทุจริต"
ทั้งที่ยุคที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว หนึ่งในโจทย์ปฏิรูปคือ ปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทว่าผ่านมา 2 ปี กลับไม่มีความคืบหน้า
"ประชาชาติธุรกิจ" สนทนากับ "รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์" คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ผู้ตีแผ่การทุจริตวงการสีกากี ผ่านงานวิจัยเรื่อง "ตำรวจกับระบบกินเมือง" เมื่อ 22 ปีก่อน
จากวันนั้นถึงวันนี้ เขาบอกว่าวงการตำรวจไม่ได้ "ดีขึ้น" มีแต่ "เลวลง" เพราะอะไรมีคำตอบในบรรทัดถัดไป
- 2 ปีที่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจ มีการปรับปรุงโครงสร้างตำรวจบ้างหรือไม่
มีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวโครงสร้าง หรือระบบของตำรวจ ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากไม่ได้เปลี่ยนแปลง ยังคิดว่าเลว ลง เพราะมีการยุบตำแหน่งของฝ่ายสอบสวน
เดิมทีตำรวจมีทั้งฝ่ายสืบสวนและฝ่ายสอบสวน ฝ่ายสืบสวนส่วนใหญ่จะมาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ส่วนฝ่ายสอบสวนจะมาจากพวกจบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ฝ่ายสอบสวนก็จะไม่มีอนาคตถูกปฏิบัติเหมือนตำรวจชั้นสอง มีการพยายามส่งเสียงบอกรัฐบาลว่าน่าจะปฏิรูปทำให้ฝ่ายสอบสวนเป็นอิสระในการทำงาน
ไม่อย่างนั้นระบบตำรวจจะเป็นระบบที่บังคับบัญชาโดยตัวผู้กำกับแบบทหาร ที่สามารถบอกให้ฝ่ายสอบสวนสามารถยุติคดีหรือเปลี่ยนเนื้อหาสาระของคดี จะสั่งฟ้อง ไม่ฟ้องก็ได้ อยู่ในมือผู้กำกับ และถ้าหากฝ่ายสอบสวนไม่ยอมรับ ก็ถือว่าผิดวินัย เพราะเป็นระบบการบังคับบัญชาแบบทหาร
แต่ตำรวจเป็นงานที่ทำงานกับประชาชน อำนวยความยุติธรรม โดยหลักการทำไม่ได้ เมื่อยุบฝ่ายสอบสวนไปแล้วมันก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ความยุติธรรมของตำรวจมันแย่ลงไปอีก สิ่งที่ตำรวจควรจะทำคือทำให้งานสอบสวนเป็นอิสระ เพื่อที่จะมีการตรวจสอบฝ่ายสืบสวนได้ และให้ฝ่ายสอบสวนบริหารงานเหมือนกับคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ถ้าอย่างนี้องค์กรตำรวจจะเป็นประโยชน์กับประชาชน
- คิดว่าอะไรทำให้ปฏิรูปตำรวจในยุค คสช.ไม่คืบหน้า แต่กลับเลวลง
รัฐบาลนี้คล้ายคลึงกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุกรัฐบาล ไม่มีใครกล้าไปแตะต้องอำนาจของตำรวจ ตำรวจเหมือนกับรัฐซ้อนอยู่ในรัฐ เป็นรัฐที่มีอำนาจอิสระ เป็นอำนาจที่ไม่มีใครตรวจสอบได้เลย นักการเมืองก็ไม่แตะต้องโครงสร้างระบบตำรวจ แต่อยากจะได้ตัวผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มาเป็นพวกเดียวกับนักการเมือง
รัฐบาล คสช.ไม่แตกต่างในแง่นี้ เพราะการแตะโครงสร้างตำรวจเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก อาจทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ เนื่องจากตำรวจมีกำลัง 2 แสนคน กระจายออกไปถึงระดับตำบล ถ้าตำรวจแข็งข้อไม่ยอมทำงานให้ รัฐบาลก็ล้ม ดังนั้นปัญหานี้จะกลายเป็นปัญหาที่หมักหมมรอเวลาแก้ไขต่อไป
- รัฐบาล คสช.มีอำนาจล้นฟ้ายังไม่กล้าแตะต้อง แล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะกล้าแตะหรือไม่
เป็นเรื่องยาก เพราะระบบตำรวจมันเข้มแข็งเกินไป ถ้าจะมีรัฐบาลชุดหนึ่งขึ้นมาแล้วปฏิรูประบบตำรวจได้ ต้องเป็นรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากพอสมควร และผู้นำรัฐบาลจะต้องเป็นผู้นำที่มือสะอาด สุจริต ไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตใด ๆ เลย ถึงจะทำได้
จริง ๆ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ทำได้ บารมีของ พล.อ.ประยุทธ์ถึง แต่อาจมองในแง่การเมืองว่า ภารกิจในช่วงเวลาจำกัด 3 ปี ก็อยากจะแตะเรื่องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การทุจริต ซึ่งพยายามทำอยู่ สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจ
- สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีความพยายามเสนอแนวทางปฏิรูปตำรวจ แต่กลับไปไม่ถึงมือรัฐบาล มันเกิดอะไรขึ้น
ประเด็นตำรวจเป็นประเด็นอ่อนไหว ผลประโยชน์และอำนาจใน สตช.มีมากมายมหาศาล โยงไปกับตำรวจที่เกษียณอายุแล้วจำนวนมาก ไม่ได้โยงกับตำรวจที่อยู่ในอำนาจเท่านั้น ตำรวจที่เกษียณอายุจะต้องพยายามรักษาระบบความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์เอาไว้ จะเห็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ทุกคนมีลูก หลาน เครือญาติตัวเองเป็นตำรวจทั้งนั้น ยังมีลูกน้องคนสนิท คนใกล้ชิด แม้ว่าเกษียณอายุไปแล้วยังต้องดูแล
อาจไปโยงถึงธุรกิจส่วนตัว ธุรกิจของครอบครัว พวกพ้องด้วย ทำให้ตำรวจที่เกษียณอายุไปแล้วเป็นพลังที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสูงมาก เวลาที่เขาปฏิบัติการก็เป็นแรงต้านที่คนในสังคมอาจมองไม่เห็นแต่อำนาจมันรุนแรง คณะกรรมาธิการการปฏิรูปตำรวจก็ไปไม่ไหว ยากเดินผ่านไปได้
แม้แต่ สปช.ยังไม่ผ่าน ก็ไม่ต้องไปพูดถึง ถ้าผ่าน สปช.จะไปรอดหรือเปล่า ชั่วชีวิตผมอาจจะไม่ได้เห็น จนวันหนึ่งที่ผมลาจากโลกนี้ไป การปฏิรูปตำรวจก็อาจยังไม่เกิดขึ้น เพราะโครงสร้างตำรวจมันแข็งแกร่ง
- ทำไมโครงสร้างตำรวจถึงแข็งแกร่งถึงขั้นไม่สามารถปฏิรูปได้
การปฏิรูปตำรวจสมัยใหม่เริ่มต้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย นอกจากการขยายเครือข่ายอำนาจของตำรวจไปจนเต็มประเทศ ถึงระดับตำบล และอำนาจทั้งหมดรวมศูนย์อยู่ที่คนคนเดียว ที่มีมาแต่โบราณในระบบศักดินา ดังนั้นคนที่มาเป็น ผบ.ตร. ได้อำนาจรวมศูนย์แบบดั้งเดิมไว้ในมือ แต่เครื่องไม้เครื่องมือสมัยใหม่หมด บวกกับอำนาจตำรวจที่เกษียณอายุไปเป็นจำนวนมากยังมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง และบางคนไปอยู่พรรคการเมือง มันเป็นพลังที่ทำให้การปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้นได้ยากที่สุด
- สปช.พยายามปฏิรูปตำรวจ ร่างรัฐธรรมนูญของอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็มีแนวทางปฏิรูปตำรวจ แต่ถูกกวาดทิ้งไปหมด อาจารย์คิดว่ามีมือที่มองไม่เห็นอยู่เบื้องหลังหรือไม่
ใช่ครับ ผมคิดว่ามันมีอำนาจที่ประชาชนมองไม่เห็น และมีอำนาจมากจริงด้วย ที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์หรือความคาดหวังของประชาชน เขาก็จะสกัดทุกทางไม่ให้เกิดการปฏิรูปตำรวจได้
ทุกวันนี้พลังของภาคประชาสังคมที่อยากเห็นการปฏิรูปตำรวจก็ยังไม่หายไป ทันทีที่มีใครพูดเรื่องนี้ออกมา จะเห็นความกระปรี้กระเปร่าของประชาชนที่อยากเห็นการปฏิรูปตำรวจ แต่ขณะเดียวกันก็มีพลังที่เข้มแข็งกว่า และเป็นพลังที่มีอำนาจบีบบังคับได้ด้วย เมื่อสองพลังนี้มาเผชิญหน้ากัน พลังที่มาจากการบีบบังคับจะชนะเสมอนะ ในอนาคตตอบไม่ได้ แต่ปัจจุบันพลังตรงนี้แข็งแรงกว่า
- จะมีวิธีฝ่ากำแพงมือที่มองไม่เห็นอย่างไร
ทำยากมาก ต้องมานั่งคิดกันว่าหลักการในการปฏิรูปตำรวจคืออะไรก่อน ข้อแรก ต้องยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ข้อสอง องค์กรตำรวจหรือโครงสร้างตำรวจที่จะปฏิรูปต้องมีหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส มีการตรวจสอบได้ ถ้าหลักการนี้ การออกแบบองค์กรตำรวจจะง่ายขึ้น
ตำรวจต้องเป็นตำรวจระดับจังหวัด เพราะถ้าเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจในปัจจุบันจะไม่ยึดผลประโยชน์ประชาชน ความทุกข์ของประชาชนไม่สามารถส่งเสียงออกมาได้ แต่ถ้ากระจายอำนาจไปเป็นตำรวจระดับจังหวัด เสียงของประชาชนที่จะไปถึงมือผู้บังคับการจังหวัดก็จะดังได้เร็วมาก ไม่ต้องผ่านจากจังหวัดไปถึง สตช. ตัดขั้นตอนออกไป
และอาจมีองค์กรอื่นมาเป็นบอร์ดของตำรวจจังหวัด เช่น อัยการ ศาล ผู้ว่าราชการจังหวัด และตัวแทนภาคประชาสังคมที่สังคมยอมรับให้เขามีส่วนด้วย เช่น จากสภาทนายความ ปัญหาต่าง ๆ ของประชาชนจะได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว
การบริหารงานตำรวจ เช่น การโยกย้ายก็ย้ายในจังหวัดของตัวเองจนเกษียณ อย่างนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์มากที่สุด และค่าใช้จ่ายของตำรวจจะลดลง เพราะระบบตำรวจสมัยใหม่คือระบบกระจายอำนาจ
- ทำไมระบบกินเมืองของตำรวจ ในงานวิจัยของอาจารย์ยังคงอยู่ ทั้งที่ผ่านมานาน
ระบบแบบดั้งเดิมยังคงอยู่ และเราจะพบว่าการส่งส่วยมันก็ยังอยู่ และในตอนหลังมีระบบการซื้อขายตำแหน่งเกิดขึ้น สิ่งที่ผ่านมาเกือบ 30 ปี หลังจากผมวิจัย คิดว่าสถานการณ์ของตำรวจเสื่อมโทรมลงมากเป็นประจำทุกปี เสื่อมโทรมลงอย่างหนัก และแรงของประชาชนที่อยากเห็นการปฏิรูปตำรวจก็เพิ่มขึ้นทุกปี ต้องมีวันหนึ่งเป็นจุดนัดพบที่คนตื่นตัว พร้อมใจกันเรียกร้องรัฐบาลว่า ปฏิรูปตำรวจเถอะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
- การซื้อขายตำแหน่งยังคงอยู่ แต่ที่เปลี่ยนคือราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ทำไมเป็นเช่นนั้น
ระบบตำรวจเป็นระบบที่ผสมผสานระบบศักดินากับระบบทุนนิยม ตำรวจสมัยเดิมมันมีความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง แต่ระบบการอุปถัมภ์สมัยใหม่ไม่ใช่อุปถัมภ์แบบดั้งเดิม ที่เวลาเป็นผู้ใต้อุปถัมภ์จะมีนายอยู่คนเดียว แต่มันมีการผสมผสานอุปถัมภ์แบบดั้งเดิมกับการอุปถัมภ์สมัยใหม่ มีลักษณะการแลกเปลี่ยนด้วยเงิน และเป็นการอุปถัมภ์เชิงแข่งขัน ตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาจะไม่มีนายคนเดียว แต่จะมีนายหลายคน เช่น เขาอาจวิ่งไปหานักการเมือง วิ่งไปหาเจ้านายระดับบน อาจวิ่งไปหาเจ้านายที่เกษียณอายุแล้วด้วย
- แสดงว่าตำรวจหนึ่งคนต้องจ่ายส่วยให้กับนายผู้อุปถัมภ์หลายคนพร้อมกัน
ต้องคอยดูแลเจ้านาย เพราะถ้าไม่ดูแลเจ้านายก็ไม่มีโอกาส เมื่อจะแข่งขันเพื่อขึ้นตำแหน่งก็ต้องมีเจ้านายหลายคน เดี๋ยวพรรคนี้ไป พรรคการเมืองใหม่มา ก็ต้องหาทางต่อว่านักการเมืองคนไหนที่มา เราจะสามารถต่อสายได้ มีเพื่อนคนไหน มีญาติคนไหน นี่คือความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมที่ผสมผสานในระบบตำรวจ
- คสช.ตั้งธงแก้ปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง แต่กลับมีข่าวการซื้อขายตำแหน่งในวงการตำรวจเป็นเพราะอะไร
โครงสร้างอำนาจตำรวจไมได้รับผลกระทบอะไรเลยจากการยึดอำนาจของ คสช. ยังอยู่เหมือนเดิม แต่ คสช.ได้มอบอำนาจให้ ผบ.ตร. ยิ่งเบ็ดเสร็จกว่าเดิม ระบบต่าง ๆ ที่เคยอยู่ก็ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่เพราะ คสช.อยากจะเห็นการซื้อขายตำแหน่ง เชื่อใจ พล.อ.ประยุทธ์ว่าไม่ต้องการ
แต่การบริหารที่ผ่านมาในรอบ 10 ปี มันทำให้การเลื่อนตำแหน่งของตำรวจจำนวนหนึ่งได้มาโดยมิชอบ และขึ้นมาอยู่ระดับข้างบนเป็นส่วนใหญ่แล้ว ดังนั้นการที่จะทำให้อำนาจของ คสช.อยู่ได้ ก็ต้องหาตำรวจที่มีแนวคิดแตกต่างจากผู้ปกครองแบบเดิม ถามว่าหาง่ายไหม... หาไม่ค่อยได้หรอก เพราะตลอด 10 ปี ก็เหลือแต่คนที่หวังกับการปกครองแบบเดิมเต็มหน้ากระดานตั้งแต่ข้างบนมาถึงระดับกลาง ๆ
ดังนั้นการที่ คสช.เลือกตำรวจขึ้นมาเพื่อรักษาระบอบการปกครองของ คสช. ก็มีข้อจำกัดเยอะว่าจะเอาตำรวจคนไหนที่ไม่ยอมรับระบอบการทุจริตแบบเดิม มันอยู่ในภาวะอยู่ในระหว่างเสี้ยมเขาควาย คือถ้ามองในระบบเดิม คสช.ก็จะอยู่ไม่ได้ แต่พอบอก ผบ.ตร.เลือกเอาคนที่ไม่เคยร่วมทุจริตกับระบอบการปกครองเดิม มันก็ต้องใช้ระบบพรรคพวกเส้นสาย หันไปทางซ้ายก็ลำบาก หันไปทางขวาก็ลำบาก
- หลัง คสช.คืนอำนาจ ระบบตำรวจจะย้อนกลับมาเหมือนก่อนการยึดอำนาจหรือไม่
ถ้ารัฐธรรมนูญยังเป็นอย่างนี้ก็มีโอกาสมาก เพราะสิ่งที่ คสช.ทำ ไม่ได้ปฏิรูปกฎหมายตำรวจ ถ้าหาก คสช.ต้องการให้ระบบตำรวจมีความสุจริต ก็ต้องปฏิรูป พ.ร.บ.ตำรวจ ด้วยการทำให้ตำรวจเป็นตำรวจจังหวัด ถ้าเป็นเช่นนี้ ใครมาเป็นรัฐบาล ถามว่ายังเข้ามาแทรกแซงได้ไหม มันยังแทรกแซงได้ แต่จะเหนื่อยเป็นบ้า เพราะอำนาจถูกกระจายไปหมดแล้ว
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน