จากประชาชาติธุรกิจ
รายงาน
17 คดีพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน ที่ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบหมายให้ "ดร.วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมาย ทำเนียบรัฐบาล ว่าความ-สะสางอีกครั้ง รวมมูลค่าความเสียหายเท่ากับงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล
อาจเป็นเพราะประสบการณ์ "ดร.วิษณุ" ต้องเข้าไปมีส่วนรับรู้-รับเห็นและได้สัมผัสเวที "ชิงไหวชิงพริบ" ระหว่างรัฐกับเอกชน หลายครั้ง หลายครา
เช่น กรณีสัมปทานติดตั้งโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายทั่วประเทศ ในสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน หรือ "รัฐบาลอานันท์ 1" ภายหลังรื้อข้อตกลงทั้งหมดเพื่อตั้งโต๊ะเจรจาใหม่อีกครั้ง สืบเนื่องจากช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หลังจากรัฐบาลมีมติให้สัมปทานบริษัททีเอ บริษัทในเครือซีพีของธนินท์ เจียรวนนท์ แต่ยังไม่ทันลงนามในสัญญา ก็เกิดรัฐประหาร 23 พ.ค. 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เสียก่อน
"ผมสังเกตว่าคุณอานันท์ใช้ทุกลีลาในการเจรจา บางครั้งเป็นลีลาการทูต บางครั้งเป็นลีลานักการเมือง บางครั้งเป็นลีลานักธุรกิจ แต่ส่วนใหญ่เป็นลีลาของคุณอานันท์เอง เช่น มีจังหวะว่าขั้นตอนใดนั่งคุยกันที่โต๊ะทำงานตัวยาวอยู่ดี ๆ พอรู้สึกว่าบรรยากาศชักเครียด ท่านก็ชวนไปนั่งที่โซฟาตัวนุ่ม เรียกเด็กมาเสิร์ฟน้ำ ตัวท่านเองก็ไขว่ห้างสูบซิการ์ หัวร่อเอิ้กอ้ากซักถามเรื่องส่วนตัวกับคุณธนินท์อย่างเป็นกันเองว่า มีลูกกี่คน ทำงานอะไร ชายหญิงกี่คน เรียนอะไร คุยกันสัพเพเหระ เหมือนกำลังจะสัมภาษณ์ชวนคุณธนินท์มาเป็นรัฐมนตรีอย่างนั้นแหละ จนคุณธนินท์ตั้งตัวไม่ติดว่ามาไม้ไหน พอกาแฟหมดก็ชวนกลับไปนั่งโต๊ะยาวเอาการเอางานต่อ"
สุดท้ายการเจรจาก็จบลงด้วยการให้คุณธนินท์ได้สัมปทานไปบางส่วน อีกส่วนหนึ่งรัฐบาลจะเอาไปประมูลใหม่
ตั้งแต่บัดนั้น ด้วยหน้าที่เลขาฯ ครม. "ดร.วิษณุ" จึงต้องสัมผัสความ "แท็กติก-เทคนิค" ทางการเมืองที่ "ดร.วิษณุ" เรียกว่า "วิชามาร" อนุมัติโครงการต่าง ๆ
เช่น การเสนอเรื่องสำคัญเป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ เรื่องเพื่อทราบกับเรื่องเพื่อพิจารณาไม่แตกต่างกันมาก เพราะแม้จะเป็นเรื่องเพื่อทราบ ทว่า ครม.กลับใช้เวลาพิจารณา 2-3 ชั่วโมง
"เคยมีบ้างที่มีการประสานภายในวิ่งเต้นขอหรือสั่งให้เสนอเป็นเรื่อง เพื่อทราบหรือพิจารณา...เป็นการรับลูกและผ่านเรื่องไปโดยรวดเร็วโดยไม่มีการอภิปราย และเคยมีแรงกดดันให้เสนอเป็นเรื่องพิจารณา กรณีพรรคหนึ่งขอให้ทำอย่างนี้กับเรื่องที่อีกพรรคหนึ่งเสนอมา เหมือนจะกันท่า"
นอกจากนี้ยังมีการโต้แย้ง คัดค้านข้อเสนอของผู้อื่นอย่างมีเลศนัย โครงการที่ดูท่าจะมีปัญหา แต่ผ่านไปโดยไม่มีเสียงคัดค้านสักแอะ หรือมีผู้สนับสนุนแบบสุดลิ่มทิ่มประตูอาจดูชอบกล แต่แม้จะมีเสียงคัดค้านก็ควรต้องจับตาดูเสียงคัดค้านนั้นว่า มีเลศนัยหรือไม่ บางทีว่ากันว่าที่ค้านก็เพื่อเคาะกะลาให้คนเข้ามาหาหรือมาวิ่งเต้นก็มี
"เคยเห็นกรณีรัฐมนตรีค้านเรื่องของกระทรวงอื่นแบบหัวชนฝา แต่ยังมีไมตรีเปิดช่องให้เสนอข้อมูลกลับเข้ามาใหม่...พอเรื่องกลับเข้ามาอีกหน ซึ่งบางครั้งก็ไม่ใช่ข้อมูลที่แจ่มแจ้งไปกว่าเดิม กลับผ่านฉลุย ถ้าไม่ใช่เพราะผู้เคยคัดค้านเป็นฝ่ายสนับสนุนเสียเองก็เป็นเพราะผู้เคยคัดค้านเกิดจะไม่อยู่ในที่ประชุมเสียดื้อ ๆ เป็นยุทธการปั่นค่าตัว หรือมวยล้มต้มคนดูก็ได้"
เมื่อ "วิษณุ" นั่งเก้าอี้รองนายกฯ จะต้องรับ "เผือกร้อน" สางปัญหา ที่เกิดจาก "วิชามาร" ที่เคยพานพบในอดีต
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน